เปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ น้ำตกแม่สาน้อย ลัดเลาะเรียบ ถ.แม่ริม-สะเมิง ภายในสวนพฤกษศาสตร์

น้ำตกแม่สาน้อย เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี มีความสวยงามร่มรื่น ปกคลุมด้วยพันธุ์พืชนานาชนิด ทั้งที่เติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติและที่จัดปลูกเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์โดยเฉพาะกลุ่มพืชวงศ์ไทรหลากหลายชนิด เช่น ไทรย้อย ไกร กร่าง โพธิ์ มะเดื่อ และมะหาด เป็นต้น ตลอดเส้นทางเดินกว่า 300 เมตร ลัดเลาะเลียบริมธารน้ำ ผ่านสวนหินที่สูงชันขึ้นจนกระทั่งสิ้นสุดที่เรือนรวมพันธุ์กล้วยไม้ไทย นอกจากพันธุ์ไม้รอบรายทางแล้ว ยังมีกล้วยไม้ป่าในโรงเรือนที่สวยงามแปลกตากว่า 400 ชนิด ให้ศึกษาชื่นชม

ตัวอย่างพืชและธรรมชาติที่น่าสนใจในเส้นทาง

“สนุ่น-ลูกไม้หล่นไกลต้น” พบขึ้นใกล้ริมธารน้ำตก ช่วยยึดตลิ่งไม่ให้พังทลาย เมื่อผลแก่จะแตกออกให้เมล็ดขนาดเล็ก ที่ปลายข้างหนึ่งมีขนฟู ช่วยให้ปลิวตามลมแพร่กระจายพันธุ์ได้ไกล

“ขะเจาะน้ำ-ยิ่งร้อนยิ่งเบ่งบาน” เป็นพันธุ์ไม้หลักที่ขึ้นรอบริมธารน้ำตก เมื่อล่วงเข้าฤดูร้อนจะชูช่อดอกสีม่วงบานสะพรั่ง และหล่นร่วงเกลื่อนกราดรายล้อมต้นจำนวนมาก

“ซ้อ-ดอกไม้ให้สี” เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขึ้นประปรายห่างจากริมน้ำตก ดอกสีเหลืองนำมาแต่งสีขนม เป็นอาหารพื้นบ้านเรียกว่า “ขนมดอกซ้อ”

“พลูช้าง-กล้วยไม้สยาม” เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เกาะพันอาศัยไม้ยืนต้นต่างๆ ดอกสีขาวเจือด้วยสีเขียวอ่อนๆ แม้ไม่ฉูดฉาดสะดุดตา แต่สวยสง่างามละมุนตายิ่งนัก พลูช้างมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vanilla siamensis ซึ่งคำว่า siamensis หมายถึง สยาม ซึ่งก็คือชื่อเดิมของประเทศไทยนั่นเอง

“เกล็ดกระโห้-รากโผล่จากต้น” เป็นไม้ดอกหอม กลีบดอกสีขาวอมชมพูเรียงซ้อนกันตามลำต้น กิ่งก้าน มีรากอากาศงอกออกมา และหากสังเกตดูจะพบรอยแตกเล็กๆ ตามผิวลำต้นและราก ซึ่งเป็นช่องทางหายใจแลกเปลี่ยนก๊าช

“กล้วยหก-กล้วยนักเดินทาง” ใกล้น้ำมักพบต้นกล้วยเสมอ กล้วยหกเป็นกล้วยป่าชนิดหนึ่ง ลำต้นเทียมเหนือดินสีแดงคล้ำอมสีม่วงดำ สูงยาวชะลูด เมื่อแตกหน่อ เหง้าใต้ดินเจริญทอดเลื้อยห่างออกจากต้นแม่แล้ว จึงแทงหน่อกล้วยใหม่ขึ้น เราจึงเห็นกล้วยหกเจริญขึ้นเป็นลำเดี่ยวๆ มากกว่าที่จะขึ้นเป็นกลุ่มกอ จึงเรียกว่า “กล้วยนักเดินทาง”

“เต่าร้างยักษ์-ตัวเป็นพืชชื่อเป็นสัตว์” เป็นพืชหายากและใกล้สูญพันธ์ุ ในประเทศไทยพบขึ้นเองตามธรรมชาติแห่งเดียว ที่ดอยภูคา จ.น่าน เมื่อต้นเต่าร้างยักษ์ให้ดอกออกผลแล้ว ต้นแม่ก็ค่อยๆ ยืนต้นตายไป

“กาฝาก-พืชเอาเปรียบ” ในเส้นทางจะพบพืชหลายชนิด ที่เกาะอาศัยอยู่บนพืชต้นอื่น หากเกาะอาศัยเพียงอย่างเดียว จะเรียกว่า พืชอิงอาศัย (epiphytes) แต่หากดูดน้ำเลี้ยงและธาตุอาหารจากพืชที่ถูกอาศัยด้วย เรียกว่า พืชกาฝาก (hemiparasites) พืชต้นใดถูกพืชกาฝากขึ้นจำนวนมาก ก็อาจจะทำให้ตายได้

“ไลเคน-ชีวิตที่ต้องพึ่งพา” หากสังเกตดูตามส่วนต่างๆ ของต้นไม้หรือก้อนหินจะพบเห็นรอยด่างดวงสีเขียว หรือมีลักษณะเป็นแผ่นคล้ายใบไม้เล็กๆ ขึ้นปกคลุมอยู่ เรียกสิ่งนี้ว่า “ไลเคน” เป็นการพึ่งพาอยู่ร่วมกันของรากับสาหร่าย โดยราจะให้ความปลอดภัยและความชื้นแก่สาหร่าย ส่วนสาหร่ายจะสามารถสร้างอาหารให้แก่ราและตัวมันเอง หากมีความชื้นและแสงแดดเพียงพอ ก็จะสามารถพบ ไลเคนได้ในทุกสภาวะแวดล้อม ไม่ว่าดีหรือเลวร้ายเพียงใด

“หูดต้นไม้-ปฏิสัมพันธ์แห่งชีวิต” หลายครั้งเราอาจเคยเห็นบางลักษณะของพืชเป็นปุ่มปม เป็นก้อนนูนออกมา เป็นลักษณะการเจริญที่ผิดเพี้ยน เราเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า “หูดต้นไม้” ซึ่งเกิดได้กับทุกส่วนของต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็น ต้น ใบ ดอก และผล โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่จากแมลงหลายชนิด หรือจากเชื้อรา แบคทีเรียและไวรัส กระตุ้นให้พืชเพิ่มการสร้างฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตขึ้น และแมลงเหล่านั้น ก็จะอาศัยหูดที่เกิดขึ้นเป็นทั้งอาหารและแหล่งที่อยู่ในการดำรงชีวิต ปกติแล้วหูดต้นไม้ที่เกิดขึ้นไม่เป็นอันตรายถึงกับทำให้พืชตายได้

ข้อมูล นายชัยยุทธ กล่ำแวววงศ์ นักการศึกษาองค์การสวนพฤกษศาสตร์

ร่วมแสดงความคิดเห็น