วันเวลาของ “ต้นยาง” สารภี

จะมีใครสักกี่คนทราบถึงประวัติความเป็นมาของต้นยาง ที่ปลูกเรียงรายสองฟากถนนจากเชียงใหม่มุ่งหน้าสู่สารภี ถนนสายประวัติศาสตร์ที่ว่ากันว่า เป็นถนนสายเดียวที่มีการปลูกต้นยางมากที่สุดในประเทศ ด้วยระยะทางประมาณ 10 กว่ากิโลเมตรจากเชียงใหม่ถึงอำเภอสารภี มีต้นยางขึ้นเรียงรายกว่าหนึ่งพันต้น ซึ่งต้นยางเหล่านี้ล้วนผ่านวันเวลาและเหตุการณ์ต่าง ๆ มามากมาย กระทั่งต้นยางได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของถนนสายนี้ไปแล้ว

ในสมัยก่อนอำเภอสารภี ไม่ได้มีชื่อเรียกเหมือนปัจจุบัน ชื่อเดิมของอำเภอนี้คือ “ยางเนิ้ง” ซึ่งน่าจะมีเหตุมาจากต้นยางที่มีลักษณะ “เนิ้ง” หรือ “โน้ม” เข้าหากัน กระทั่งปี พ.ศ.2472 จึงได้เปลี่ยนชื่ออำเภอยางเนิ้ง มาเป็นอำเภอสารภี ตามชื่อของดอกไม้ที่มีแพร่หลายอยู่ในอำเภอนี้ ส่วนประวัติของการปลูกต้นยางบนถนนสายประวัติศาสตร์เชียงใหม่ – สารภีนั้น เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2442 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งสยามประเทศได้มีการจัดการปกครองส่วนภูมิภาคจากเมืองประเทศราชมาเป็นรูปแบบการปกครอง แบบมณฑลเทศาภิบาล มีข้าหลวงจากรัฐบาลกรุงเทพมาปกครอง เชียงใหม่ในเวลานั้นอยู่ในช่วงปลายสมัยเจ้าอินทวโรรส เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 8 รัฐบาลส่วนกลางก็ยกเลิกอำนาจการปกครองของเจ้าหลวง ให้ข้าหลวงประจำเมืองทำหน้าที่แทน แต่ยังคงดำรงตำแหน่ง “เจ้าหลวง” เอาไว้เป็นประมุขของเชียงใหม่

โดยสมัยนั้นเมืองเชียงใหม่อยู่ในความดูแลของ ข้าหลวงสิทธิ์ขาดมณฑลพายัพ ซึ่งผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้เป็นคนแรกคือ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ท่านได้นำนโยบายที่เรียกว่า “น้ำต้อง กองต๋ำ” อันหมายถึงนโยบายในการพัฒนาคูคลองร่องน้ำ การตัดถนนหนทางและการปรับปรุงถนนหลวงเพื่อให้ความร่มรื่นแก่ชาวบ้านที่สัญจรไปมา จึงได้มีการกำหนดให้ทางหลวงแต่ละสายปลูกต้นไม้ไม่ซ้ำกันคือ ถนนในตัวเมืองเชียงใหม่ ให้ปลูกต้นไม้เมืองหนาว ถนนรอบคูเมือง ให้ปลูกต้นสักและต้นสน ถนนสายเชียงใหม่ – ดอยสะเก็ด ให้ปลูกต้นประดู่ ถนนสายเชียงใหม่ – หางดง ให้ปลูกต้นขี้เหล็ก ถนนสายเชียงใหม่ – สารภี ให้ปลูกต้นยาง และเมื่อเข้าเขตลำพูนให้ปลูกต้นขี้เหล็ก

สำหรับการปลูกต้นยางสารภีนั้น เริ่มต้นปลูกอย่างจริงจัง เมื่อปี พ.ศ.2465 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งจากการสอบถาม จ.ส.อ.พรรณศักดิ์ คำมงคล ข้าราชการบำนาญผู้ซึ่งได้ยินเรื่องราวของการปลูกต้นยางมาจากกำนันมานิต คำมงคล ซึ่งท่านเป็นกำนันตำบลปากกองและมีศักดิ์เป็นลุง ท่านได้เล่าว่า ในการปลูกต้นยางสมัยนั้นจะเกณฑ์ชาวบ้านที่ยากจนไม่มีเงินเสียภาษีให้รัฐกับชาวบ้านที่ไม่อยากจะเป็นทหาร ให้มาปลูกต้นยางตั้งแต่บ้านหนองหอยจนมาถึงแดนเมือง โดยจะให้ชาวบ้านรับผิดชอบดูแลรดน้ำต้นยางคนละประมาณ 4 – 5 ต้น ถ้าหากพบว่าต้นยางที่ตนรับผิดชอบตายก็จะต้องนำต้นยางมาปลูกใหม่

