เรือหางแมงป่อง เรือขนสินค้าในอดีตที่ถูกลืม!

การสัญจรในอดีตนั้นไม่มียานพาหนะที่สามารถทำให้เราเดินทางได้อย่างสะดวกสบายในปัจจุบัน บวกกับเส้นทางการจราจรทางบกที่ไม่อภิรมย์เท่าไรนัก การเดินทางทางน้ำจึงถือเป็นทางเลือกที่ดีในการสัญจร เนื่องจากในอดีตกาลนั้นมีท่าให้จอดเรือมากมาย และการเดินเรือทางคลองหรือแม้น้ำก็ได้รับความนิยมอย่างสูง ซึ่งในสมัยก่อนเรือหางแมงป่องมีบทบาทมากที่สุดในแม่น้ำปิง ผู้โดยสารหรือพ่อค้าที่อยู่ทางภาคกลาง และหัวเมืองฝ่ายเหนือ เช่น ที่เชียงใหม่ กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ หรือจังหวัดน่าน ได้อาศัยเรือเหล่านี้เดินทางไปธุระ และค้าขายติดต่อกันเสมอถึง กับขนานนามให้แก่ “เรือหางแมงป่อง” นี้ว่าเป็น “สิงห์แม่น้ำปิง”

ซึ่งวันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพาผู้อ่านไปเจาะลึกถึงที่มาของ “เรือหางแมงป่อง” ยานพาหนะยอดนิยมของคนในสมัยก่อนว่ามีความสำคัญอย่างไร มีความเป็นมาอย่างไร และถูกใช้ในสถานการณ์ใดบ้างให้ผู้อ่านได้กระจ่างแจ้ง คลายความคลางแคลงสงสัยดังต่อไปนี้

เรือหางแมงป่องในอดีต

เรือหางแมงป่อง มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “เรือแม่ปะ” เป็นเรือที่ใช้รับส่งผู้โดยสาร และบรรทุกสินค้าตามลำแม่น้ำ มีประทุน 2 ตอนอยู่ตรงกลางลำเรือ และที่ท้ายเรือ หางเรือมีลักษณะงอนขึ้นคล้ายหางของแมงป่องจึงถูกเรียกว่า “เรือหางแมงป่อง” การเดินทางโดยเรือนี้ ลำน้ำบางแห่งตื้นเขินจนท้องเรือติดทรายใต้ผ้า ลูกเรือต้องช่วยกันลงเป็นเรือเข้าสู่ร่องน้ำ บางแห่งก็เป็นเกาะแก่งซ้ำยังมีโขดหินแหลมคม เรือแต่ละลำจึงต้องมีลูกเรือหลายคน

มีการสันนิษฐานว่า เรือนี้ถูกใช้ในสมัย “พระนางจามเทวีแห่งกรุงหริภุญชัย” โดย “เรือหางแมงป่อง” เป็นเรือที่เจ้านายฝ่ายเหนือใช้ ซึ่งยุคที่ถือได้ว่าเป็นยุคทองของเรือหางแมงป่องนั้น อยู่ในรัชสมัยของ “เจ้าอินทรวิชยานนท์” (เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ลำดับที่ 7 ) ซึ่งเป็นพระบิดาของ “เจ้าดารารัศมี” ในสมัย “สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” (รัชกาลที่ 5) ได้ทรงทูลขอเจ้าดารารัศมีไปเป็นชายา พระองค์ทรงสร้าง “เรือหางแมงป่อง” ขึ้นเพื่อให้เจ้าดารารัศมีเสด็จไปยังพระนคร แต่ถัดมาในยุคหลังจากนั้นเรือหางแมงป่องถูกใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่าง กรุงเทพฯ – เชียงใหม่

เรือหางแม่งป่องในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามในสมัยนั้นภูมิประเทศส่วนมากมีลักษณะทุรกันดาร จึงทำให้ไม่สามารถกำหนดได้แน่นอนว่าจะถึงตามระยะทางที่คาดหมายไว้ได้หรือไม่ บางครั้งชาวเรือจึงต้องหาที่พักค้างแรมตามสถานที่ต่างๆ ตามความเหมาะสมเพื่อความปลอดภัยของตนเอง และการเดินทางในแต่ละครั้งจะต้องรอสินค้า และผู้โดยสารจนเต็มลำจึงจะออกเดินเรือ อีกทั้งยังต้องไปคราวละหลายๆ ลำเพื่อจะได้คอยช่วยเหลือกันระหว่างนำเรือทวนขึ้นแก่ง และเพื่อป้องกันโจรผู้ร้ายดักปล้นระหว่างทางอีกด้วย

เรือหางแมงป่องจอดเทียบท่าบริเวณวัดศรีโขง

“เรือหางแมงป่อง” ยังถูกดัดแปลงเป็นเรือตามเสด็จ ซึ่งเป็นเรือที่ข้าราชบริพารใช้ตามเสด็จอารักษ์ขา “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ลักษณะคือกลางลำเรือใส่ประทุนไว้บังฝนบังแดดให้ผู้โดยสาร ท้ายเรือเป็นเก๋งไว้เก็บสัมภาระ ใช้เสด็จตามขบวนใน “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ทอดพระเนตรกิจการบ้านเมือง ตามเมืองใหญ่น้อย ในพระราชอาณาเขตทั่วทุกเมืองไม่มีเว้น ในราวปี พ.ศ.2444 จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “เรือหางแมงป่อง” นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในสมัยก่อน

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : บุญเสริม สาตราภัย. เสด็จล้านนา 1. กรุงเทพฯ: ทิพย์วิสุทธ์, 2532 และ www.tcdcconnect.com
ภาพจาก : เพจ กลุ่มเผยแพร่ กรมศิลปากร

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น