ประเพณีล้านนา 12 เดือน

จังหวัดเชียงใหม่ถือได้ว่าเป็นแหล่งศูนย์รวมศิลปกรรมและวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และยังถือว่าเป็นดินแดนแห่งศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นของชาวเชียงใหม่ที่จัดขึ้นในแต่ละเดือนตลอดปี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้จังหวัดเชียงใหม่ยังคงมีมนต์เสน่ห์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนปีละหลายแสนคน


ประเพณีท้องถิ่นของชาวเชียงใหม่ที่สำคัญและมีชื่อเสียงไปทั่วโลกที่เรารู้จักได้แก่ ประเพณีปี๋ใหม่เมือง หรือ เทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 15 เมษายนของทุกปี มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาเที่ยวชมเป็นจำนวนมาก ว่ากันว่าในช่วงเวลาดังกล่าวมีเม็ดเงินหมุนเวียนในจังหวัดเชียงใหม่ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท


ประเพณีท้องถิ่นของจังหวัดเชียงใหม่ยังมีอีกหลายประเพณี ล้วนแล้วแต่เป็นประเพณีที่สำคัญเกี่ยวข้องกับศาสนาทั้งสิ้น โดยเริ่มตั้งแต่ในเดือนพฤศจิกายนหรือ “เดือนยี่” อันนับเป็นเดือนที่สองของปฏิทินล้านนา ในเดือนนี้จะมีการจัดงานประเพณีลอยโคมและโขมด เป็น ประเพณีการทำบุญหลังจากที่เหน็ดเหนื่อยกับการทำไร่ทำนา ชาวล้านนาจะจัดให้มีขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือนยี่ หรือเรียกอีกอย่างว่า “วันยี่เป็ง” โดยจะมีการลอยโคมในเวลากลางวันและกลางคืน ตามวัดวาอารามและบ้านเรือนต่าง ๆ จะประดับตกแต่งด้วยต้นกล้วย อ้อย โคมไฟและดอกไม้นานาชนิด มีการสร้างเป็น “ประตูป่า” เพื่อเตรียมในการตั้งธรรมหลวง (เทศน์มหาชาติ) นอกจากนั้นในวันดังกล่าวชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตรและฟังเทศน์แบบพื้นบ้านที่วัด
พอล่วงเลยเข้าสู่เดือน 7 (เหนือ) ก็เป็นช่วงเวลาของงานประเพณีปี๋ใหม่เมือง หรือ งานเทศกาลสงกรานต์ของไทย งานประเพณีปี๋ใหม่เมืองเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวล้านนาเนื่องจากเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนศักราชใหม่ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 ถึงวันที่ 18 เมษายน บางแห่งอาจจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 11 เมษายนก็ได้ชาวล้านนาถือว่าวันที่ 15 เมษายนเป็นวันเปลี่ยนศักราชใหม่และในช่วงเวลา 6 วันนี้ก็จะมีการประกอบพิธีหลายอย่าง เช่น วันที่ 13 เมษายน ถือเป็นวันสังขารล่อง (วันสิ้นสุดปีเก่า) ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะยิงปืน จุดประทัด เพื่อขับไล่เสนียดจัญไรแล้วทำความสะอาดบ้านเรือนที่อยู่อาศัย วันที่ 14 เมษายน เป็น “วันเนา” หรือ “วันเน่า” วันนี้ชาวเชียงใหม่จะทำแต่สิ่งที่เป็นสิริมงคล พร้อมทั้งตระเตรียมอาหารคาวหวาน เครื่องไทยทานเพื่อไปทำบุญที่วัด วันที่ 15 เมษายน เป็น “วันพญาวัน” ถือเป็นวันเริ่มศักราชใหม่ ชาวเชียงใหม่จะไปทำบุญตักบาตรที่วัดและถวายอาหารแด่พระสงฆ์เรียกว่า “ทานขันข้าว” เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับและสงฆ์น้ำพระ หลังจากนั้นจึงนำขันข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อย หมากพลู เมี่ยงไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ส่วนวันที่ 16 – 18 เมษายน เรียกว่า “วันปากปี ปากเดือน ปากวัน” จะเป็นวันประกอบพิะกรรมสักการะต่อวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ทั่วไป


หลังจากผ่านเดือน 7 เข้าสู่เดือน 8 (เหนือ) เป็นช่วงเวลาของการจัดงานประเพณีเข้าอินทขีล ซึ่งเป็นชื่อของเสาหลักเมืองเชียงใหม่ เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดสะดือเมือง หรือ วัดอินทขีลกลางเมืองเชียงใหม่ แต่ปัจจุบันย้ายไปไว้ที่วัดเจดีย์หลวงและได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่เป็นเสาปูน
การจัดงานประเพณีอินทขีล จะจัดขึ้นในปลายเดือน 8 ต่อต้นเดือน 9 (พฤษภาคม – มิถุนายน) ชาวบ้านเรียกประเพณีนี้ว่า “เดือนแปดเข้าเดือนเก้าออก” แต่เดิมการจัดประเพณีเข้าอินทขีลนี้เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่จะจัดขึ้นเพื่อสังเวยเทพยดาอารักษ์ บูชากุมภัณฑ์ และมีพิธีเข้าทรงผีเจ้านายเพื่อสอบถามว่าฝนฟ้าจะอุดมสมบูรณ์และชะตาบ้านเมืองจะดีหรือไม่ หากชะตาของเมืองไม่ดีก็จะจัดพิธีสืบชะตาเมืองเพิ่มขึ้นด้วย


