ย้อนอดีตของ “แม่น้ำปิง”

ความสำคัญของน้ำแม่ปิงที่มีต่อคนเชียงใหม่และใกล้เคียงนั้นได้เอื้อประโยชน์นานับประการมานานหลายร้อยหลายพันปีมาแล้ว การถือกำเนิดของน้ำแม่ปิงเกิดขึ้นมาเมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏ แต่ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์เมื่อพันก่อนปีมาแล้ว พระนางจามเทวีก็ได้อาศัยน้ำแม่ปิงเดินทางจากอาณาจักรละโว้ขึ้นมาครองเมืองหริภุญไชย

ความยิ่งใหญ่ของสายน้ำและธรรมชาติ นอกเหนือจากยังความชุ่มชื้นให้แก่คนตั้งแต่หัวน้ำยันปลายน้ำแล้ว คุณค่าของแม่น้ำยังเกี่ยวเนื่องกับระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วย ทำให้นึกถึงงานเขียนของธีรภาพ โลหิตกุลที่บันทึกไว้ในหนังสือแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวถึง สุภาษิตโบราณของญี่ปุ่นบทหนึ่งว่า ยูนิคาบุเรเต้ ซางาอารี “ประเทศอาจพ่ายแพ้ แต่ภูเขาและแม่น้ำยังอยู่” ลูกอาทิตย์อุทัยต้องพ่ายแพ้ยับเยินในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่พวกเขายังมีภูเขาเป็นแหล่งทรัพยากรป่าและดิน มีแม่น้ำให้อาหารและความชุ่มชื้นแก่ชีวิต ทั้งหมดคือพลังให้พวกเขาก้าวลุกขึ้นมาจากผู้ปราชัย กลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่กำเศรษฐกิจโลกไว้ในมือ ในขณะที่สยามประเทศ ซึ่งหยิ่งทะนงตนมาตลอดว่าไม่เคยพ่ายแพ้จนตกเป็นประเทศราชใคร แต่ในเวลานี้ กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์อันเนื่องเพราะไปทำลายห่วงโซ่สัมพันธ์ทางธรรมชาติของป่าและน้ำอย่างหนักหน่วงรุนแรงที่สุด

ย้อนขึ้นไปยังเทือกเขาแห่งหนึ่งที่อยู่ติดชายแดนประเทศพม่า ในเขตตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในหนังสือ “อักขรานุกรมทางภูมิศาสตร์” ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2527 ระบุว่า ตาน้ำเล็กๆที่ซึมจากซอกหินในระดับความสูง 1,824 เหนือดอยถ้วยเป็นต้นกำเนิดของต้นธารน้ำแม่ปิงหรือแม่น้ำระมิง แม่น้ำสายสำคัญของอาณาจักรล้านนาก่อนที่จะไหลผ่านบ้านเมือง เป็นแควหนึ่งของแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ไหลไปบรรจบกับสายน้ำอื่นๆอีก 3 สายที่ปากน้ำโพ หรือปากแม่น้ำโผล่ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ ก่อนไหลกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา สายน้ำใหญ่ของประเทศที่หล่อเลี้ยงชุมชนที่ราบลุ่มภาคกลางมานานชั่วนาตาปี

ในสมัยที่พญามังรายทรงพิจารณาเลือกทำเลที่ตั้งเมืองเชียงใหม่นั้น น้ำแม่ปิงถือเป็นชัยมงคลประการที่ 7 ในจำนวนชัยมงคล 7 ประการ ตัวเมืองเชียงใหม่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของน้ำแม่ปิง บริเวณที่ราบระหว่างหุบเขาซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองนั้น ยังเป็นที่รวมของแม่น้ำสำคัญอีก 2 สายคือ น้ำแม่แตงและน้ำแม่กวง ที่ราบบริเวณนี้แม้จะไม่ใหญ่โตมากนัก แต่ก็เหมาะสมแก่การสร้างบ้านแปงเมือง ด้วยเพราะมีแหล่งน้ำสมบูรณ์ มีตะกอนปุ๋ยตามธรรมชาติพัดพามาตามสายน้ำ เหมาะอย่างยิ่งในการเพาะปลูก

