“เมืองแพร่แห่ระเบิด” ประวัติศาสตร์และที่มาของฉายาเมืองแพร่

เคยสงสัยกันไหม ทำไมคนเหนือถึงเรียกจังหวัดแพร่ว่า “เมืองแพร่แห่ระเบิด” บ้างก็กล่าวว่า “คนแพร่แห่ระเบิด” ซึ่งประโยคดังกล่าวนั้นเป็นการหยอกล้อต่อท้ายคำว่าเมืองแพร่ให้คล้องจอง อีกทั้งเป็นคำที่ละเอียดอ่อนในการพูด และช่วง พ.ศ.2500 ก็พบว่าได้เกิดคำล้อเลียนนี้ขึ้นแล้ว โดยเฉพาะคนจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงกับจังหวัดแพร่ เช่น จังหวัดน่านก็นิยมล้อเลียนในช่วงนี้

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะนำผู้อ่านทุกท่านไปรู้ถึงที่มาของประโยคที่หลาย ๆ คนเคยพูดติดปากเมื่อกล่าวถึงจังหวัดแพร่ นั่นก็คือประโยคที่เอ่ยว่า “เมืองแพร่แห่ระเบิด” ซึ่งจะมีที่มาดังนี้

ครั้งหนึ่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง “นายหลง มโนมูล” คนงานรถไฟสถานีแก่งหลวงได้ไปพบลูกระเบิดที่ทิ้งจากเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตร ที่นำระเบิดมาทิ้งเพื่อทำลายสะพานรถไฟข้ามน้ำห้วยแม่ต้า (อยู่ระหว่างสถานีรถไฟเด่นชัยกับสถานี รถไฟบ้านปินอำเภอลอง) เพื่อสกัดการเดินทางของทหารญี่ปุ่นเมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ.2485 – 2488) เป็นคนแรกซึ่งนำระเบิดด้าน (ไม่ระเบิด) จึงได้มาบอกนายสมาน หมื่นขัน ได้ทราบ

สะพานข้ามน้ำแม่ต้า บ้านแม่หลู้ ตำบลบ้านปิน อำเภอลอง ถูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

นายสมานจึงได้ไปดูและขอความช่วยเหลือจากคนงานรถไฟสถานีรถไฟแก่งหลวงที่อยู่ใกล้เคียง ได้แก่ นายชุม ขันแก้ว, นายชัยวัฒน์ พึ่งพอง, นายพินิจ สุทธิสุข, นายย้าย ปัญญาทอง ให้มาช่วยกันขุดขึ้นจากหลุมทรายที่ทับถมอยู่มีจำนวน 2 ลูก (มีขนาดความโตกว่าถังแก๊สชนิดยาว) และทำการถอดชนวนระเบิด แล้วใช้เลื่อยตัดเหล็กตัดส่วนหางของลูกระเบิด ล้วงเอาดินระเบิดออกแล้วเอาดินระเบิดที่ล้วงออกมาได้ นำไปประกอบสร้างระเบิดลูกเล็กๆ ขึ้นใหม่ได้หลายลูก แล้วนำไประเบิดปลาที่แม่น้ำยมได้ปลามากินมากมาย

ด้วยความหนักของลูกระเบิดที่นำขึ้นเกวียนถึงกับทำให้ซ้าวล้อ(คานของเกวียน)หักจนต้องเปลี่ยนใหม่ ส่วนระเบิดลูกที่สามช่วยกันขุดด้วยแรงคน และในหลุมทรายก็ไม่ได้มีความลึกมาก จึงได้ไปตาม นาย บุญมา อินปันตี ซึ่งเป็นเจ้าของช้างลากไม้อยู่บริเวณใกล้เคียงให้นำช้างมาลากลูกระเบิดขึ้นจากหลุมทรายได้ทำการถอดชนวน และล้วงเอาดินระเบิดออกมาสมถบกับสองลูกที่นำมาก่อน แล้วที่บ้านแม่ลู้ ต.บ้านปิน จากนั้นก็ลากโดยบรรทุกบนล้อ(เกวียน) มุ่งเข้าสู่หมู่บ้าน

ระฆังทำจากระเบิดที่วัดแม่ลานเหนือ

ชาวบ้านสองข้างทางทราบข่าว และเห็นล้อ บรรทุกลูกระเบิดตามกันมา 3 คัน ต่างก็เดินตามกันมาเป็นขบวนยาว ผ่านหน้าบ้านผู้ใด ต่างก็เดินเข้ามาสมทบเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย จนมาถึงบ้านแม่ลานเหนือใกล้วัด ชาวบ้านยิ่งออกมาดูกันมากขึ้น ชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่บ้านอยู่ใกล้วัดได้นำฆ้อง-กลองยาว ฉิ่ง-ฉาบ ออกมาต้อนรับขบวนแห่ เหมือนกับการต้อนรับขบวนกฐิน หรือผ้าป่าทำนองนั้น แล้วแห่เข้าวัด ทำการถวายลูกระเบิดให้เป็นสมบัติของวัดเพื่อใช้เป็นระฆัง

ระฆังทำจากระเบิดที่วัดพระธาตุศรีดอนคำ

ส่วนระเบิดลูกที่ 2 ขบวนแห่นำไปถวายที่วัดศรีดอนคำ ต.ห้วยอ้อ สำหรับระเบิดลูกที่ 3 ขบวนแห่นำไปถวายที่วัดนาตุ้ม ต.บ่อเหล็กลอง ปัจจุบัน ระเบิดลูกที่ 1 เก็บไว้ที่วัดแม่ลานเหนือ ต.ห้วยอ้อ ระเบิดลูกที่ 2 เก็บไว้ที่วัดศรีดอนคำ ต.ห้วยอ้อ ส่วนระเบิดลูกที่ 3 เก็บไว้ที่วัดนาตุ้ม ต.บ่อเหล็กลอง ทางวัดได้สร้างหอระฆังสูงไว้รองรับสวยงามมาก แต่หลังจากมีผู้นิยมเล่นของเก่าชนิด หายากและแปลก ๆ ได้มาขอซื้อโดยเสนอราคาให้ถึง 1 ล้านบาท ชาวบ้านเห็นว่ามีราคามากจึงมีมติไม่ขายและเกิดหวงแหนเห็นคุณค่า เกรงจะถูกลักขโมยจึงได้สร้างห้องลูกกรงเหล็กดัดล้อมไว้

ระฆังทำจากลูกระเบิดของวัดนาตุ้ม

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า คนแพร่ในขณะนั้นได้แห่ระเบิดจริง ทว่าไม่ได้แห่เพราะการไม่รู้จักระเบิดจนแตกตายไปครึ่งเมือง แต่ระเบิดที่ได้ทำการแห่นั้น คือระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ได้นำแห่ไปถวายวัดเพื่อทำระฆัง ในอำเภอลอง จังหวัดแพร่นั่นเอง

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
อ้างอิงข้อมูลจาก : ชุติกาญจน์ โลกคำลือ, วารสารวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑๓, หน้า ๓๖.
รูปภาพจาก : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, stamstammii.blogspot.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น