เมอ “ปอยส่างลอง” ที่เมืองเจงตุง

ศิลปวัฒนธรรมและขนบประเพณีของชนกลุ่มตระกูล “ไท” หรือ “ไต” นั้นมีความละม้ายใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นไตลื้อ ไตใหญ่ ไตขึน ไตยอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าบนแผ่นดินเมืองไต หรือ “เมิงไต” ในเขตรัฐฉานของพม่านั้น ในอดีตก่อนที่จะถูกพม่ายึดครองมีความร่มเย็นไพบูลย์เพียงใด

ความมั่งคั่งของรัฐเมิงไต ที่มีป่าไม้สีเขียว ภูเขาสีน้ำเงิน เมื่อรวมเข้ากับศรัทธาอันแรงกล้าในพุทธศาสนาแล้ว ทำให้เกิดภาษิตเชิงอุปมาอุปไมยว่า “อย่ากินอย่างม่าน (พม่า) ตานอย่างไต” เพราะพวกไตนั้น หามาได้สี่สตางค์ ทำบุญเสียแปดสตางค์ ภาษิตนี้อาจไม่เกินเลยความจริงนัก เมื่อผมได้เดินทางมาเยือนเมืองเจงตุง หรือ เชียงตุงในช่วงเวลาประเพณีเฉลิมฉลองงานบุญของชาวไทขึน ชนชาติที่มีคติความเชื่อว่า “เกิดมาชาติหนึ่งต้องทำบุญแก่ศาสนาตามลำดับให้ได้ คือ บวชเณร บวชพระ ถวายทานน้ำอ้อยและทานเวสสันดร” งานบุญสำคัญเหล่านี้จะจัดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไปจนถึงเดือนเมษายน อันทำให้นครรัฐเชียงตุงไม่เคยเงียบเหงาจากเสียงฆ้องกลอง รวมถึงผู้คนที่พร้อมใจกันออกมาร่วมงานอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง และนี่เป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งที่พวกเขาจะได้แสดงออกถึงแรงศรัทธาต่อพุทธศาสนา

ท่ามกลางแสงแดดอ่อนยามเช้า ขบวนแห่ลูกแก้วหรือส่างลองของชาวบ้านหนองตุ๋งได้ปลุกให้เมืองทั้งเมืองคึกคักมีชีวิตชีวาอีกครั้ง ขบวนแห่ที่ยาวเหยียดเกือบหนึ่งกิโลเมตรทำให้การจราจรในตัวเมืองหยุดชะงักพอสมควร เพราะเมืองเชียงตุงเป็นเมืองเล็กๆเมื่อมีขบวนแห่คราใด ก็ดูเหมือนว่าชาวบ้านจะออกมาร่วมขบวนกันเกือบทั้งเมือง นี่จึงมิใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด หากแต่คือวิถีชีวิตปกติที่พวกเขายึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน

ประเพณีบวชลูกแก้วหรือปอยส่างลองของชาวไทขึนเชียงตุงนั้นจัดขึ้นอย่างใหญ่โตมโหฬาร โดยขบวนแห่ลูกแก้วจะแห่ไปรอบเมืองเพื่อให้ชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่นเข้ามาร่วมกันทำบุญ แต่ด้วยเงื่อนไขที่สิทธิ์และเสียงในบางด้านถูกปิดกั้น ประกอบกับแรงศรัทธาในศาสนาที่มีอยู่เต็มเปี่ยม การทำบุญสำคัญของพวกเขา จึงเป็นเรื่องที่ต้องเฉลิมฉลองแห่แหนกันอย่างเอิกเกริกเสมอ ดังนั้นงานบุญของเชียงตุงจึงคล้ายเป็นงานบุญชุมนุมเผ่าไท ขบวนแห่ลูกแก้วที่แห่ไปรอบเมืองจะนำหน้าด้วยผู้เฒ่า ผู้แก่ที่ในมือแต่ละคนถือเครื่องอัฐบริขาร จากนั้นตามหลังด้วยขบวนต้นเงินที่ให้หญิงสาวชาวไทขึนเป็นผู้ถือก่อนจะปิดท้ายด้วยขบวนของลูกแก้วหรือส่างลอง

