วันสังขานต์ล่อง ประเพณีคนเหนือ ล้านนา ปีใหม่เมือง

วันสังขานต์ล่อง เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของคนเหนือ คนเหนือส่วนใหญ่จะทำพิธีต่าง ๆ ของแต่ละพื้นที่ในวันสังขานต์ล่องกันเป็นจำนวนมากก่อนที่จะเริ่มเล่นน้ำสงกรานต์ ซึ่งตรงกับวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพาทุกท่านมารู้จักและเข้าใจถึงความเป็นมาของวันสงกรานต์ทางภาคเหนือเรื่องราวจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ไปดูกันเลยค่ะ

วันสังขานต์ล่อง หรือวันสังขารล่อง หรือวันสังกรานต์ล่อง เป็นวันแรกของกิจกรรมปีใหม่ “สังขานต์” คือคำเดียวกับ “สงกรานต์” ในภาษาสันสกฤตซึ่งแปลว่า “ก้าวล่วงแล้ว” วันสังขานต์ล่องในภาษาล้านนา ตรงกับภาคกลาง คือวันมหาสงกรานต์ ถือเป็นวันสิ้นสุดของปีเก่า

วันนี้คนล้านนาจะตื่นแต่เช้าตรู่ จุดสะโปก หรือประทัด ยิงปืน เพื่อขับไล่เสนียด จัญไร ไหลล่องไปกับปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์ ซึ่งจะแบบรับเอาสิ่งที่ไม่ดีไม่งามในชีวิตไปเททิ้งที่มหาสมุทร การไล่สังขานต์ด้วยเสียงประทัดหรือสะโปกที่ดังแต่เช้าตรู่ จึงทำให้ทุกคนตื่นขึ้นมาเพื่อทำความสะอาดบ้านเรือน ซักที่นอน หมอนมุ้ง แล้วอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาดผ่องใส

เด็ก ๆ มักจะถูกหลอกให้ไปซักผ้าที่แม่น้ำแต่เช้าตรู่ เพราะจะได้เห็นสังขานต์ล่องที่แม่น้ำ คนโบราณได้สมมุติตัวสังขานต์เป็นคนแก่สองคน คือปู่สังขานต์และย่าสังขานต์ถ่อแพไหลมาตามแม่น้ำ ก็ว่าปู่สังขานต์และย่าสังขานต์หาบกระบุงตะกร้า เดินมาตามถนน เพื่อมารอรับเอาเสนียดจัญไรทั้งหลาย ไปขว้างทิ้ง บ้างก็ว่าปู่สังขานต์ย่าสังขานต์ ห่มผ่าสีแดงล่องแพมาตามแม่น้ำ นำพาสิ่งไม่ดีเป็นอัปมงคลมาด้วย จึงต้องขับไล่ด้วยเสียงดังของประทัดเร่งเร้า ให้ผ่านไปโดยเร็ว วันนี้คนโบราณจึงจะเก็บกวาด ทำความสะอาดบ้านเรือน ซักผ้า เผาเศษขยะใบไม้ให้สิ่งหมักหมมทั้งหลายหมดสิ้น ไปพร้อม ๆ กับสังขานต์ที่ล่องไป

สิ่งสมมุติว่าเป็นปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์นั้น แท้จริงคือ ตัวตนของเราที่กำลังไหลล่องไป ตามวัยของสังขาร มีอายุที่มากขึ้น จึงต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ให้ดีนั้น จะต้องขว้างทิ้งเสียสิ่งเศร้าหมอง ทีมีอยู่ในกาย วาจา และใจนั่นเอง สิ่งสำคัญในวันนี้คือการ “ดำหัว” โดยน้ำขมิ้นส้มปล่อย เพื่อชำระล้างสิ่งอัปมงคล และในวันนี้ มีการทำพิธีลอยสังขานต์ที่แม่น้ำใหญ่ โดยการทำแพต้นกล้วย ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ช่อ ตุง อาหารคาวหวาน แห่ด้วยฆ้องกลองอย่างครึกครื้นในการทำพิธี มีการปั้นข้าวแป้งลูบไล้ตามตัว เพื่อขจัดเสนียด จัญไร จากนั้นนำแป้งมาปั้นเป็นรูปตัวเปิ้ง หรือนักษัตรตามปีเกิดของตนเอง อธิษฐานและใส่ลงในแพ และปล่อยให้แพไหลไปตามแม่น้ำ มีปู่อาจารย์เป็นผู้ทำพิธี ในปัจจุบัน พิธีลอยสังขานต์ ยังคงปฏิบัติกันที่บ้านยางหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

