ดันสร้างทางลอดภูเขาเชื่อม เชียงใหม่ – สะเมิง – แม่ฮ่องสอน

โครงการศึกษา โครงข่ายเชื่อมโยงเชียงใหม่ -สะเมิง-แม่ฮ่องสอน ของกรมทางหลวง เริ่มเปิดตัวช่วงปี 2546-47 กับงบราวๆ 2 พันกว่าล้านบาท เป็นการศึกษาทางหลวงแนวใหม่ ในความยาว 170 กม.
ชาวแม่ฮ่องสอน น่าจะจดจำภาพ ปี 47 กับปี 61 ว่าคล้ายๆกัน เพราะมีคำมั่นสัญญาว่าจะ”เร่งผลักดัน” โครงการนี้ให้บรรลุเป้าหมาย ช่วงปี 47 นั้น มีการว่าจ้าง 4 บริษัทดัง ทำการศึกษา สำรวจ ได้ 3 ทางเลือกคือแม่ฮ่องสอน-สะเมิงระยะทาง 73 กม, 62.9 กม.และ 54 กม.
เส้นทางจะเริ่มบริเวณ ต.จองคำ สี่แยกสวนสาธารณะเทศบาล ผ่านบ้านท่าขุโหล่ บ้านห้วยจอง ต.ห้วยปูลิง ผ่านบ้านแม่ตะละ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ไปจนถึง อ.สะเมิง เชื่อมต่อ ทล. 1269.บรรจบทล.108 ที่สี่แยกหางดง จ.เชียงใหม่ แบบ 54 กม.น่าจะลงตัวที่สุด รวมระยะทางทั้งสาย ราวๆ 170 กม.
ชาวบ้านจะเรียกกันว่า ทางห้วยปูลิง ช่วงฤดูฝน ยากลำบากในการสัญจร แทบใช้การไม่ได้ หน้าแล้งก็ฝุ่นตลบ
การออกแบบเบื้องต้น ถนนบางช่วงต้องขุดเจาะอุโมงค์ เนื่องจากผ่านภูเขาสูง และบางช่วงต้องสร้างสะพานยกระดับข้ามลำห้วย การเจาะภูเขาเป็นอุโมงค์ จะมี 5 จุด ความยาวรวม 13.05 กม.อยู่ในเขตแม่ฮ่องสอน 3 จุด โดยจุดแรกยาว 3.2 กม,จุดสอง 3.3 กม. และจุดสาม 2.4 กม. อยู่ในเขตเชียงใหม่ 2 แห่ง จุดแรกยาว 2.9 กม.และ 1.25 กม. เดินทางไปกลับ เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน แค่ 2-3 ชม.เท่านั้น วงเงินก่อสร้าง น่าจะขยับมาอยู่ที่ 3-4 หมื่นล้านบาท
เป็นที่ทราบกันดีว่า นอกจากโดยสารเครื่องบินแล้ว การเดินทางจากเมืองแม่ฮ่องสอนมาเชียงใหม่ ปัจจุบันใช้ 2 เส้นทางหลัก คือ ถนนผ่าน อ.แม่สะเรียง และ อ.ขุนยวม ระยะทาง 349 กม. ใช้เวลาเดินทาง 6-7 ชม.และเส้นทางผ่าน อ.ปาย ยาว 245 กม. ใช้เวลาเดินทาง 4-5 ชม.
ที่ผ่านๆมา มีโครงการพัฒนา ปรับปรุงเส้นทาง 108 และ 1095 อย่างต่อเนื่อง แต่ความโค้ง ชัน ใน 2 ถนนยังยากลำบาก ฤดูฝนมักประสบปัญหาดินโคลนถล่มทับเส้นทาง ผิวถนนชำรุดง่าย รถขนาดใหญ่ไม่สามารถขนส่งในเส้นทาง 1095 ได้ เพราะสูงชัน คดเคี้ยว ทั้งๆที่มีระยะทาง 245 กม.เท่านั้น การขยายผิวทางจาก แม่มาลัย อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ มายัง อ.ปาย ด้วยงบ 4 พันกว่าล้าน จะเริ่มศึกษาความเหมาะสมก็อีก 2-3 ปี
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) แม่ฮ่องสอน,กรอ.ภาคเหนือ 1,ประชาชนที่ใช้เส้นทาง เชียงใหม่ -แม่ฮ่องสอน และหลายภาคส่วน ร่วมนำเสนอปัญหา ความต้องการไปยังภาครัฐฯมาโดยตลอด จนได้รับงบพัฒนาผิวถนน ปรับช่วงทางขึ้นเขาเป็น 3 ช่องทางจราจร ปรับโค้งถนนให้ง่ายต่อการสัญจร แต่ยังไม่ครบถ้วนทั้งสายทาง
ตลอดจนแผนปรับถนน 1263 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชียงใหม่-อินทนนท์-ขุนยวม เส้นทาง105 กระตุ้นการท่องเที่ยว ท่าสองยาง – แม่สะเรียง-แม่ฮ่องสอน ยังล่าช้า หากมีการก่อสร้างถนน แม่ฮ่องสอน -วัดจันทร์-สะเมิง จะทำเป็นถนนสายท่องเที่ยว เส้นทางหลักเพิ่มอีก และรองรับการค้าเสรีอาเซียน จากเชียงใหม่ ไปแม่ฮ่องสอน เชื่อมโยงเมืองเนปิดอว์ เมืองหลวงเมียนมาได้ด้วย
การนำเสนอแผน สร้างถนน ทางลอดอุโมงค์จาก อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ มายัง จ.แม่ฮ่องสอน ระยะทาง 170 กม. จีนสนใจร่วมลงทุน ด้วยมองเห็นศักยภาพโอกาสในการขนถ่ายสินค้า ด้านโลจิสติกส์ หากมองความคุ้มค่างบลงทุน 3-4 หมื่นล้านบาท คำกล่าวของรองนายกฯที่คุมด้านเศรษฐกิจ และมีโอกาสไปเยือนแม่ฮ่องสอน เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ระบุว่า จะมองเพียงผลตอบแทน เป็นรายรับด้านเดียวไม่ได้ ต้องมองการสร้างโอกาส กระจายความเจริญ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไปสู่หัวเมืองรองต่างๆ เป็นองค์ประกอบสำคัญด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น