สดร. เผย “พายุสุริยะ” ไม่ใช่สาเหตุโลกร้อนวอนคนไทยอย่าตระหนก

ตามที่มีข่าวเผยแพร่ทางโลกโซเชียล ในประเด็น “พายุสุริยะจะพุ่งปะทะโลก ใน 48 ชม. เป็นผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นทั้งในไทยและทั่วโลก” นั้น กรณีดังกล่าวเป็นเพียงข่าวลวง พายุสุริยะไม่มีผลทำให้อุณภูมิโลกสูงขึ้น เหตุโลกร้อนที่แท้จริงเกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ

​ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด พายุสุริยะไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออุณภูมิหรือเกิดอันตรายต่อโลก จะมีผลกระทบเพียงระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และระบบการสื่อสาร จีพีเอส เทคโนโลยีดาวเทียมบ้างเล็กน้อยเท่านั้น ที่เป็นข่าวลักษณะดังกล่าวอาจจะเป็นเพราะมีการนำข้อมูลมาเชื่อมโยงกันเกี่ยวกับดวงอาทิตย์และโลก ประกอบกับขณะนี้เมืองไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อนพอดี ปรากฏการณ์ที่มีผลต่ออุณภูมิโลกในขณะนี้น่าจะเกี่ยวกับปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา ซึ่งในปีนี้สาเหตุที่ทำให้โลกร้อนกว่าปกติคือ ปรากฏการณ์เอลนีโญ

​ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ดวงอาทิตย์เป็นก้อนแก๊สขนาดใหญ่มีปฏิกิริยาภายในเป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน ที่บริเวณผิวของดวงอาทิตย์นอกจากจะมีอุณหภูมิสูงมากแล้วก็ยังมีปรากฏการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย อาทิ ปรากฏการณ์การลุกจ้า (Solar Flare) ปรากฏการณ์การเกิดจุดบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) ปรากฏการณ์การปลดปล่อยมวลของดวงอาทิตย์ (Coronal mass Ejection :CME) เป็นต้น การเกิดปรากฏการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั้นล้วนแล้วแต่เป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กบนดวงอาทิตย์ทั้งสิ้น

ในกรณีของการปลดปล่อยมวลของดวงอาทิตย์ กลุ่มมวลที่ถูกปลดปล่อยออกมาจะอยู่ในรูป “พลาสมา” หรือสถานะที่อะตอมของธาตุอยู่ในสภาพเป็นไอออน เป็นประจุไฟฟ้าพลังงานสูง หากมีการระเบิดที่รุนแรงขึ้นจนทำให้กลุ่มพลาสมาเหล่านี้มีความเร็วในการเคลื่อนที่สูงมาก เราเรียกกลุ่มพลาสมาเหล่านี้ว่า “พายุสุริยะ” (Solar Storm) การปลดปล่อยมวลจนทำให้เกิดพายุสุริยะจะมีความสัมพันธ์วัฏจักรของดวงอาทิตย์ ซึ่งมีวงจรประมาณ 11 ปี เมื่อดวงอาทิตย์มีจุดบนดวงอาทิตย์จำนวนมาก (Solar Maximum) สนามแม่เหล็กบริเวณดังกล่าวก็เกิดความปั่นป่วน มีการสะสมพลังงานมากขึ้นจนถึงจุดวิกฤตทำให้เส้นแรงแม่เหล็กที่บิดพันกันเป็นเกลียวขาดออกจากกันและเกิดการปลดปล่อยมวลออกสู่อวกาศ ในทุกทิศทุกทาง ซึ่งความเร็วและรุนแรงของกลุ่มประจุไฟฟ้าพลังงานสูงจะขึ้นอยู่กับ ความรุนแรงในการระเบิดหรือการปลดปล่อยมวลของดวงอาทิตย์เอง

พายุสุริยะ ไม่สามารถทำอันตรายแก่สิ่งมีชีวิตและสิ่งปลูกสร้างบนโลกได้ เนื่องจากโลกของเรามีสนามแม่เหล็กเป็นเกราะป้องกัน เมื่อ ประจุไฟฟ้าพลังงานสูงหรือพลาสมานั้นเดินทางมาถึงโลกจะเคลื่อนตัวไปตามแนวเส้นแรงของสนามแม่เหล็กโลกแล้วพุ่งไปยังชั้นบรรยากาศของโลก อนุภาคเหล่านี้จะชนกับอะตอมของแก๊สในชั้นบรรยากาศ เกิดการแตกตัวและเปล่งแสงสีสันสวยงามให้เราเห็น นั่นคือ แสงออโรรา (Aurora) หรือแสงเหนือ – ใต้ ที่เรารู้จักนั่นเอง ดร.ศรัณย์กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น