เมืองเก่าเชียงใหม่ เร่งปิดจุดเสี่ยงตามตรอกซอกซอย

เครือข่ายจัดการภูมิทัศน์เมืองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และนักวิชาการผังเมือง เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาด้านมลทัศน์เมือง ทั้งเชิงโครงสร้างกายภาพและสิ่งที่สนองตอบเศรษฐกิจ สังคม ทั้งป้าย, เสาไฟฟ้า,สายสื่อสารต่างๆ รวมถึงตู้บริการโทรศัพท์ ซึ่งวันนี้ยังตั้งกระจาย รอการเก็บมากมายทั่วเมือง

ภาพรวมการจัดวางผังเมืองเชียงใหม่ หรือเมืองโบราณเกือบทุกแห่ง จะมีองค์ประกอบยึดโยงแนวความเชื่อผนวกกับสภาพภูมิประเทศ ขนาดของชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่ขอบเขตพื้นที่เมือง ปรากฎเป็นแนวคูเมือง กำแพง ป้อมปราการต่างๆ เช่น นครเชียงใหม่ ภายในเขตคูเมืองคือเมืองเก่า เป็นต้น รูปแบบเมืองสมัยใหม่ๆ จะเป็นทรงเรขาคณิต แนวถนน ตรอกซอยต่างจากนครเชียงใหม่

ดังนั้นการวางแผนจัดการพื้นที่ใช้สอยร่วมกันของชุมชน สังคม ผ่านบาทวิถี ตรอก ซอย ต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าของที่ และในเขตคูเมืองชั้นในคงเป็นเรื่องยาก ที่จะเห็นสภาพสอดรับกับวิถีเมือง บางตรอกซอย รถขนาดใหญ่ผ่านไม่ได้ ทางสัญจร คดเคี้ยวเลี้ยวไปตามแนวกำแพงหลังวัด ยกตัวอย่างเช่น หลังวัดดอกคำ ห่างจากคูเมืองไม่กี่เมตร รายรอบวัดเป็นอาคารที่พัก เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเมือง

ปัญหาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชุมชน ตั้งแต่จุดระบายน้ำเสีย ที่ทิ้งขยะ ทางสัญจร ไฟส่องสว่าง ตลอดจนการพัฒนาที่ดิน การรื้อ ทุบทิ้งอาคาร เพื่อก่อสร้างจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง ช่วงรอยต่อการจัดการเมืองเก่าสู่ความร่วมสมัย ถ้าชุมชนโดยรอบปรับตัว ยอมรับได้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเกิดผลกระทบ ทั้งการจอดรถขวางทางเข้าออกบ้าน ปัญหาการพัฒนาพื้นที่ข้างบ้าน เป็นอาคารสูง จนคนรุ่นเก่าๆ ขายที่ ย้ายบ้านหนีไปอยู่นอกเมืองอย่างต่อเนื่อง

นักภูมิสถาปัตย์ ม.ดัง ย่านสันทราย เชียงใหม่ ยอมรับว่า มีการวิจัย นำเสนอแนวทางจัดการปัญหา ในเขตเมืองเก่าต่อผู้บริหารท้องถิ่น รวมถึงภาคี หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งความร่วมมือของเจ้าของที่ดิน และผู้มีส่วนดูแลที่ดินต่างๆให้เกิดพื้นที่สาธารณะ เป็นลานชุมชน สวนหย่อมมีน้อย ส่วนใหญ่จะขาย สร้างอาคารให้เช่า

“เมื่อเมืองเก่า แปลงสภาพความงาม มองไปที่มูลค่าเพิ่ม ถนนในชุมชน ก็ถูกบีบเป็นตรอก ซอก ซอย บรรดาทางสัญจรในเขตเมือง จะกลายเป็นจุดเสี่ยงต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของผู้คน นักท่องเที่ยว ในยามวิกาล เช่นกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ที่ชอบเที่ยวเดินซอกแซก ปัญหานี้ถ้าไม่วางแผนออกแบบเมืองต่อไป จะแก้ไขยาก เพราะราคาที่ดินเพิ่มสูง หลายๆแนวกำแพง ตามตรอกซอย แก้ไขด้วยการทำประตูเข้าออก แม้กระทั่งวัด”

ร่วมแสดงความคิดเห็น