“ฝายน้ำคนเมียง” ฝายน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตชาวล้านนาในอดีต

มีคำเปรยที่กล่าวไว้ว่า “น้ำคือชีวิต” น้ำ เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิตบนโลกนี้ และคงไม่ต้องสาธยายความสำคัญของน้ำให้ยืดยาวก็คงจะรู้กันดี ซึ่งในอดีตกาลที่ไม่ได้มีระบบประปาที่มีคุณภาพ และทั่วถึงเท่าปัจจุบัน จึงต้องมีเก็บน้ำไว้ใช้ เมื่อเข้าสู่หน้าฝนในช่วงเดือนมิถุนายน จนถึงสิงหาคม ชาวล้านนาสมัยก่อนจะร่วมกันทำสิ่งประดิษฐ์เก็บน้ำที่เรียกกันว่า “หลักฝาย” แล้วช่วยกันไปตีฝายกั้นแม่น้ำเพื่อทดน้ำเข้าไร่นา

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” ได้นำเรื่องราวของฝายน้ำของชาวล้านนาโบราณ ที่สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูการทำการเกษตรที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวล้านาในสมัยก่อนให้ผู้อ่านได้อ่านกัน

น้ำที่ไหลลงจากฝาย

หลักฝายนั้นทำด้วย “ไม้ไผ่ฮวก” หรือ “ไม้ไผ่รวก” ที่มีความยาวราวๆ วาเศษๆ เหลาปลายให้แหลม และมีการกำหนดให้ทำตามจำนวนที่หลักจารีตชาวนาบอกต่อๆ กันมา เช่น นาหนึ่งไร่ต้องทำหลักฝายสามเล่ม เป็นต้น ดังนั้นหากใครมีนานับร้อยไร่ ก็ต้องทำหลายร้อยเล่มเช่นกัน

เนื่องจากแม่น้ำใหญ่ย่อมมีผู้คนหลายหมู่บ้าน ผืนนานับพันนับแสนไร่ที่รอรับน้ำจากแม่น้ำใหญ่ จึงมีการจัดให้หัวหน้าในแต่ละหมู่บ้านรอรับข่าวจากล่ามฝายอีกทอดหนึ่ง “หัวหน้าฝาย” ในแต่ละหมู่บ้านนี้จึงมีความสำคัญในระดับที่ลงลึกถึงรากหญ้าของชาวนาในแต่ละหมู่บ้าน

ฝายชะลอน้ำ

เมื่อถึงเวลาตีจะฝาย หัวหน้าเหมืองฝายก็จะกำหนดเกณฑ์ต่างๆ ที่ร่วมกันตั้งไว้ แล้วบอกไปยังล่ามฝายผู้ที่มีหน้าที่ประกาศข่าวให้แก่ชาวนาชาวไร่รับรู้เพื่อให้ร่วมกันปฏิบัติตาม ซึ่งหากใครไม่ปฏิบัติตามปีนั้นๆ ก็จะไม่มีน้ำเข้าไร่นาของตนเอง

เมื่อถึงเวลา บรรดาชาวนาต่างแบกหลักฝายของตนไปร่วมตีฝายที่หอฝีฝายสถานที่กั้นแม่น้ำใหญ่บรรดาชาวนาต่างพากันทำพิธีไหว้ขอขมาหอผีฝาย เลี้ยงผีฝายก่อนเพื่อขออนุญาตกระทำในสิ่งที่ฝืนธรรมชาติเพราะกั้นกระแสน้ำให้ผิดปกติเพื่อยกระดับสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

หลังจากนั้นบรรดาชาวนานับพันคนต่างพากันลงน้ำเพื่อนำหลักฝายปักลงพื้นทรายใต้น้ำ และใช้ “ค้อนหน้าแหว้น” หรือ “ตะลุมพุก” เข้าหวดตีหัวหลักฝาย บ้างก็นำไม้ไผ่รวกหรือไผ่ซางเล่มใหญ่มาผ่าสานเป็นซองแล้วนำก้อนหินใหญ่เท่าลูกแตงโมหลายๆ ก้อนใส่ลงไปแล้วผูกปากซอง ช่วยกันหามลงใส่โคนหลักฝายหรือฐานแผงหลักฝายเพื่อป้องกันมิให้กระแสน้ำเลาะหลักฝายให้หลุดลอยเสียหาย ลูกซองไม้ไผ่นี้เองบรรดาชาวนาเรียกกันว่า “ลูกจั๊กเข้” เพราะมีลักษณะคล้าย “จั๊กเข้” หรือจระเข้ตัวโตนั่นเอง

ชาวบ้านช่วยกันทำฝายน้ำ

มื่อตีหลักฝายลงมากเท่าใดก็จะต้านกระแสน้ำให้สูงขึ้นๆ จนระดับน้ำไหลเข้าสู่เหมืองใหญ่แยกกระแสน้ำเข้ามาสู่ผืนแผ่นดิน สายน้ำไหลเข้าสู่ลำเหมืองบรรดาชาวนาที่ต้องการน้ำจากเหมืองต้องช่วยกันน้ำอีกช่วงหนึ่ง แผงกั้นน้ำของชาวนาในลำเหมืองใหญ่นี่เองชาวล้านนาเรียกกันว่า “แต”

“แผงแต” จะกั้นกระแสน้ำสูงขึ้นสายน้ำไหลเข้าสู่ลำเหมืองเล็กเรียกกันว่า “เหมืองไส้ไก่” เป็นลำเหมืองเล็กๆที่สำคัญเพราะน้ำจากเหมืองไส้ไก่นี่เองจะเข้าสู่ผืนนาโดยผ่านช่องที่ขุดจากคันนาให้เป็นร่องเรียกกันว่า “ต๊างนา”

ซึ่ง “ต๊างนา” นี้เอง จะระบายน้ำเข้าสู่ผืนนา ขณะเดียวกันก็จะเป็นช่องระบายน้ำออกจากนาหากมีความจำเป็น เมื่อถึงเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ชาวนาจะระบายน้ำออกจากนี้เรียกกันว่า “ยอยน้ำ” คือ การทยอยเอาน้ำออกจากผืนนาให้หมดเพื่อให้ง่ายแก่การลงเก็บเกี่ยวรวงช้าวนั่นเอง

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : NIKHOM PHROMMATHEP
ภาพจาก : www.posttoday.com, thaipublica.org และ noksomrung.blogspot.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น