ในวันนี้ยังมีพิธีสำคัญ คือ การแห่พระพุทธสิหิงค์ พระคู่บ้านคู่เมือง ให้ประชาชนสรงน้ำและสักการบูชา เพื่อความเป็นศิริมงคลเริ่มต้นปีใหม่ และวันนี้ยังเป็นวันเริ่มต้นของการรดน้ำปีใหม่อย่างแท้จริง ชาวล้านนาใช้สะลุงใส่น้ำสำหรับรดน้ำปีใหม่ โดยรดน้ำที่หัวไหล่ พร้อมกับยิ้มแย้มแจ่มใสให้แก่กัน ส่วนใหญ่จะให้พรไปด้วยว่า โชคดีปีใหม่เน้อเจ้า

ดำหัววันสังขานต์ล่อง

การดำหัววันสังขานต์ล่อง เป็นกิจกรรมที่เป็นจารีตประเพณีที่ทำกันมาแต่อดีต การดำหัว ในความหมายโดยทั่วไปของชาวล้านนา หมายถึงการสระผม แต่การดำหัววันสังขานต์ล่อง หมายถึงการชำระล้างสิ่งอัปมงคลในชีวิตด้วยน้ำขมิ้นส้มปล่อย จังหวัดเชียงใหม่ คำนวณโดยพระครูอดุลสีลกิตติ์ กล่าวถึงการดำหัววันสังขานต์ไว้ว่า “ในวันสังขานต์ไปนั้นจุงหื้อพากันสระเกล้าดำหัว ยังแม่น้ำ ทางไคว่ เค้าไม้ใหญ่นอกบ้านชายคา อว่ายหน้าไปสู่ทิสะหนใต้ แล้วอาบน้ำส้มปล่อยดำหัว อาบองค์สรงเกศเกล้า ด้วยมนต์วิเศษสรูปเภท เปนคาถาว่า สัพพะทุกขา สัพพะยา สัพพะอันตรายา สัพพะทุนนิมิตตา สัพพะคะหา สัพพะอุปัทวา วินาสันตุ” แปลได้ว่า “ในวันสังขานต์ล่องให้พากันสระเกล้าดำหัวที่แม่น้ำ ทางสี่แยก หรือต้นไม้ใหญ่ที่อยู่นอกชายคาบ้าน และให้หันหน้าไปทิศใต้ แล้วนำน้ำขมิ้นส้มปล่อยสระผม และอาบด้วยน้ำขมิ้นส้มปล่อย เสกน้ำส้มปล่อยด้วยคาถา สัพพะทุกขา สัพพะยา…”

ผู้นำในการดำหัววันสังขานต์ล่องนี้ มีหัวหน้าครอบครัว เช่น พ่ออุ้ยแม่อุ้ย ( ปู่ย่าตายาย ) หรือพ่อบ้าน จะเป็นผู้เสกฝักส้มปล่อย ด้วยคาถา “โอม สิริมา มหาสิริมา เตชะยะสะลาภา อายุวัณณา ภะวันตุเม” แล้วนำส้มปล่อยไปแช่น้ำ และเสกด้วยคาถามนต์น้ำส้มปล่อย เช่น “สัพเคราะห์ สัพพะภัย สัพพะอุบาทว์ สัพพะพายาธิแลกังวลอนตรายทังหลาย ขอหื้อตกไปพร้อมกับสังขานต์ เคราะห์ทางหลังอย่ามาถ้า เคราะห์ทางหน้าอย่ามาหา พุทธังถอด ธัมมังถอด สังฆังถอด หูรู หูรู สวาหาย” หลังจากนั้นเอาน้ำส้มปล่อยมาลูบศีรษะตนเองก่อน แล้วจึงลูบศีรษะสมาชิกในครอบครัว และมักนำน้ำขมิ้นส้มปล่อยเช็ดล้างกาลกิณีที่ร่างกาย

พิธีลอยสังขานต์ (ล่องสังขานต์แบบอำเภอแม่แจ่ม)

ในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีการทำพิธีล่องสังขานต์ในลำน้ำแม่แจ่มปัจจุบันเหลือเพียงหมู่บ้านยางหลวงที่ยังคงยึดถือปฏิบัติพิธีนี้อยู่ พิธีนี้ทำกันในช่วงบ่าย เริ่มจากชาวบ้านช่วยกันทำแพต้นกล้วย ให้เป็นสะตวงใหญ่วางบนแพ ตกแต่งด้วยดอกไม้ ช่อ หลากสี ในสะตวงใส่เครื่องพลีกรรม ได้แก่ ข้าวหนม อาหาร ผลไม้ มะพร้าว กล้วย อ้อย ใส่ควัก (กระทง) และข้าวแป้งสำหรับใช้ปั้นเป็นรูปนักษัตประจำปีเกิด เมื่อทำสะตวงเสร็จแล้ว ทุกคนช่วยกันแบกเป็นขบวนแห่หามแพสังขานต์ด้วยฆ้องกลองไปยังลำน้ำแม่แจ่ม วางแพไว้ริมฝั่งน้ำ ปู่อาจารย์เป็นผู้ประกอบพิธี และกล่าวเสกข้าวแป้งด้วยคาถา “ยะถาวารีวาโห ปุโรสัพพะการัง ยักขียันติ เอวะเมตัง ยักขีโต หูมหังหูมเห เถถะเมหัง ขิปัง”

