ขับขี่ปลอดภัยบน “ถนนมหิดล” ระหว่างแยกดอนจั่น-แยกสนามบิน

จุดเกิดอุบัติเหตุบ่อยในเขตเมืองเชียงใหม่ จุดหนึ่งคือ บริเวณถนนมหิดล ระหว่างแยกดอนจั่นถึงแยกสนามบิน มักจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง สาเหตุเนื่องจากขับใช้ความเร็วสูง เมื่อรถคันหน้าชลอความเร็วกะทันหันหรือหยุดกะทันหัน ทำให้ชนท้าย

ผลที่ตามมาคือ ได้รับบาดเจ็บ , ทรัพย์สินเสียหายต้องเสียเงินค่าซ่อมรถ และส่งผลให้ผู้อื่นเดือดร้อน คือ การจราจรติดขัด

การป้องกันแก้ไข คือ เมื่อขับรถเข้าสู่ถนนสายมหิดล ควรใช้ความเร็วต่ำ และขับเว้นระยะห่างจากคันหน้าพอสมควร ซึ่งสามารถหยุดรถได้ทัน หากรถคันหน้าชลอความเร็วหรือหยุดกะทันหัน

การหยุดกะทันหันอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สาเหตุจากเครื่องยนต์ขัดข้อง , มีคนวิ่งข้ามถนนตัดหน้า , มีสุนัขตัดหน้า , คนขับเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน เป็นต้น

กฎหมายจราจรที่เกี่ยวข้องกับการชนท้ายรถคันหน้า กฎหมายระบุว่า การขับรถต้องขับขี่เว้นระยะห่างจากรถคันหน้าพอสมควร ที่สามารถจะหยุดรถได้อย่างปลอดภัย เมื่อจำเป็นต้องหยุดรถ(มาตรา 40 พ.ร.บ.จราจรทางบก) กล่าวคือ กฎหมายไม่ได้กำหนดระยะที่แน่นอนไว้ ใช้คำว่า “ระยะพอสมควร” ที่สามารถหยุดรถได้ทันเมื่อจำเป็นต้องหยุดรถ คือ ในระยะที่หยุดรถได้ทัน ไม่ชนท้ายรถคันหน้านั่นเอง ด้วยข้อกฎหมายนี้นี่เอง จึงเป็นความรับผิดชอบของรถที่ชนท้าย จะต้องจ่ายค่าซ่อมให้รถที่ถูกชนท้าย เว้นแต่จะหยุดกะทันหันเพราะเจตนากลั่นแกล้งกัน

เมื่อรถคันหน้าเกิดอุบัติเหตุแล้ว ควรปฏิบัติอย่างไร

เมื่อเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง แม้จะเป็นความผิดของเราหรือไม่ก็ตาม จะต้อง 1.หยุดช่วยเหลือ 2.ต้องรอแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ 3.ต้องแจ้งชื่อที่อยู่แก่คู่กรณี (มาตรา 78 พ.ร.บ.จราจรทางบก)

กฎหมายระบุว่าหากไม่ดำเนินการตาม 3 ข้อดังกล่าวข้างต้น ให้สันนิษฐานว่าเป็นฝ่ายผิด มีโทษตามกฎหมาย

บางกรณีที่เกิดการเฉี่ยวชนและตกลงกันได้ คือ ต่างฝ่ายต่างซ่อม ภายหลังคู่กรณีไปแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเราชนแล้วหลบหนี ทางป้องกัน คือ 1.หาพยานคนกลางที่รู้เห็นเหตุการณ์ ขอชื่อที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ไว้ เพื่อติดต่อมาเป็นพยานภายหลังได้ 2.ให้คู่กรณีลงชื่อไว้กรณีที่ตกลงกันได้ ไม่ต้องแจ้งเรื่องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะสามารถคลี่คลายปัญหาดังกล่าวได้

การขับรถควรคิดอยู่เสมอว่า “อุบัติเหตุ” สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งจากตัวเราและจากรถอื่น จึงไม่ประมาท ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายหากเกิดอุบัติเหตุ , หากจำเป็นต้องโทรศัพท์ ควรใช้เวลาสั้นๆ หรือหยุดรถขณะโทรศัพท์ ย่อมปลอดภัย.

พ.ต.อ.อนุ เนินหาด /เรียบเรียง

ร่วมแสดงความคิดเห็น