ศิลปะล้านนาผสมพม่า ที่มณฑปครอบพระพุทธบาทวัดเชตวันหนองหมูลำพูน

จังหวัดลำพูน หรือ นครหริภุญชัย ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองแห่งศาสนา นครแห่งวัฒนธรรม” พุทธศาสนาที่มาพร้อมกับวัฒนธรรมอินเดียเริ่มเข้าสู่ดินแดนแถบนี้มีมานานกว่า 2,000 ปีมาแล้ว วัดในพุทธศาสนาแห่งแรกที่พบคือว่า วัดขอมลำโพง ปัจจุบันคือวัดสันป่ายางหลวง อ.เมือง จ.ลำพูน พบหลักฐานหินทรายสลักศิลปะแบบขอม สันนิษฐานว่าแต่เดิมเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูของชุมชนชาวขอมและชาวพื้นเมือง

ต่อมามีหลักฐานทางเอกสารปรากฏว่า พุทธศาสนาในภาคเหนือนั้นไม่ได้รับมาโดยตรงจากอินเดียหากได้รับอิทธิพลมาจากละโว้ โดยการมาถึงเมืองหริภุญชัยของพระนางจามเทวีตามลำน้ำปิง เจดีย์แห่งแรกที่พระนางจามเทวีได้สร้างขึ้นคือ วิปะสิทธิเจดีย์ หรือ ปวิสิตปกะ

โดยการให้นายพรานธนูอธิษฐานยิงธนูเพื่อหาสถานที่สร้างพระเจดีย์ ปัจจุบันคือวัดพระธาตุดอยน้อย ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมสำคัญชิ้นแรกในสมัยพระนางจามเทวี หลังจากที่ทรงสร้างเจดีย์เสร็จจึงเดินทางต่อมาทางน้ำสาขาตะวันออกของแม่น้ำปิง (แม่น้ำกวง) จึงสร้างวัดชื่อ อารามรามัญ ปัจจุบันคือวัดกู่ละมัก หรือ รมณียาราม เป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากละโว้ นอกจากนั้นพระนางจามเทวีก็ยังได้สร้างวัดต่าง ๆ มากมายทั้งในและนอกกำแพงเมือง เช่น วัดมหาวัน ทางทิศตะวัน วัดพระคงฤาษี ทางทิศเหนือ วัดพระยืนทางทิศตะวันออก วัดประตูลี้ทางทิศใต้ ฯลฯ ซึ่งต่อมาวัดต่าง ๆ เหล่านี้เป็นกรุพระสำคัญของเมืองลำพูน

ศาสนสถานที่สร้างขึ้นในสมัยหริภุญไชย แม้จะเหลืออยู่ไม่มากนักแต่ก็มีความหมายแสดงว่าแบบอย่างของสถาปัตยกรรมของหริภุญชัยมีความเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมมอญในภาคกลางและพุกาม เจดีย์จึงเป็นเพียงศาสนสถานที่สร้างขึ้นในสมัยหริภุญไชยที่หลงเหลืออยู่ สำหรับสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ เช่น วิหาร อโบสถ หอไตร ส่วนใหญ่สร้างขึ้นจากไม้จึงได้ชำรุดเสียไปหมดสิ้น สถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างดังกล่าวที่อยู่มาจนถึงปัจจุบัน ล้วนสร้างขึ้นใหม่ในสมัยหลังทั้งสิ้น เช่น พระเจดีย์ พระมณฑป วิหาร หอระฆัง ซุ้มประตูวัด ศาลา หอไตร ฯลฯ

สถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากภาคกลางที่คุ้นตามากที่สุดได้แก่ พระมณฑป ในหนังสือเรื่อง “สถาปัตยกรรมลำพูน” เขียนโดยวิฑูรย์ เหลียวรุ่งเรือง อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาเชียงใหม่ในฐานะอนุกรรมการวิชาการกรรมาธิการสถาปนิกล้านนา กล่าวถึงมณฑปว่าเป็นสถาปัตยกรรมไทยประเภทหนึ่งที่เอื้อประโยชน์ใช้สอยในพระพุทธศาสนา ซึ่งภายในประดิษฐานพระพุทธรูป พระไตรปิฏก หรือพระพุทธบาทจำลอง รูปลักษณะมักเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีหลังคาเป็นเรือนยอดแหลมอย่างทรงปิรามิดซ้อนชั้นเรียกว่า หลังคาทรงบุษบก หรือ กุฏาคาร หรือ พระคันธกุฏี อันเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า ดังนั้นจึงมีการวางตำแหน่งอาคารมณฑปไว้ในตำแหน่งหลักประธานของผังเช่นเดียวกับพระเจดีย์

