พญาสิงหนาทราชา เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอน

ด้วยเหตุแห่งความยากลำบากของการเดินทาง ดูเหมือนทำให้แม่ฮ่องสอนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ชาวแม่ฮ่องสอนที่ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายเผ่า วิถีชีวิตอันเรียบง่ายมีวัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างกันและแทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ยิ่งไปกว่านั้นทั่วทั้งแผ่นดินของแม่ฮ่องสอนยังเต็มไปด้วยความรุ่งเรืองในอดีต ที่สืบเนื่องยาวนานหลายทศวรรษ ทั้งวัดวาอารามและวัตถุสถานต่าง ๆ ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ทุกหนแห่งตราบเท่าทุกวันนี้ วิถีชีวิตของผู้คน วัฒนธรรมประเพณี ธรรมชาติอันแปลกตา ไม่ว่าจะเป็นโถงถ้ำอันตระการตา น้ำพุร้อน ทะเลหมอก ขุนเขาอันสลับซับซ้อนและสายธารน้อยใหญ่ ได้กลายเป็นเสน่ห์สำคัญที่ทำให้แม่ฮ่องสอน เป็นศูนย์รวมของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ขึ้นชื่อที่สุดของประเทศ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ได้แต่ปรารถนาที่จะเดินทางมาเยี่ยมเยือนและใช้ช่วงชีวิตแสนสุขในดินแดนแห่งนี้มากยิ่งขึ้น

ย้อนกลับในดูอดีตของเมืองแห่งนี้ เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2374 สมัยพระเจ้ามโหตรประเทศ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้ให้เจ้าแก้วเมืองมา เป็นแม่กองนำไพร่พลช้างต่อและหมอควาญ ออกไปจับช้างป่ามาใช้งาน เจ้าแก้วเมืองมายกไพร่พลข้ามภูเขามาทางตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งในอดีตมีช้างป่าชุกชุมมาก โดยมอบหน้าที่ให้พะกาหม่อง เป็นผู้ควบคุมดูแลเมื่อคล้องช้างได้จำนวนหนึ่งแล้ว จึงพากันเดินทางต่อไปจนถึงชุมชนบ้านป่า อยู่ในทำเลดีมีร่องน้ำลำธารและที่ราบ เหมาะแก่การฝึกช้างป่า เจ้าแก้วเมืองมาจึงได้พักไพร่พลและตั้งบ้านเรือนขึ้นที่นี่และตั้งชื่อของหมู่บ้านนั้นว่า “แม่ร่องสอน” หมายถึงร่องน้ำที่สำหรับฝึกสอนช้าง ต่อมาหมู่บ้านนี้ได้เพี้ยนเป็น “แม่ฮ่องสอน”

กระทั่งถึงปี พ.ศ.2399 มีชาวไทใหญ่อพยพหลบภัยสงครามเข้ามาอาศัยอยู่ที่บ้านแม่ร่องสอนเป็นจำนวนมาก โดยมีเจ้าฟ้าโกหล่าน และ ชานกะเล เป็นหัวหน้า เมื่อมาอยู่ที่นี่ชานกะเลได้ช่วยงานต่าง ๆ จนเป็นที่โปรดปรานของพะกาหม่อง ถึงกับยกลูกสาวชื่อนางไสให้เป็นภรรยา ต่อมาชานกะเล อพยพครอบครัวลงใต้มาอยู่ที่เมืองกุ๋นลม หรือ ขุนยวมในปัจจุบัน ได้เป็นเจ้าเมืองกุ๋นลมคนแรก ต่อมานางไสถึงแก่กรรม เจ้าฟ้าโกหล่านจึงได้ยกหลานสาวชื่อเจ้านางเมี๊ยะให้เป็นภรรยาชานกะเลปกครองเมืองกุ๋นลม จนมีความรุ่งเรืองมุ่งคั่ง ส่งส่วยตอไม้ให้กับเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้มากมาย จนถึง พ.ศ.2417 เจ้าอินทวิชยานนท์ จึงแต่งตั้งชานกะเลเป็นพญาสิงหนาทราชา แล้วสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรก

นับตั้งแต่นั้นมาเมืองแม่ฮ่องสอน มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ มีกลุ่มชนเผ่าไทและชาวไทยภูเขาอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองแม่ฮ่องสอนมากขึ้น แต่ทว่ากลุ่มชนที่ได้ชื่อว่าเป็นพลเมืองหลักของที่นี่ก็หนีไม่พ้น ชนชาว “ไต” หรือ “ไทใหญ่” ซึ่งมีมากถึง 70% เมื่อเดินทางไปเยือนแม่ฮ่องสอนจึงสามารถพบเห็นศิลปกรรมของชาวไตกระจายอยู่ทั่วเมือง ว่ากันว่าวัดไทใหญ่ในแม่ฮ่องสอนมีอยู่หลายวัดซึ่งมีความงดงามตามสถาปัตยกรรม การเดินทางเที่ยวชมวัดในเมืองแม่ฮ่องสอนใช้เวลาไม่มากนักเพราะวัดแต่ละวัดตั้งอยู่ไม่ห่างจากกัน วัดพระธาตุดอยกองมู เดิมชื่อวัดปลายดอย ถือได้ว่าเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองแม่ฮ่องสอนมาตั้งแต่อดีต วัดนี้ตั้งอยู่บนดอยกองมู เมื่อเวลาที่ขึ้นไปบนวัดนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองแม่ฮ่องสอนได้อย่างชัดเจน วัดพระธาตุดอยกองมูมีเจดีย์แบบมอญอยู่ 2 องค์ องค์ใหญ่สร้างโดย จองตองสู่ เมื่อปี พ.ศ.2403 ส่วนองค์เล็ก สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2417 สมัยของพระยาสิงหนาทราชาเป็นเจ้าเมืองแม่ฮ่องสอน ถ้าเดินทางมายังแม่ฮ่องสอนแล้วไม่ได้ขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยกองมูถือว่ายังมาไม่ถึงแม่ฮ่องสอน

บทความโดย : จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น