ตำนานปีใหม่เมือง

จากคัมภีร์เทศนาธรรมเรื่อง อานิสงส์ปีใหม่เมืองและคำเวนทานปีใหม่กล่าวถึงตำนานปีใหม่เมืองไว้ว่า ธรรมบาลกุมาร บุตรของมหาเศรษฐี อายุเพียง 7 ขวบ เป็นผู้ฉลาดหลักแหลม เรียนรู้ภาษาสรรพสัตว์ จนเป็นที่เรื่องลือไปทั่ว ท้าวกบิลพรหมผู้อยู่บนสรวงสวรรค์จึงลงมาถามปัญหา 3 ข้อ ว่า “ตอนเช้า กลางวัน และกลางคืนศรีของคนอยู่ที่ไหน” โดยให้เวลา 7 วัน ท้าวกบิลพรหมจะลงมาเอาคำตอบ ถ้าหากธรรมบาลกุมารตอบปัญหาไม่ได้จะต้องถูกตัดหัว และถ้าหากตอบถูกท้าวกบิลพรหมจะยอมถูกตัดเศียร เวลาล่วงมาได้เกือบ 7 วัน ธรรมบาลกุมารยังไม่ได้คำตอบ แต่เผอิญไปนั่งอยู่ไต้ต้นไม้ต้นหนึ่งได้ยินเสียงนกคุยกันว่า “ตอนเช้าศรีอยู่ที่ใบหน้า กลางวันอยู่ที่หน้าอก และกลางคืนอยู่ที่เท้า” ครบวันที่ 7 จึงนำคำตอบนี้ตอบแก่ท้าวกบิลพรหม และเป็นคำตอบที่ถูกต้อง ท้าวกบิลพรหมจึงยอมถูกตัดเศียร แต่เศียรของท้าวกบิลพรหมนั้นมีอานุภาพร้ายนัก หากตกใส่แผ่นดินก็จะเกิดอัคคีไหม้ทั่วทั้งแผ่นดิน หากตกลงในน้ำ น้ำก็จะแห้งขอด หากตกในอากาศ ฟ้าฝนก็จะไม่ตกเกิดความแห้งแล้ง

ท้าวกบิลพรหมจึงให้ลูกสาวทั้ง 7 นางนำเศียรใส่พานไปไว้ในถ้ำคัณธธุลีในเขาไกรลาศ และเมื่อครบปีให้ธิดา 7 นาง ผู้เป็นลูกผลัดกันอัญเชิญออกมาแห่ในช่วงสงกรานต์ เพื่อให้ผู้คนในโลกมนุษย์รับรู้ถึงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ปีใหม่ เรื่องธรรมบาลกุมารนี้ เข้าใจว่าล้านนารับอิทธิพลมาจากไทยภาคกลาง แต่ผลจากการศึกษาการชำระปฏิทินล้านนาโดยนักวิชาการร่วมกับปราชญ์ท้องถิ่น พบว่า อดีตคติของชาวล้านนาให้ความสำคัญต่อขุนสังขานต์ ในลักษณะบุคลาธิษฐาน หมายถึงพระอาทิตย์ เป็นสุริยะเทพ และจากคัมภีร์สุริยยาตร์ได้กล่าวถึงการล่องของสังขานต์ในแต่ละปีนั้น มีขุนสังขานต์เป็นตัวเอก และมีนางเทวดามารอรับขุนต์สังขานต์ การล่องของขุนสังขานต์มีความยิ่งใหญ่อลังการ และมีบุคลิกลักษณะที่แตกต่างกันไป ตามวันที่สังขานต์ล่องในแต่ละปี เช่น สีเครื่องนุ่งทรง เครื่องประดับ การถือสิ่งของในแต่ละมือ อิริยาบถ พาหนะ ทิศการเสด็จ ฯลฯ และคำทำนายมีอิทธิพลต่อ ประเพณีปีใหม่เมือง ความเปลี่ยนแปลงของโลกมนุษย์ เช่น เหตุการณ์สำคัญ ศึกสงคราม ของถูกของแพง ปริมาณน้ำฝน พืชพรรณธัญญาหาร เป็นต้น จากการศึกษาดังกล่าว พบว่าไม่มีการกล่าวถึงหรือให้ความสำคัญต่อท้าวกบิลพรหมและนางสงกรานต์เลย

สรุป

ในวันสงกรานต์ของแต่ละพื้นที่ ก็มีกิจกรรมที่แตกต่างกันไป บางพื้นที่อาจจะเคร่งครัดในการทำกิจกรรม ในบางพื้นที่ก็อาจจะไม่ทำเลยก็ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่และความเชื่อของแต่ละบุคคล แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดอยากให้ตระหนักถึงจารีตประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต เพื่อคงความเป็นไทยให้กับคนรุ่นหลังต่อไป

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

ร่วมแสดงความคิดเห็น