เกยฮู้ก่อ? “แม่ปิง” และ “แม่ระมิงค์” คือแม่น้ำสายเดียวกัน

มีคำนิยามที่กล่าวไว้ว่า “น้ำคือชีวิต” ซึ่งเป็นคำที่คงไม่มีใครคัดค้าน ซึ่งอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ในอดีตก็ล้วนมีจุดกำเนิดมาจากริมแม่น้ำทั้งสิ้น

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” ขอนำเสนอความจริงเกี่ยวกับ “แม่น้ำปิง” หรือ “แม่น้ำระมิงค์” ที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน

“แม่น้ำปิง” ถือเป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงคนเชียงใหม่มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม่น้ำปิงมีความสำคัญทางด้านการค้าขายเนื่องจากในอดีตผู้คนนิยมค้าขายทางน้ำโดยล่องตามลำน้ำปิงไปขายสินค้าตามเมืองต่างๆจนถึงภาคกลางบริเวณปากน้ำโพ (จังหวัดนครสวรรค์) เมื่อรถไฟเข้ามาถึงเชียงใหม่ในปีพ.ศ.2464 การค้าขายทางน้ำก็หายไป นอกจากนั้นแม่น้ำปิงยังเป็นแหล่งทรัพยากรให้แก่คนเชียงใหม่อีกด้วย เช่น การหาปลา การทำการเกษตร เป็นต้น แม่น้ำปิงนับว่าเป็นแม่น้ำที่สำคัญต่อคนเชียงใหม่อย่างมากคนเชียงใหม่ต้องสำนึกรักแม่น้ำปิงและควรทราบประวัติความเป็นมาของแม่ปิงหรือแม่ระมิงค์ ดังต่อไปนี้

การล่องแพในแม่น้ำปิงในอดีต

หากย้อนรอยตำนานแม่น้ำของ “ชาวลัวะ” ทำให้พบว่าสมัยก่อนชนพื้นเมืองที่อยู่แถบล้านนาใกล้กับ “ดอยหลวงเชียงดาว” จะให้ความนับถือ “เจ้าหลวงคำแดง” ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งขุนเขายอดดอยที่เรียกว่า “อ่างสลุง” (อ่านว่าสะหลุง) หมายถึงยอดดอยที่มีลักษณะเป็นขันน้ำ หรือสลุงของคนล้านนาซึ่งคอยเก็บกักน้ำฝนให้ไหลผ่านซึมแทรกขุนเขารากไม้ลงมายังถ้ำเชียงดาวกลายเป็นต้นสายน้ำหนึ่งที่ไหลออกจากปากถ้ำเชียงดาวด้วยลักษณะที่ไหลออกปากถ้ำนี้เองผู้คนชาวลัวะจึงเรียกขานกันว่า “น้ำแม่ระมิงค์”

ชาวลัวะบางเผ่าเรียกถ้ำว่า “ระมิงค์” จึงให้ชื่อน้ำที่ไหลออกจากปากถ้ำเชียงดาวว่า “น้ำแม่ระมิงค์” ดังกล่าวแล้ว และชนชาวลัวะยังได้นำคำว่า “ระมิงค์” มาเป็นชื่อของราชวงค์ลัวะซึ่งเป็นราชวงค์สุดท้ายของชาวลัวะที่ล่มสลายโดยการปราบปรามของพระนางเจ้าจามเทวีแห่งเมืองหริภุญชัย (ลำพูน)

แพที่จอดริมฝั่งแม่น้ำปิงในอดีต

กษัตริย์ชาวลัวะองค์สุดท้ายพระนามว่า “ขุนหลวงมะลังก๊ะ” หรือภาษาไทยกลางเรียกกันว่า “ขุนหลวงวิลังคะ” นั่นเอง พระองค์ทรงหลงรักพระนางเจ้าจามเทวีเป็นอย่างยิ่งถึง กับต้องรบต้องสู้เพื่อชิงเอานาง แต่ที่สุดก็พ่ายแพ้พระนางจามเทวี และตรอมใจจนทรงชราภาพเสด็จสวรรคตราวปี พ.ศ.1227 ศิริอายุได้ประมาณ 90 ชันษา