นอกจากนั้นในอดีตน้ำแม่ปิงยังเคยเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญของอาณาจักรล้านนา ทั้งใช้สัญจรทางการค้าและการขนส่ง น้ำแม่ปิงเคยเป็นเส้นทางที่สำคัญที่สุดทางเดียวจากเมืองเชียงใหม่ถึงเมืองระแหงหรือเมืองตาก เพื่อเดินทางต่อไปยังเมืองมะละแหม่งในพม่า และจากเชียงใหม่ถึงเมืองปากน้ำโพเพื่อเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ และขนส่งสินค้าหรือเดินทางขึ้นเหนือถึงเชียงใหม่ เพื่อเดินทางต่อไปยังเขตรัฐฉาน สิบสองปันนาและหลวงพระบาง

ในบันทึกการเดินทางของ ดร.แดเนียล แมคกิลวารี หมอสอนศาสนาที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในล้านนา ได้กล่าวถึงความยากลำบากในการเดินทางมาเยือนเชียงใหม่ของท่านเมื่อปี พ.ศ.2407 ว่าการเดินทางขึ้นมาตามน้ำแม่ปิงในครั้งนั้นใช้เวลานานถึง 49 วัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเดินทางมีความยากลำบากเพราะในแม่น้ำจะมีเกาะแก่งโขดหินบวกรวมกับกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว

เอกสารชิ้นหนึ่งของเรจินอลด์ เลอเมย์ได้บันทึกเรื่อง น้ำแม่ปิงท่วมเมืองเชียงใหม่ถึง 4 วันในช่วงเดือนกันยายน 2456 ว่า “น้ำปิงตอนนั้นลึกถึง 10 ฟุต บริเวณย่านช้างคลานกลายเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ ที่ริมฝั่งจะเห็นกระแสน้ำไหลเสียงครืนๆ ท่อนไม้ซุงหมุนคว้างไปกับสายน้ำทำให้เห็นพลังของกระแสน้ำอันมหาศาล”

คนเมืองล้านนามักจะนิยมเรียกแม่น้ำว่า “น้ำแม่” เช่นน้ำแม่ปิง น้ำแม่ข่า น้ำแม่กวง น้ำแม่แตง เป็นต้น ด้วยความเคารพนับถือน้ำว่ามีฐานะเป็น “แม่” ผู้ให้กำเนิดสรรพชีวิตและหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของผู้คน ด้วยเหตุนี้น้ำจึงมีคุณค่าต่อชีวิตมวลมุนษย์

เมื่อเมืองเชียงใหม่มีการเจริญเติบโตและขยายตัวขึ้น แม่น้ำปิงก็หมดบทบาทในการเป็นแหล่งน้ำสำหรับการเกษตร เนื่องจากการขยายเขตเมืองไปทับพื้นที่เกษตรกรรม ช่วงปลายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 เมืองเชียงใหม่ได้รับการส่งเสริมให้เป็นเมืองหลักของภาคเหนือ มีการซื้อขายที่ดินและก่อสร้างอาคารประเภทต่างๆจำนวนมาก ริมแม่น้ำปิงก็เป็นบริเวณหนึ่งที่มีการก่อสร้างทั้งคอนโดมีเนียม โรงแรม ร้านอาหาร เกสต์เฮาส์ แน่นอนที่สุดว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลให้คุณภาพน้ำของแม่น้ำปิงเปลี่ยนไป เพราะความมักง่ายของเจ้าของธุรกิจดังกล่าวที่ไม่ใช่คนท้องถิ่น มีการทิ้งของเสียและปล่อยน้ำเน่าลงสู่แม่น้ำปิง แม่น้ำที่เคยหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนเชียงใหม่มาเนินนาน บรรพบุรุษของพวกเราจะรู้ไหมว่า แม่น้ำที่เคยมีคุณค่ามหาศาลเคยหล่อเลี้ยงเชียงใหม่มาแต่อดีตต้องต่อสู้กับชะตากรรมที่เลวร้าย

ปัจจุบันแม้ว่าน้ำแม่ปิงจะรินไหลผ่านกาลเวลามาหลายยุคหลายสมัย แม่น้ำแห่งนี้ก็ยังคงทำหน้าที่หล่อเลี้ยงลมหลายใจของผู้คนสองฟากฝั่งอยู่เสมอมา ประวัติศาสตร์ของน้ำแม่ปิง น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้คนรุ่นปัจจุบันได้ช่วยกันหันมาสนใจและห่วงใยน้ำแม่ปิง เพราะน้ำแม่ปิงคือเส้นเลือดใหญ่และเป็นส่วนสำคัญของเมือง หากไม่มีน้ำแม่ปิงก็ไม่มีเมืองเชียงใหม่เช่นกัน.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น