ประตูหัวเวียง หรือ ประตูช้างเผือก

ประตูหัวเวียงของเชียงใหม่ ถือได้ว่ามีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตของการสร้างเมือง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองถือว่าเป็นประตูมงคล ในพิธีราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีล้านนา กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่จะเสด็จเข้ามาที่ประตูนี้ มาตั้งแต่ครั้งที่พญาเม็งราย ทรงสร้างเวียงนพบุรีศรีนครพิงค์เจียงใหม่ขึ้น พระองค์ก็ได้เสด็จเข้าเมืองผ่านประตูหัวเวียงแห่งนี้เช่นกัน

ในพงศาวดารโยนกกล่าวไว้ว่า เมื่อพญาเม็งรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่นั้น ได้ขุดคูเมืองทั้ง 4 ด้านนำดินขึ้นมาถมเป็นแนวกำแพง โดยได้เริ่มขุดที่บริเวณมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คือแจ่งศรีภูมิอันเป็นทิศมงคลก่อน แล้วก่ออิฐขนาบสองข้างกันดินพังทลาย ข้างบน กำแพงปูอิฐตลอดแนว ทำเสมาไว้บนกำแพงทั้งสี่ด้าน

ประตูหัวเวียงเปลี่ยนชื่อมาเป็น ประตูช้างเผือกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 23 เมื่อพญาแสนเมืองมาได้สร้างอนุสาวรีย์ช้างเผือก 2 เชือกเป็นอนุสรณ์แก่มหาดเล็ก 2 คนที่ช่วยพระองค์ให้รอดพ้นจากภัยสงคราม แต่เดิมรูปปั้นช้างเผือกทั้ง 2 เชือกอยู่ริมถนนโชตนาด้านละเชือก สำหรับรูปปั้นช้างเผือกที่ตั้งในปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ในสมัยพระเจ้ากาวิละ

ส่วนภาพของประตูหัวเวียง หรือ ประตูช้างเผือกที่เห็น ถ่ายเมื่อครั้งสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ องค์สมเด็จพระยุพราช (รัชกาลที่ 6) เสด็จประพาสเมืองเชียงใหม่ เมื่อปีพ.ศ.2449 ทางการได้จัดสร้างซุ้มรับเสด็จอย่างสวยงาม ระหว่างประตูเมืองประดับด้วยธงช้างเผือกซึ่งเป็นธงชาติไทยสมัยนั้น ส่วนถนนที่เห็นด้านหลังคือถนนพระปกเกล้า ข้อมูลประกอบ ลานนาไทยในอดีต โดยบุญเสริม สาตราภัย

บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น