พระมณฑปที่พบในลำพูน ส่วนใหญ่มี 2 ลักษณะคือ พระมณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและพระมณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธบาท ที่สวยงามได้แก่พระมณฑปวัดเชตวัน (หนองหมู) ต.อุโมงค์ อ.เมือง จ.ลำพูน เป็นมณฑปรูปทรงกรวยเหลี่ยมครอบพระพุทธบาทและพระพุทธไสยาสน์ พื้นที่ของมณฑปเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 3 ชั้น สร้างอยู่กลางสระน้ำ เดิมบริเวณที่ตั้งของมณฑปนี้เป็นพระเจดีย์เก่าที่พังทลายลงมา ต่อมาปี พ.ศ.2480 ทางวัดจึงได้สร้างเจดีย์ใหม่ขึ้นภายในวัดและสร้างพระมณฑปปราสาทขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทและพระพุทธไสยาสน์ โดยครูบาคำแสน (พระครูคำแสนสิริ) โดยให้ช่างชาวพม่าชื่อ โม่ส่วย เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง พระมณฑปครอบพระพุทธบาทวัดเชตวันแห่งนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประจำปี 2536 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปภัมถ์

รูปแบบการก่อสร้างมณฑปวัดเชตวันแบ่งเป็น 3 ชั้น ชั้นแรกมีฐานสูงประมาณ 1 เมตรก่อเป็นกำแพงแก้ว โดยรอบเป็นระเบียงสันนิษฐานว่าคงมีการขุดเอาดินรอบ ๆ นั้นมาถมเพื่อป้องกันการทรุดตัวของมณฑปสูงมีความสูงมาก บริเวณมุมของกำแพงแก้วมีซุ้มสี่เหลี่ยมคล้ายมณฑปขนาดเล็กประดับอยู่ทั้ง 4 ด้าน ซุ้มทั้ง 4 มีรูปปั้นของคนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เทวดา ทหาร ชาวบ้านทั้งชายและหญิงประดับอยู่ ทางเข้าอาคารเป็นสะพานมีราวก่อด้วยอิฐ หัวสะพานมีรูปปั้นนรสิงห์ บันไดทางขึ้นทอดตัวจากทางเข้าขึ้นไป 2 ระดับไปสิ้นสุดที่หน้ามณฑป บริเวณฐานพระมณฑปชั้นที่ 2 ค่อนข้างสูงมีระเบียงแก้วโดยรอบคล้ายกับชั้นแรก แต่ฐานของชั้นนี้มีโขงคล้ายกับคูหาเล็ก ๆ ด้านละ 7 โขง ภายในโขงมีรูปปั้นเป็นพระสงฆ์ในกิริยาต่าง ๆ เช่น พระยืนเรียงกัน 3 รูป พระสงฆ์จูงสุนัข เป็นต้น

ระเบียงชั้นสองนี้สามารถเดินได้โดยรอบฐานมณฑปของชั้นสุดท้ายมีลักษณะคล้ายชั้นที่ 2 เพียงแต่ว่าไม่มีระเบียงดังนั้นจึงไม่มีมณฑปเล็ก ๆ ประทับอยู่ที่มุมทั้งสี่ ส่วนที่ฐานมีโขงเล็ก ๆ คล้ายคูหาอยู่โดยรอบเช่นเดียวกับชั้นที่ 2 อยู่ด้านละ 5 โขงมีรูปปั้นพระสงฆ์ประดับอยู่เพียงโขงละ 1 รูป ส่วนชั้นบนสุดของมณฑปเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาท มีระเบียงโดยรอบ เสาของระเบียงรับโครงสร้างหลังคาของมณฑปที่เป็นหลังคาปั้นหยาซ้อนกันสองชั้น ยอดของหลังคามีฉัตรประดับ เสาระเบียงก่ออิฐฉาบปูนไม่มีเหล็กเสริมอยู่ในสภาพชำรุดและเอียง ประตูทางเข้าอยู่ด้านส่วนอีก 3 ด้านเป็นหน้าต่าง ภายในมณฑปเป็นแท่นแก้วประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ เบื้องหลังพระพุทธไสยาสน์เป็นรอยพระพุทธบาทจำลอง

พระมณฑปวัดเชตวันหนองหมู นับว่าเป็นต้นแบบของงานสถาปัตยกรรมที่สะท้อนภูมิปัญญาเชิงช่างของล้านนาที่ผสมผสานระหว่างศิลปกรรมท้องถิ่นกับพม่า ได้อย่างลงตัวและทรงคุณค่าแห่งเอกศิลป์ ซึ่งหาชมได้ไม่ง่ายนัก

บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น