ขณะเดียวกันพ่อใจ เขียวคำ อดีตกำนันตำบลยางเนิ้ง ได้เล่าว่า ต้นยางบนถนนสายเชียงใหม่ – สารภี ปลูกมาก่อนที่ท่านจะเกิดประมาณ 10 ปี ในสมัยนั้นทางราชการได้เกณฑ์ชาวบ้านในหมู่บ้านต่าง ๆ ไปปลูกต้นยาง โดยบ้านต้นเหียวเดิมเป็นหมู่บ้านปากกอง ได้มีชาวบ้านถูกเกณฑ์ให้ไปปลูกต้นยาง จำนวน 86 ต้น ซึ่งไม่ได้มีการปลูกในหมู่บ้านแต่ได้เกณฑ์ให้ไปปลูกบริเวณถนนซูเปอร์ปัจจุบัน

พ่อใจ เขียวคำ ยังเล่าอีกว่า เมื่อปลูกเสร็จก็ได้มีการมอบหมายให้ชาวบ้านไปรดน้ำเป็นประจำ สมัยนั้นเมื่อเวลาที่ตนเดินไปโรงเรียนยุพราชในเมืองเชียงใหม่ก็ได้อาศัยร่มเงาของต้นยางบังแดดบังฝน พ่ออุ้ยทา แก้วมีสี ชาวบ้านอำเภอสารภีเล่าย้อนถึงอดีตต้นยางว่า เมื่อสมัยที่เป็นเด็กท่านเห็นปู่ทวดเป็นคนปลูก ซึ่งขณะนั้นสภาพของถนนสายนี้มีลักษณะเหมือนอยู่กลางทุ่งนา จนเมื่ออายุได้ประมาณ 7 – 8 ขวบ ก็ได้ไปรดน้ำต้นยางที่ปู่ทวดเป็นคนปลูกซึ่งตอนนั้นต้นยางมีความสูงท่วมศรีษะของท่านแล้ว “แต่ก่อนครอบครัวได้รับมอบหมายให้ดูแลต้นยาง จำนวน 5 ต้น ซึ่งได้มีการจ้างกันดูแลต้นยาง สมัยนั้นค่าจ้างประมาณคนละ 8 สตางค์ เมื่อเทียบกับค่าเกี่ยวข้าวในสมัยเดียวกันก็ตกประมาณ 12 สตางค์

ต้นยางที่ปลูกบนถนนสายเชียงใหม่ – สารภีนั้น คือ “ต้นยางนา” ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เป็นไม้สงวนประเภท ข จากบันทึกของปิแอร์ โอร์ต นักเดินทางชาวเบลเยี่ยมที่เดินทางเข้ามาในสยามประเทศ สมัยรัชกาลที่ 5 และท่านได้บันทึกการเดินทางไว้ในหนังสือ “ล้านนาไทยในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง” เรียบเรียงโดย พิษณุ จันทร์วิทัน กล่าวว่า “ถนนจากเชียงใหม่ไปลำพูน ซึ่งข้าพเจ้าเคยกล่าวถึงด้วยความชื่นชมนั้น มิได้มีสิ่งใดพิเศษ เป็นเพียงเส้นทางที่คดเคี้ยวไปมา ใต้ต้นไม้สูงหรือป่าไผ่มีธารน้ำไหลผ่านหลายแห่ง”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวันเวลาของต้นยาง จะมีเหตุการณ์ต่าง ๆ มามากมาย ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงความพยายามที่จะขยายแนวถนนสายเชียงใหม่ – สารภีของภาครัฐ กระทั้งก็ยังมีกลุ่มคนที่เห็นคุณค่าความสำคัญของประวัติศาสตร์ต้นยาง ด้วยการรวมกลุ่มในการอนุรักษ์ต้นยางเพื่อไม่ให้เอกลักษณ์อันทรงคุณค่าประจำอำเภอสารภีนี้สูญหายไป ภายใต้ชื่อ “ชมรมคนฮักต้นยาง”

ต้นยางสูงใหญ่ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งเดียวของชาวเชียงใหม่และอำเภอสารภี ยังคงทำให้ที่ในการให้ร่มเงามาตั้งแต่ครั้งโบราณ เมื่อกว่าร้อยปี ซึ่งถือได้ว่าถนนสายนี้เป็นถนนสายอารยธรรมล้านนาที่มีชีวิต เป็นมรดกเก่าแก่ที่ทรงคุณค่า แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น