กิจกรรมที่เกื้อกูลต่อพระพุทธศาสนาของชาวไทขึนที่สำคัญและกลายเป็นเอกลักษณ์ของเชียงตุงอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประเพณี “ตานน้ำอ้อย” ซึ่งมีเพียงชาวไทขึนแห่งเชียงตุงที่ได้สืบทอดกันมาอย่างจริงจัง กล่าวกันว่าน้ำอ้อยบริสุทธิ์คือตัวแทนของความรักที่สดชื่นหอมหวานและการมีชีวิตคู่ที่ยืนยาว ดังนั้นเมื่อหนุ่มสาวคู่ใดแต่งงานกันแล้วก็จะต้องหาโอกาสทำทานถวายน้ำอ้อยให้ได้

นอกเหนือจากวัฒนธรรมประเพณีที่โดดเด่นของชาวไทขึนแล้ว ความมั่งคั่งของวัดวาอารามชนิด “วัดชนวัด” กลายเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้คนจากต่างถิ่นเดินทางมาเยือนเมืองเชียงตุงอย่างไม่ขาดสาย พระอารามหลวงที่เนืองแน่นกว่า 20 แห่งรวมไปถึงวัดต่างๆที่กระจายอยู่ในเขตชานเมืองอีกกว่า 50 วัด ยืนยันความเป็นแว่นแคว้นดินแดนแห่งพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี

ทุกๆเช้าในตลาด (กาดหลวง) เมืองเชียงตุงจะคราคร่ำไปด้วยผู้คนจำนวนมากหลายเผ่าพันธุ์ ทั้งแม่ค้าชาวไทใหญ่ ไทขึน ไทลื้อปะปนกัน นับเป็นภาพที่มีการชุมนุมชนเผ่า “ไต” มากที่สุดแห่งหนึ่ง สินค้าพื้นเมืองถูกนำมาวางขายปะปนกับเครื่องใช้อุปโภคบริโภค ในจำนวนนี้มีสินค้านำเข้าทั้งจากประเทศไทย จีนและเวียดนาม อีกด้านหนึ่งของตลาดจะเป็นสินค้าประเภทผัก ปลาและสินค้าพื้นเมืองจำพวกยาสูบ รวมถึงของป่าหายากอีกหลายชนิด

กาดหลวงของเชียงตุงจะเริ่มตั้งแต่เช้ามืดเรื่อยไปจนถึงสายก่อนเที่ยง ที่นี่นอกจากจะมีสินค้าประเภทต่างๆวางจำหน่ายแล้วยังมีร้านค้าขายอาหารพื้นเมืองหลายร้านอย่างเช่น น้ำเงี้ยว ข้าวฟืนรวมถึงโรตีจากอินเดียที่ขายคู่พร้อมกับกาแฟ เครื่องดื่มจากต่างประเทศเชียงตุงในวันนี้ดูไม่แตกต่างไปจากเมืองเชียงใหม่เมื่อราว 50-60 ปีก่อน สภาพบ้านเรือนยังคงสภาพดั้งเดิมเอาไว้ วิถีชีวิตผู้คนยังคงได้รับการอนุรักษ์รักษา แม้ว่าสังคมในเชียงตุงบางส่วนได้เปลี่ยนแปลงไปรับเอาวัฒนธรรมจากตะวันตกเข้ามา สังเกตได้จากมีอาคารบ้านเรือนที่สร้างขึ้นตามแบบสมัยนิยม แต่ด้วยการดำรงชีวิตที่อิงแอบกับหลักธรรมคำสอนพุทธศาสนาเป็นเสมือนเกราะป้องกันอันเข้มแข็งต่อการเปลี่ยนแปลงจากสังคมภายนอก

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น