เตือนภัย! เสพติดมือถือ ระวังจะเป็น..สายตาสั้นเทียม

สายตาสั้นเทียม เกิดจากการหดตัวผิดปกติของกล้ามเนื้อขนาดเล็กในลูกตา โดยปกติเมื่อเรามองสิ่งที่อยู่ใกล้ กล้ามเนื้อเล็กๆ ในตาจะหดตัวเพื่อให้เลนส์ตาโป่งออก ทำให้สภาพตาช่วงเวลานั้นเหมือนคนสายตาสั้น เราจึงมองเห็นของที่อยู่ใกล้ชัดขึ้น แต่พอเราเลิกมองใกล้กล้ามเนื้อเหล่านี้ก็จะคลายตัวโดยอัตโนมัติ ทำให้เรามองเห็นสิ่งของที่อยู่ไกลชัดขึ้น ซึ่งปกติแล้วกล้ามเนื้อส่วนนี้จะหดและคลายตัวสลับกันไปมาตลอด

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นเทียม มาจากพฤติกรรมการใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่หยุดพักโดยเฉพาะการมองจอคอมพิวเตอร์ นั่งจ้องมือถือ สมาร์ทโฟน หรืออ่านหนังสือ นอกจากนี้โรคที่เกี่ยวข้องกับสมอง การเกิดโรคตาบางชนิด เช่น ภาวะสายตาเอียง หรือยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาคลายเครียด, ยาคลายกล้ามเนื้อ ก็สามารถทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นเทียมได้เช่นกันครับ

สายตาสั้นเทียมและสายตาสั้นจริง ส่วนที่เหมือนกันคือมองไกลไม่ชัดทั้งคู่ แต่สำหรับสายตาสั้นเทียมนั้นมีข้อสังเกตคือ จะมีอาการมองไม่ชัดค่อนข้างจะทันที ขณะที่สายตาสั้นจริงจะค่อยๆ มองไม่ชัดมานาน นอกจากนี้สายตาสั้นเทียม ยังมีอาการปวดตา ปวดหัว บางครั้งมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วยหลังจากใช้สายตานานๆ นั่นเองครับ

ซึ่งการปรับพฤติกรรมการใช้งานสายตาโดยไม่ใช้สายตาติดต่อกันนานเกิน 2 ชั่วโมง พักสายทุก15-20 นาที มองไปที่ไกลๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อตาคลายตัว รวมถึงไม่ใช้สายตาในที่มืดหรือแสงจ้ามากเกินไป สวมแว่นตาเพื่อกรองแสง หรือการใช้น้ำตาเทียมหล่อเลี้ยงลูกตาให้ชุ่มชื้นก็ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดสายตาสั้นเทียมได้เช่นกันครับ

ดังนั้นหากสงสัยว่ามีภาวะสายตาสั้นเทียมหรือไม่? แนะนำให้ไปพบจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินอาการและหาทางแก้ไขปัญหา เพราะภาวะสายตาสั้นเทียมหากสะสมอาการต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นสายตาสั้นจริงได้นะครับ

ร่วมแสดงความคิดเห็น