สืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น แข่งขันบั้งไฟ หรือ บอกไฟ เพื่อสืบทอดประเพณี จ.น่าน

ที่สนามฝึกยิงปืน มณฑลทหารบกที่ 38 ใช้เป็นที่จุดแข่งขันบั้งไฟบ้านผาสิงห์ ต.ผาสิงห์ อ.เมือง จ.น่าน เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น จุดบอกไฟบูชาพระเจ้าทองทิพย์วัดสวนตาล แข่งขันบั้งไฟ หรือ บอกไฟ เพื่อสืบทอดต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนการแข่งขันจากเทศบาลเมืองน่าน จัดแข่งขันทุกปี การแข่งขันจะแข่งขันหลังวันสงกรานต์ของทุกปี โดยมีประชานให้ความสนใจและส่งเข้าแข่งขันทั้งหมด 149 วาน(ลำ) วาน คือ ลักษณะคำเรียก ของบั้งไฟ โดยแต่ละหมู่บ้านแต่ละอำเภอส่งเข้ามาแข่งขัน รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง แพร่ และ พะเยา ส่งเข้าแข่งขันจำนวน 4 วาน จากแต่ก่อนนั้น ต้องแข่งขันกันถึง 2 วันจนกว่าจะหมดทุกวาน ลักษณะของบั้งไฟนั้น จะต้องมี ความยาวตั้งแต่หัวถึงปลายหางไม่น้อยกว่า 6 เมตร กระบอกบั้งไฟสำหรับบรรจุดินปืน นั้นความยาว 1 เมตร หนา 3 มิลลิเมตร และมีหวูดเสียงจำนวน 6 คู่

การแข่งขันบั้งไฟ จ.น่าน มีมาหลายชั่วอายุคน โดยสมัยก่อนมีขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ แต่ปัจจุบันนี้มีการแข่งขันขนาดเดียวคือบั้งที่บรรจุดินปืน เพื่อดันตัวบั้งไฟขึ้นไปนั้น มีขนาดความยาว 1 เมตร เป็นที่นิยมในการแข่งขัน กติกาการแข่งขันนั้น จะต่างไปจากภาคอื่นๆ คือใครสูงที่สุดจะเป็นผู้ชนะ ซึ่งการแข่งขันบั้งไฟนั้น ทุกวันนี้เริ่มลดน้อยลงไปทุกปี เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยให้ความสนใจในศิลปะวัฒนะธรรมนี้ ความสนุกของการแข่งขันบั้งไฟนั้น อยู่ที่จุดแล้วขึ้น หรือจุดแล้วแตก แต่ส่วนใหญ่แล้วจุดแล้วแตกเสียงเฮจะดังกว่าจุดแล้วขึ้นเนื่องจากจะหมดคู่แข่งไปอีกราย บริเวณคนจุดนั้นจะมีกำบังเพื่อป้องกันอันตรายจากบั้งไฟที่แตก บั้งไฟของแต่ละคนนั้น ขึ้นอยู่กับตำราที่สืบทอดกันมา สมัยก่อนการอัดดินปืนเข้าไปนั้น จะใช้คนตอกแต่สมัยนี้ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องอัดแบบไฮโดรริค ซึ่งสามารถอัดได้แน่นกว่าและเยอะกว่า ทำให้บั้งไฟนั้นขึ้นได้สูง ดูจากตัวบั้งไฟแล้ว จะขึ้นเป็นปล้องๆเนื่องจากมีการอัดเพื่อให้แน่น จนทำให้เหล็กความหนา 3 มิลลิเมตร นั้นขยายตัว โดยสล่าทุกคนนั้นจะมีตำราที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นเป็นของตัวเอง หรือเรียกได้ว่า วิชาของใครของมัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น