เปิดปมเมืองเก่าล้านนา ร่วมสมัยเมืองใหม่ลดคุณค่าไม่ติดมรดกโลก

แทบไม่น่าเชื่อว่า ถิ่นฐานในภาคเหนือตอนบนที่มีความเป็นมายิ่งใหญ่ทั้งห้วงก่อนประวัติศาสตร์และยุคอาณาจักรตั้งแต่ หริภุญไชย เรื่อยมาถึงสมัยล้านนา ผ่านกาลเวลาถึงบริบทสังคมในความเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่ละช่วงเวลาตั้งแต่พม่าครองเมืองถึงสยามภิวัฒน์ และเป็นชาติไทยในปัจจุบัน คุณค่าอันสูงส่งยิ่งใหญ่ที่ปรากฏผ่านแหล่งโบราณสถาน สถาปัตยกรรมโบราณ ศิลปกรรม วัฒนธรรม ประเพณี ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่เข้าเกณฑ์การพิจารณาสู่ความเป็น”มรดกโลก”ตามเงื่อนไข ยูเนสโก้ได้

แม้จะมีความพยายามนำเสนอคุณค่าอันโดดเด่น และศักยภาพของแต่ละเมืองในภาคเหนือ เช่น การศึกษา วิจัย ขับเคลื่อนแผนงานเพื่อผลักดัน “ลำพูนสู่เมืองมรดกโลก” เริ่มในปี พ.ศ.2548 นครเชียงใหม่ กรุยทางมานานพอๆกัน แต่ได้ขึ้นบัญชีเบื้องต้นในโผที่จะตัดสินว่าสมควรเป็นมรดกโลกได้หรือไม่ ก็ช่วงปี 2558

บนพื้นที่ลุ่มนำอิง-ปิง-กวง ทั้งเชียงราย เชียงใหม่และลำพูน ดูเหมือนนครลำพูน เมืองพันปี เป็นจังหวัดแรกๆที่มีการจัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์ พัฒนาเมือง เพื่อเตรียมพร้อมที่จะเสนอรับพิจารณาเป็นเมืองมรดกโลก ก่อนจังหวัดอื่นๆ ในเขตเหนือบน ที่มี น่าน เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา เป็นต้น

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ที่มีเอกสารประกอบครบถ้วน ทุกมิติ ทั้งตำนานพื้นเมือง การค้นหาร่องรอยอดีตตามแบบแผนงานโบราณคดีจากผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและต่างชาติ ได้บทสรุปที่ตอกย้ำให้เห็นความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรหริภุญไชย ผ่านบันทึกช่วงรัชสมัยพระนางจามเทวี วัดกว่า 2 พันแห่งทีททรงสร้าง หลายๆวัด ยังปรากฎสืบมาจนปัจจุบัน ทั้งวัดมหาวนาราม หรือวัดมหาวัน หรือวัดพระรอด 1ในพระเครื่องที่มีมูลค่าสูงลิ่ว ,พัทธารามวิหารหรือวัดพระคงฤาษี และบรรดารูปแบบความเชื่อ ประเพณี ศิลปกรรม ยังคงร่วมสมัยสังคมยุคนี้

งานวิจัย รวบรวมข้อมูลบางด้านทำให้รับรู้จุดพลิกผันอาณาจักรตั้งแต่รัชสมัยพญามังรายถึงพญาผายู กระทั่งสิ้น
รัชกาลพระเมืองแก้ว เชียงใหม่ระส่ำ เพราะความขัดแย้งในกลุ่มขุนนาง จนตกเป็นเมืองขึ้นกรุงหงสาวดี ราวๆ ปี พ.ศ.2101จังหวะเวลาประวัติศาสตร์ อ้างอิงหลักฐานเชิงวิชาการ ด้วยการขุดค้น พิสูจน์ทราบ จนสามารถบอกเล่า เชื่อมโยง ร่องรอยด้านโบราณคดี ให้มีคุณค่าเหนือจินตนาการ

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ร่วมยุคสมัยที่มีปรากฎตามแหล่งโบราณสถาน ในชุมชนต่างๆ ทั้งเวียงป่าซาง เวียงท่ากาน เวียงกุมกาม เวียงลี้ เวียงเชียงแสน บางทำเลพลิกสภาพกลายเป็นชุมชน อาคาร บ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ไม่เว้นจุดศูนย์รวมใจชุมชนที่เรียกว่า วัด

นักวิชาการท้องถิ่น หลายๆท่านกล่าวว่า กระบวนการนำเสนอ “เมืองเก่าล้านนา” สู่ความเป็น “เมืองมรดกโลก ” ในแง่มุมปฏิบัติการระดับพื้นที่สะท้อนปัญหหลักๆคือ ผู้คนและชุมชน ไม่เห็นความสำคัญของแหล่งโบราณสถานเหล่านี้แล้ว ไม่หวงแหน ขาดการดูแล รักษา ท้ายที่สุดแล้ว ร่องรอยอดีต อิฐเก่าๆ กำแพงเมือง วัดโบราณ จากซากที่พอเห็น ก็จะกลายเป็นถนน เป็นอาคาร สิ่งปลูกสร้างไป ไม่หลงเหลือความยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ให้เห็น นอกจากคำบอกเล่า ของผู้คนในท้องถิ่น ซึ่งจะค่อยๆ เลือนหายไปจากรุ่นสู่รุ่น

ร่วมแสดงความคิดเห็น