กลับมาพูดถึงน้ำแม่ระมิงค์ ชื่อนี้ยังมีผู้คนส่วนมากที่ออกเสียงยาก และยืดยาว จึงนิยมเรียกตามชื่อเมืองของลัวะอีกเผ่าหนึ่งว่า “เมืองพิงค์” (อ่านว่าเมืองปิง) เพราะเสียงภาษาคนล้านนาออกเสียงตัว พ เป็นเสียงตัว ป เช่น ภาษาไทยกลางว่า พื้น ภาษาล้านนาว่า ปื๊น เป็นต้น

ต่อมาคำเรียกขานคำว่า “แม่น้ำปิง” เป็นที่นิยมกันมากขึ้นจึงเรียกขานกันต่อมาจนปัจจุบันเพื่อให้มี ควาหมายว่า เป็นสายน้ำที่ผู้คนได้เปิ้งปิง (พึ่งพิง) ใช้เลี้ยงชีวิตผู้คนให้เป็นสุขตราบนิรันดร์

ภาพถ่ายมุมสูงแม่น้ำปิงบริเวณขั๋วเหล็กในอดีต

ทุกปีผู้คนแถบลุ่มน้ำปิงตอนบนใกล้ๆ กับดอยหลวงเชียงดาวจะร่วมกันไหว้สาผีขุนน้ำ หรือไหว้สาผีเจ้าหลวงคำแดงซึ่งถือว่าเป็นเทพผู้รักษาเมือง หรือเป็นเสื้อบ้านเสื้อเมืองชาวล้านนาคล้ายกับท้าวจตุคามนั่นเอง

น่าเสียดายในปัจจุบัน “แม่น้ำปิง” ถูกรังแก ขุดลอกเสียระบบนิเวศน์ไปหมด วิถีการหากินลุ่มน้ำปิงก็หายไปหลายๆ อย่างไม่เหมือนกับแต่ก่อนที่ผู้คนต่างๆ นาๆ ได้เคยวิถีชีวิตผูกพันธ์กับแม่น้ำปิง หากินโดยการจับปลา งมหอยในน้ำปิง

ที่จำได้มีวิธีการจับปลาในน้ำปิงเริ่มตั้งแต่ การตึ้ดแคว, การลงป้ก, การผ้กบ่ม, การลากหญาย, การขับจ๋ำ, การใส่ฮุ้ม, การลอยเบ็ดบ่ะโล่ง, การใส่เบ็ดโขก, การใส่ไซกะต๊ำ, การแทงป๋าฝา (ตะพาบน้ำ) และอื่นๆ อีกหลายวิธีที่แสดงให้เห็นถึงผะหญาภูมิปัญญาคนล้านนาที่ได้สรรค์สร้างวิธีการ เครื่องมือในการหากินลุ่มน้ำอย่างไม่ทำลายธรรมชาติ และเอื้ออาทรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เป็นสุขตามอัตภาพหรืออยู่อย่างพอเพียงจริงๆ

ริมปิงในอดีต

สายน้ำปิงไปบรรจบกับแม่น้ำวังของเมืองลำปางที่จังหวัดตาก และไหลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยเหตุที่มีสายน้ำเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยานี้เองสมัยก่อนจึงมีการตัดไม้สักผูกแพล่องแม่ปิงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสินค้าออก ตามที่พวกเราสมัยก่อนท่องกันว่า “สินค้าออกของไทย มีข้าว ไม้สัก ดีบุกและยางพารา”

แต่ที่แน่ๆ ปัจจุบันไม้สักเหลือแต่เศษเป็นไม้จิ้มฟัน แม้แต่รากสักก็ยังถูกขุดมาใช้ สินค้าไม้สักที่เคยส่งออกก็ต้องจบสิ้นเป็นเพียงตำนานดังที่กล่าวขานในเรื่องแม่น้ำปิง-น้ำแม่ระมิงค์ ดังที่เล่ามาทั้งหมดนี้

โดยสรุปแล้ว แม่ปิงหรือแม่ระมิงค์ เป็นแม่น้ำสายเดียวกันเพียงแต่มีการเรียกชื่อที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและวัฒนธรรมของคนล้านนาที่เข้ามาแทนที่ชาวลั๊ว ชนเผ่าดั้งเดิมที่เคยอาศัยอยู่ในแถบนี้มาก่อนนั่นเอง

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : NIKHOM PHROMMATHEP
ภาพจาก : บุญเสริม สาตราภัย

บทความที่เกี่ยวข้อง


ร่วมแสดงความคิดเห็น