“ปอยส่างลอง” สืบทอดศรัทธา และวิถีชุมชนคนไทใหญ่

หลังจากก้าวเข้าสู่ปลายเดือนมีนาคมก็เป็นช่วงเริ่มต้นของเดือนเมษายนพอดี เหล่าดอกไม้ใหญ่น้อยต่างพากันชูช่อรอรับลมแล้ง ที่กำลังจะเข้ามาเยือนอีกภายในไม่ช้า เป็นฤดูที่เว้นว่างจากการทำไร่นา และปิดภาคเรียนของเด็กๆ ชาวชุมชนบ้านไทใหญ่ ชุมชนที่มีวิถีชีวิตอันยาวนานและสวยงาม ชาวไทใหญ่จึงถือโอกาสนี้ ในการจัดงานการกุศลซึ่งมีชื่องานว่า “งานปอยส่างลอง” หรือ ที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “งานบวชลูกแก้ว” สำหรับใช้เฉลิมฉลองการบรรพชาสามเณรของชาวไทใหญ่ โดยงานจะถูกจัดขึ้นเป็นปกติในทุกๆ ปี สามารถพบเห็นได้มากในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และบางส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งกระจัดกระจายออกไปตามท้องที่ชุมชน

ปัจจุบันการตั้งถิ่นฐานของชาวไทใหญ่พบว่ามีการตั้งถิ่นฐานอยู่ในหลายประเทศด้วยกันอย่างเช่นประเทศพม่าจะพบชาวไทใหญ่อาศัยอยู่ในเขตรัฐไทใหญ่ หรือที่เรียกว่า “รัฐฉาน” อยู่ทางตอนเหนือของพม่า ในประเทศอินเดียจะพบใน “รัฐอัสสัม” เป็นชาวไทใหญ่ที่อพยพจากพม่าแล้วเข้าไปตั้งรกรากถิ่นฐานเป็นระยะเวลาอันยาวนานมากกว่า 600 ปี ในประเทศลาวพบชาวไทใหญ่ ที่เรียกตนเองว่าไทใหญ่เหนือ อาศัยอยู่ในภาคเหนือ ส่วนประเทศสำคัญที่พบว่ามีชาวไทใหญ่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากที่สุดก็เห็นจะเป็นบริเวณใกล้เคียงอย่างประเทศจีน และประเทศไทย อย่างบริเวณจีนพบในเขตภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนาน ในเมืองมาว เมืองวัน และเมืองหล้า ประเทศไทยก็จะพบในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย และเชียงใหม่ เป็นต้น

จากประวัติศาสตร์อันยาวนาน ที่ชาวไทใหญ่ได้มีการติดต่อสัมพันธ์ กับกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ มากมายทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนผสมผสานวัฒนธรรม ซึ่งกันและกัน รวมถึงการอพยพลงมายังพม่าของชาวไทใหญ่ ทำให้ชาวไทใหญ่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพม่า หลังจากที่พม่าทำสงครามยึดเมืองไทใหญ่ต่างๆ และบังคับให้ส่งบรรณาการให้ ในช่วงเลานี้เอง ที่พม่าได้เผยแพร่ พระพุทธศาสนาให้แก่ชาวไทใหญ่จนกลายเป็นศาสนาที่ชาวไทใหญ่นับถือมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าสิ่งไหนจะทำให้วิถีชีวิตของชาวไทใหญ่เปลี่ยนไปอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ชาวไทใหญ่ไม่เคยเปลี่ยนไปก็คือวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่ที่ไม่เคยเสื่อมลงเลย เพราะพวกเขายังคงเก็บรักษาศิลปวัฒนธรรมของตนเองไว้ได้อย่างเข้มแข็งตลอดมา

“ปอยส่างลอง” เป็นประเพณีที่ชาวไทใหญ่สืบทอดรักษาประเพณีนี้มาอย่างยาวนาน เป็นประเพณีในพระพุทธศาสนาในการบรรพชาสามเณรของเด็กชายในหมู่บ้านไทใหญ่ ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงปิดภาคเรียนของเด็ก ส่างลอง หรือเด็กๆ ที่จะเข้าพิธีการบวชนั้นจะมีการประดับประดาอย่างงดงาม สีสันสดใส แต่งด้วยผ้าแพร ผ้าลูกไม้ ที่มีการปักเลื่อม และลูกปัดสีต่างๆ แต่งหน้า แต่งตาด้วยสีสันจัดจ้านดูสวยงามมีสง่าราศีเหนือคนทั่วไป ในพิธีส่างลองจะใส่ถุงเท้าขาวตลอดเวลาสามวันของงาน ห้ามไม่ให้ส่างลองเหยียบพื้น ไปไหนมาไหน ต้องมีคนคอยแบก หรือขี่คอไปยังที่ต่างๆ และต้องมีคนกางร่มที่มียอดสูงประดับทองเพื่อป้องกันแสงแดด จำลองเหตุการณ์ที่เจ้าชายสิทธัตถะขี่ม้าขาวหนีออกจากวังไปออกบวช และยังมีความหมายที่แสดงถึงผลบุญอันยิ่งใหญ่ ที่พ่อแม่ พี่น้อง และครอบครัวจะได้รับจากการบวชของลูกชายในครั้งนี้

ในวันงานนอกจากจะเป็นการบวชลูกแก้ว เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาแล้วนั้น ยังเป็นโอกาสอันดีที่ชาวไปใหญ่จะได้พบปะ สอบถาม สาระทุกข์สุขดิบ ซึ่งกันและกัน ในวันนี้ชาวไทใหญ่จะแต่งกายด้วยชุดที่สวยงาม ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่น สวมเสื้อสาบแบบพม่า ส่วนผู้ชายสวมกางเกงแบบเตี่ยว เสื้อคอกลม พ่อเฒ่าแม่เฒ่าสวมหมวกกุ๊บไต สะพายย่ามอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทใหญ่ ที่ดำรงรักษาไว้เป็นอย่างดี

หากมีโอกาสว่างอยากให้ท่านได้ลองไปเที่ยวงานปอยส่างลอง สัมผัสกับวิถีชีวิตที่ผูกพันกับพระพุทธศาสนาของชาวไทใหญ่ จะได้รับความประทับใจในความเลื่อมใส ศรัทธา ในบวรพุทธศาสนาและความเข้มแข็งของการรักษาวิถีการดำเนินชีวิตที่ชาวไทใหญ่สืบทอดมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่แห่งใด

ปอยส่างลอง ความผูกพัน ศรัทธา และเลื่อมใส ในบวรพุทธศาสนาและความเข้มแข็งของการรักษาวิถีการดำเนินชีวิตที่ชาวไทใหญ่สืบทอดมาอย่างยาวนาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น