เชียงใหม่ ชาวบ้านทำขนมปาดหายากปีหนึ่งทำครั้งถวายพระวันพญาวันในประเวณีปี๋ใหม่เมือง

ชาวบ้านปง หมู่ 2 ต.บ้านปง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ร่วมแรงร่วมใจทำขนมปาด ปีหนึ่งทำครั้งถวายพระวันพญาวันในประเวณีปี๋ใหม่เมือง ปัจจุบันขนมปาดหาคนทำยากเนื่องจากกรรมวิธีการทำค่อนข้างยากโดยต้องช่วยกันทำหลายๆคนนอกจากนี้ปัจจุบันชาวบ้านมักนิยมไปซื้อขนมไทยตามตลาดนำมาทำบุญแทนการทำเอง

ช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรืองานประเวณีปี๋ใหม่เมืองปีนี้ ชาวบ้านบ้านปงเหนือ หมู่ 2 ต.บ้านปง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ จำนวนมากทั้งคนเฒ่าคนแก่ คนหนุ่มคนสาว ต่างพร้อมใจมาช่วยกันทำขนมโบราณหายากที่ทำกันปีละครั้ง เพื่อเตรียมนำไปถวายพระในวันปีใหม่เมืองนี้ โดยร่วมมือกันนำข้าวเหนียวมาตำในครกกระเดื่องขนาดใหญ่ หรือที่ชาวล้านนาเรียกว่า ครกมอง ให้ผู้ชายเหยียบตำข้าวให้ป่นจนเป็นแป้งก่อนนำมาร่อนออก โดยตอนเหยียบ ต้องมีคนใช้มือคนแป้งในครก ต้องเป็นคนที่มีความชำนาญ หากไม่ถูกจังหวะอาจถูกครกตำมือจนบาดเจ็บได้ แล้วนำแป้งไปนวดกับน้ำแล้วนำไปต้ม จากนั้นนำน้ำตาลอ้อยมากวนบนกระทะขนาดใหญ่ที่ร้อนพร้อมกับนำแป้งข้าวที่ได้ใส่ลงในกระทะ พร้อมใช้พายไม้ไผ่กวนกันสลับไปมาเพื่อให้แป้งเข้าเนื้อน้ำตาล จนเริ่มแห้งจึงจะใส่กะทิเข้าไป ซึ่งในขั้นตอนนี้ต้องออกแรงกวนสม่ำเสมอกันไม่เช่นนั้นแป้งขนมจะติดและไหม้ จากนั้นก็นำออกปั้นคลี่ตากให้แห้งก่อนนำไปตากเป็น ขนมปาด ที่อร่อย โดยส่วนใหญ่จะเริ่มประยุกต์นำงามาโรยเพิ่มความสวยงามบ้างก็ใส่ถั่วลิสงคั่ว มะพร้าวคั่ว เพื่อเพิ่มความอร่อยและรสชาติหวานมัน

ชาวบ้านเปิดเผยว่า ขนมปาดเป็นขนมโบราณที่ชาวบ้านจะมาร่วมแรงช่วยกันทำ เพราะทำยาก ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันทำ ปีละครั้งก่อนงานเทศกาลสงกรานต์ เพื่อที่จะนำไปถวายวัดในวันพญาวัน อันเป็นวันเถลิงศกเริ่มต้นจุลศักราชใหม่ ซึ่งก็คือวันที่ 15 เมษายน 59 โดยเก็บรักษาง่ายเมื่อทิ้งไว้จะแข็งตัว และหากจะนำมาทานอีกครั้ง ก็นำไปย่างไฟ นึ่งหรือทอด ก็จะเหนียวนุ่มอีกครั้ง อย่างไรก็ตามปัจจุบันชาวบ้านไม่นิยมทำขนมปาด เองเนื่องจากกรรมวิธีค่อนข้างยาก ซึ่งชาวบ้านมักจะหาซื้อขนมไทยตามตลาดที่พ่อค้าแม่ค้านำมาขายเพื่อไปทำบุญที่วัดแทน จึงทำให้ปัจจุบันจะหาทานขนมปาดได้ยาก

สำหรับ ขนมปาด หรือ เข้าหนมปาด เป็นขนมพื้นบ้านของชาวล้านนา บางพื้นที่กล่าวกันว่าเป็นขนมของชาวไทลื้อที่อาศัยอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆของภาคเหนือ มีมานานมากกว่า 60 ปี เป็นขนมที่ทำขึ้นเพื่อนำไปทำบุญที่วัดเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่เมืองและเลี้ยงแขกที่มาเที่ยวบ้านตอนสงกรานต์ ส่วนอีกงานคือ งานปอยหรืองานบวช (บวชลูกแก้ว อุปสมบทพระ)โดย 1 ปีมีเพียง 1 ครั้งเท่านั้น ก็จะมีการทำขนมปาดเป็นงานร่วมสามัคคีของชนในกลุ่มเรียกว่า วันกินขนมปาด จะทำก่อนงาน 1 วัน กระทะแรกสำหรับผู้ทำร่วมกันกิน กระทะที่สองไว้ทำบุญเลี้ยงแขก กระทะที่สามห่อนแจกแขกในงาน ลักษณะของขนมปาดนั้น จะคล้ายขนมศิลาอ่อน จะมีสีออกจะน้ำตาลเข้ม มีรสชาติหวานมัน เวลาเคี้ยวจะกรุบกรอบในปากเล็กน้อยจากมะพร้าวเเละงาที่ใช้ในการทำขนม ในวันงานบวช เจ้าภาพจะห่อขนมปาดแจกแขกถือติดมือไปฝากที่บ้านทุกคน

ร่วมแสดงความคิดเห็น