“ฝายมหานิล” ภูมิปัญญาการจัดการน้ำของคนล้านนา

ฝายมหานิล เป็นฝายที่กั๋นลำน้ำแม่สาน อันมีต้นกำเนิดมาจากห้วยแม่สาน ซึ่งอยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำ ก่อนที่ไหลผ่านบ้านจำขี้มด บ้านทุ่งยาว บ้านขัวแคร่ สันคะยอม แม่สานบ้านหลุก บ้านป่าแขม บ้านตองแล้วไหลลงน้ำแม่กวง รวมระยะทางประมาณ 20 กม.ซึ่งหล่อเลี้ยงพื้นที่ไร่นากว่า 2,000 ไร่ 12 หมู่บ้านใน 2 ตำบล อันได้แก่ตำบลศรีบัวบานและตำบลป่าสักพ่อหลวงสรเดช พยัคฆศักดิ์ อดีตพ่อหลวงบ้านสันป่าสัก บอกว่า ทุกปีก่อนถึงฤดูทำนา ราวเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน

จะมีการขุดลอกฝายและทำบุญเหมืองฝาย ซึ่งชาวบ้านถือเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ซึ่งแต่ละท้องที่ก็จะมีพิธีไม่เหมือนกัน อย่างเช่น ต.ศรีบัวบาน ซึ่งอยู่หัวน้ำก็จะมีพิธีเลี้ยงขุนน้ำ ส่วนต.ป่าสักซึ่งอยู่กลางน้ำก็จะมีพิธีทำบุญฝาย “สมัยก่อนชาวบ้านจะมาช่วยกันขุดลอกฝายก่อน 1 วัน แล้วจึงจัดให้มีพิธีทำบุญฝาย นิมนต์พระสงฆ์มาสวดเทศนาธรรมปลาจ่อน (ปลาช่อน) ซึ่งเป็นปริศนาธรรมที่เกี่ยวข้องกับสายน้ำ จากนั้นก็จะถวายข้าวให้กับเทวดาเพื่อช่วยรักษาเหมืองฝาย” ในบางปีที่ฝนแล้ง ชาวบ้านก็จะมีการประกอบพิธีตานก๋วยสลากเพื่อขอฝน โดยชาวบ้านจากบ้านสันป่าสักและสันคะยอม จะช่วยกันสานก๋วยขนาดใหญ่ 25 ใบ ภายในบรรจุข้าวปลา อาหารแห้ง ข้าวต้มขนม ถวายทานไปหาเทวดาเพื่อขอให้ฝนตก ซึ่งถือเป็นพิธีกรรมของชาวบ้านที่เคยอาศัยน้ำจากน้ำแม่สานได้ยึดถือปฏิบัติแม้ว่าในปีนี้ฝนฟ้าจะยังไม่แห้งแล้ง แต่ชาวบ้านก็ได้จัดให้มีพิธีทำบุญฝายกันตามปกติ ซึ่งหลังจากนี้เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าฤดูกาลทำนากำลังจะเริ่ม ทว่าเมื่อหันหลังไปมองรอบ ๆ ผืนทุ่งนากลับพบว่ามีเพียงผืนนาไม่กี่ไร่ที่ถูกปรับไถให้เป็นนาข้าว ส่วนที่เหลือกลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและสวนลำไยไปแล้ว พ่อหลวงสรเดช บอกอีกว่า ปัจจุบันชาวบ้านไม่ค่อยทำนากันแล้ว

เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไปข้าวจากที่เคยปลูกเองก็หาซื้อกิน ลูกหลานสมัยนี้ก็เข้าไปทำงานตามโรงงานนิคมอุตสาหกรรมไม่มีใครอยากลำบากทำนาเหมือนรุ่นพ่อแม่อีกแล้ว “เท่าที่เห็นบางส่วนของชาวบ้านที่มาร่วมงาน เป็นเจ้าของนาแต่ไม่ได้ทำนาแล้ว มาร่วมงานเพราะทำตามฮีตฮอยเก่าและแรงศรัทธาที่มีต่อบุญคุณเหมืองฝาย” อดีตพ่อหลวงบ้านสันป่าสักกล่าว ด้านกำนันสุนทร วิเลิศศักดิ์ กำนันตำบลป่าสัก เล่าถึงการสร้างเหมืองฝายในอดีตว่า สมัยโบราณน้ำแม่สานจะกว้างมาก มีท่าสำหรับล้อวัวลงได้ประมาณ 6 ท่า ได้แก่ ท่าน้ำแม่สาน ท่าวังบ่าแดง ท่าวังกอม่วง ท่าวังน้ำกัด ท่าครูบาและท่ามหานิล แต่การทำเหมืองฝายจะทำกันที่ท่ามหานิล เนื่องจากมีพื้นที่กว้างและมีนาของชาวบ้านอยู่ใกล้เคียง การสร้างฝายมหานิลครั้งแรกนั้น มีการเกณฑ์ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของนาใกล้เคียงและต้องการใช้น้ำ โดยให้นำหลักไม้มาคนละ 5 หลัก และช่วยกันตีฝาย การตีฝายสมัยก่อนจะใช้ฆ้องหน้าแว่นฝังหลักไม้ ลงกลางลำน้ำ ให้เกิดการชลอของสายน้ำ พอถึงช่วงฤดูน้ำหลากน้ำก็พัดเอาหลักไม้พังเสียหาย ชาวบ้านก็ต้องช่วยกันสร้างใหม่ทุกปี กระทั่งปี พ.ศ.2515 ทางกรมชลประทานได้อนุมัติงบประมาณ 2.7 ล้านสร้างฝายคอนกรีตเสริมเหล็กทับของเดิม ชาวบ้านจึงเปลี่ยนชื่อฝายแห่งใหม่นี้ว่า “ฝายมหาโชค” เพราะโชคดีที่กรมชลประทานมาสร้างฝายแห่งใหม่ให้


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนของชาวนาที่ใช้น้ำแม่สานในการปลูกข้าวจะลดน้อยลง ทว่าก็ไม่อาจทำให้แรงศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อสายน้ำแห่งนี้ลดน้อยลงเลย แม้บางปีที่ฝนแล้ง พวกเขาก็ยังคงจัดพิธีกรรมโบราณเพื่อขอให้ฝนฟ้าตก แต่สิ่งหนึ่งที่อยู่ในใจของชาวบ้าน ต.ป่าสัก ก็คือ การได้แสดงพลังอันเกิดจากแรงศรัธาที่มีต่อบุญคุณของสายน้ำแม่สาน

บทความโดย : จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น