ปัจจุบันการจัดงานประเพณีเข้าอินทขีลของจังหวัดเชียงใหม่ได้เพิ่มการทำพิธีทางพุทธศาสนาเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง โดยการแห่พระพุทธรูปคันธารราษฏร์ (พระเจ้าฝนแสนห่า) ไปรอบเมืองจากนั้นจะนำมาประดิษฐาน ณ วัดเจดีย์หลวงเพื่อให้ศรัทธาประชาชนได้สรงน้ำ พระสงฆ์ 9 รูปจะเจริญพระพุทธมนต์บูชาเสาอินทขีลซึ่งฝังอยู่ใต้ดิน การจัดประเพณีเข้าอินทขีลนี้ก็เพื่อมุ่งสร้างขวัญและกำลังใจของชาวเชียงใหม่ก่อนที่จะเริ่มต้นฤดูเพาะปลูกต่อไป ถัดจากประเพณีเข้าอินทขีลหนึ่งเดือน เป็นประเพณีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ หรือ ประเพณีเลี้ยงดงของชาวลัวะ ซึ่งถือได้ว่าเป็นพิธีที่ชาวเชียงใหม่ทำมาตั้งแต่ในอดีตเพื่อสังเวยเครื่องเซ่นแก่ผีปู่แสะย่าแสะ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นยักษ์ชอบกินเนื้อคน โดยประเพณีนี้จะจัดขึ้นในวันแรม 14 ค่ำเดือน 9 (เหนือ) ที่บริเวณป่าเชิงดอยคำด้านตะวันออกของตำบลแม่เหียะเป็นประจำทุกปี ชาวบ้านที่เข้าร่วมในพิธีนี้จะฆ่าควายเซ่นสังเวย หากไม่ทำพิธีนี้จะทำให้บ้านเมืองไม่สงบสุขเกิดภัยพิบัติ และในพิธีเลี้ยงจะมีการเข้าทรงเจ้านายเพื่อพยากรณ์ถึงความเป็นอยู่และความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองด้วย พิธีนี้ได้เลิกไปเมื่อเมืองเชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าจนกระทั่งถึงสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา จึงได้รื้อฟื้นขึ้นอีกครั้ง


หลังจากนี้ไปอีก 3 เดือนจึงมีการจัดงานประเพณีทำบุญสลากภัตขึ้น ซึ่งคนล้านนาจะเรียกประเพณีนี้ว่า “กิ๋นสะลากฮากไม้” ปัจจุบันเรียกว่า “ทานก๋วยสลาก” หรือ “ทำบุญสลาก” โดยจะจัดขึ้นที่วัดเชียงมั่นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 (เหนือ) วัดเจดีย์หลวงจัดในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 12 (เหนือ) และวัดพระสิงห์จัดในวันแรม 15 ค่ำเดือน 12 (เหนือ)ประเพณีการทำบุญสลากภัต จะมี 2 วิธีคือจับเส้นและจับเบอร์ การจับสลากเส้นเป็นวิธีเก่าคือจะเขียนข้อความการทำบุญสลากและชื่อผู้ศรัทธาลงในแผ่นกระดาษแข็ง ใบตาล หรือใบลานเท่ากับจำนวนของเครื่องไทยทานเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปหาผู้ล่วงลับและเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ตนเอง โดยนำเส้นสลากไปกองรวมกันในโบสถ์หรือวิหารแล้วให้พระเณรมาจับตามจำนวนที่กำหนด ส่วนสลากที่เหลือก็จะถวายแก่พระพุทธจากนั้นชาวบ้านจึงถวายของตามชื่อเส้นสลากของตน หลังจากที่พระสงฆ์ให้ศีลแล้วจึงนำเส้นสลากของตนไปเผาพร้อมทั้งกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ล่วงลับเป็นอันเสร็จพิธีอย่างไรก็ตามด้วยความหลากหลายทางเอกลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ทั้งมีประเพณีที่สำคัญเก่าแก่ แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง เหล่านี้ทำให้นักท่องเที่ยวใฝ่ฝันที่จะเดินทางเข้ามาสัมผัสบรรยากาศของความเป็นเมืองเหนืออย่างไม่ขาดสาย รวมทั้งคนในท้องถิ่นยังมีรอยยิ้มและน้ำใจที่ดีงามให้กับนักท่องเที่ยว นี่จึงเป็นมนต์เสน่ห์ของเชียงใหม่ที่ตราตรึงใจนักท่องเที่ยวอยู่อย่างมิรู้ลืม

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น