อาจารย์ คณะพยาบาล มช. ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นบัณฑิตวิทยาลัย ประเภทวิชาการ/วิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2561

ศาสตราจารย์ ดร.อะเคื้อ อุณหเลขกะ กลุ่มวิชาการพยาบาลสาธารณสุข คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านการพิจารณาคัดเลือกให้เข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นบัณฑิตวิทยาลัย ประเภทวิชาการ/วิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2561 จาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณสมทรง เลขะกุล อุปนายกสมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโดย สมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2562

ภูมิลำเนาจังหวัดเชียงใหม่ เกิดวันที่ 18 มกราคม 2499 ปัจจุบันอายุ 62 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก (ระบาดวิทยา) จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดับปริญญาโท (วิทยาการระบาด) มหาวิทยาลัยมหิดล และ ระดับปริญญาตรี (พยาบาลและผดุงครรภ์) มหาวิทยาลัยมหิดล

ประวัติการทำงาน

พ.ศ. 2521 – 2534 เป็นนักวิชาการควบคุมโรค กองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข

พ.ศ. 2534 – 2535 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายแผนงานและประเมินผล กองระบาดวิทยา สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข

พ.ศ. 2535 – ปัจจุบัน ศาสตราจารย์ประจำกลุ่มวิชาการพยาบาสาธารณสุข และ สาขาวิชาการพยาบาล ผู้ป่วยโรคติดเชื้อและการควบคุมการติดเชื้อ ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นอกจากนี้ที่ผ่านมาเคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในสมัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ สุวรรณประพิศ เป็นคณบดี สำหรับเครื่องราชอิสริยภรณ์สูงสุดที่ได้รับคือ มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.) มีความเชี่ยวชาญด้านของโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล ระบาดวิทยา Epidemiology และ Tuberculosis

ท่านได้รับเกียรติให้เป็นที่ปรึกษาทางด้านวิชาการให้แก่องค์กรชั้นนำต่าง ๆ มากมายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น Guideline Development Group องค์การอนามัยโลก ที่ปรึกษาด้านการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล การทำลายเชื้อและการทำให้ปราศจากเชื้อแก่โรงพยาบาลระดับต่าง ๆ ที่ปรึกษาด้านการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล สำนักบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ที่ปรึกษาด้านการป้องกันการติดเชื้อวัณโรคในโรงพยาบาล สำนักวัณโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่ปรึกษาสมาคมศูนย์กลางงานปราศจากเชื้อแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาสมาคมพยาบาลไตเทียมแห่งประเทศไทย เป็นต้น ตลอดจนเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล การทำลายเชื้อและการทำให้ปราศจากเชื้อ การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในโรงพยาบาล การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลการดูแลสุขภาพบุคลากร การป้องกันการติดเชื้อที่ตำแหน่งผ่าตัด การป้องกันการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะจากการคาสายสวนปัสสาวะ การป้องกันปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ การป้องกันการติดเชื้อในกระแสโลหิตจากการคาสายสวนหลอดเลือด การจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล ให้แก่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย 6 แห่ง โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป 52 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 25 แห่ง โรงพยาบาล/สถาบันสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่น ๆ 9 แห่ง สังกัดหน่วยงานต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร สภากาชาดไทย สังกัดกระทรวงกลาโหม 4 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 15 แห่ง ตลอดระยะเวลาของการทำงานเคยได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ นั่นคือ รางวัล Best Oral Free Paper Presentation ในการประชุมวิชาการของ The International Federation of Infection Control (IFIC) ณ เมือง Stellenborch ประเทศแอฟริกาใต้ และ รางวัลอาจารย์ดีเด่น สภาพนักงาน ของ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปี 2561

ท่านยังมุ่งเน้นทำงานวิจัยเพื่อรับใช้สังคมมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง โดยเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยหลายโครงการ เช่น Surveillance and rapid response of emerging infectious disease outbreak in community (USAID) Development of One Health Short Training Course for Community Leaders and School Teachers (UMN-Respond) การป้องกันการติดเชื้อดื้อยาในหออภิบาลผู้ป่วย (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) การป้องกันการติดเชื้อจากเลือดและสารคัดหลั่งขณะปฏิบัติงานของบุคลากรการแพทย์ฉุกเฉิน (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน) การทดสอบประสิทธิภาพการทำให้ปราศจากเชื้อของเครื่องนึ่งไอน้ำระบบสุญญากาศ การประยุกต์ใช้วิธีการพัฒนาคุณภาพโดยความร่วมมือในการป้องกันการขาดยาของผู้ป่วยวัณโรคปอดรายใหม่ เป็นต้น เคยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการวิพากษ์เกี่ยวกับร่างหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นแก่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้นิพนธ์ร่างแนวปฏิบัติการผสมผสานวัณโรคและเอดส์ กรมควบคุมโรค การตรวจสอบข้อมูลแบบนิเทศฯ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ที่สำคัญท่านยังเขียนตำราทางวิชาการหลายเล่มที่เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษา พยาบาลวิชาชีพ บุคลากรทางสาธารณสุข ผู้บริหารสถานประกอบการทางพยาบาล และ ประชาชนทั่วไปที่สนใจ ได้แก่ หนังสือความรู้ในการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล (ล่าสุดพิมพ์ครั้งที่ 10) ความรู้ในการทำลายเชื้อและการทำให้ปราศจากเชื้อ หนังสือการทำลายเชื้อและการทำให้ปราศจากเชื้อในอุปกรณ์การแพทย์ หนังสือการป้องกันปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ หนังสือแนวปฏิบัติในการป้องกันปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ หนังสือ Infection Control: Basic Concepts and Training (Thai Version) หนังสือการพยาบาลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ หนังสือ Quality and Safety Improvement Research: Methods and Research Practice from the International Quality Improvement Research Network เป็นต้น

ผลงานดีเด่น การดำเนินการวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการบริการ การป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรของโรงพยาบาล โรงพยาบาลต่าง ๆ ได้นำผลงานวิจัยไปใช้ในการดูแลผู้ป่วย การพัฒนาแนวปฏิบัติการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่สำคัญ อาทิเช่น การป้องกันปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ การป้องกันการติดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล ซึ่งบุคลากรของโรงพยาบาลได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ซึ่งมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา ลดระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องอยู่โรงพยาบาล ลดจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล และ การเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลแก่บุคลากรของโรงพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ นอกจากเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะและประสบการณ์ที่ดี รวมทั้งมีเทคนิควิธีการในการดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ด้วยอุปนิสัยที่มีความสุขุมอ่อนน้อมถ่อมตน สุภาพเรียบร้อยจึงเป็นที่รักของทุกคนที่ได้ร่วมงาน ท่านสมควรแก่การยกย่องให้เป็น ศิษย์เก่าดีเด่นบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2561 เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น