กว่าจะเป๋นเจียงใหม่ ตอนที่ 5 (ตอนจบ) ผนวกดินแดนล้านนาเข้าสู่ฟ้าสยาม

จากความเดิมตอนที่แล้ว “กว่าจะเป๋นเจียงใหม่ ตอนที่ 4 ล้านนาในยุคที่พม่าครอบครอง” ที่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ “สมเด็จพระเจ้าตากสิน” ได้ทรงยกทัพไปตีเชียงใหม่ กรุงธนบุรีจึงได้เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองลำปาง เมืองแพร่และเมืองน่าน เข้ามาอยู่ในพระราชอาณาเขตสยามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2317 ในที่สุด ถือเป็นการสิ้นสุดการครองอำนาจในล้านนาของพม่า

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมานำเสนอเรื่องราวการผนวกเข้ากับรัฐไทย จากเมืองกลายมาเป็นจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดอื่น ๆ ในล้านนาที่ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในภูมิภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งบทความนี้ได้เดินทางมาถึงตอนสุดท้ายแล้ว

พระเจ้ากาวิละ ต้นตระกูลเจ้าหลวงเชียงใหม่แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร

ล้านนาในยุคราชธานีไทย

ในปี พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดฯให้เจ้าพระยาสองพี่น้องคือ “เจ้าพระยาจักรี” (ทองด้วง) และ ”เจ้าพระยาสุรสีห์” (บุญมา) ยกทัพขึ้นตีเวียงเชียงใหม่ โปสุพลาทราบว่าธนบุรียกทัพขึ้นมา จึงให้พระยาจ่าบ้านและ “เจ้ากาวิละ” คุมกำลังพล 1,000 นายเป็นกองหน้าลงไปลำปาง แล้วตนจะยกทัพใหญ่ราวหมื่นนายตามลงไปสมทบหมายจะทำศึกกับทัพธนบุรีที่ลำปาง

เมื่อสำเร็จภารกิจ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ได้สถาปนาพระยาจ่าบ้าน ขึ้นเป็น “พระยาวิเชียรปราการ” ครองนครเชียงใหม่ และตั้งนายก้อนแก้ว ผู้เป็นหลาน ขึ้นเป็น “พระยาอุปราชนครเชียงใหม่” ขณะเดียวกัน ทรงสถาปนาเจ้ากาวิละขึ้นเป็น “พระยานครลำปาง” และให้เจ้าหนานธัมมลังกา เป็น “พระยาอุปราชนครลำปาง” ในฐานะประเทศราชของกรุงธนบุรี

เมื่อพระยากาวิละตีเชียงแสนได้แล้ว เป็นช่วงเวลาที่ “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก” ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระยากาวิละที่นำไพร่พลและเชลยลงไปเฝ้า ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “พระยาวชิรปราการ เจ้านครเชียงใหม่” พร้อมกันนี้โปรดเกล้าให้ เจ้าหนานธัมลังกาเป็นพระยาอุปราชนครเชียงใหม่ และให้เจ้าคำสม เป็นพระยานครลำปาง และเจ้าดวงทิพ เป็นพระยาอุปราชนครลำปาง

เมื่อ “พระยาวชิรปราการ” ขึ้นครองนครเชียงใหม่ ขณะนั้นเวียงเชียงใหม่ยังคงเป็นเมืองร้างที่ไร้ผู้คน พระยาวชิรปราการจึงต้องนำไพร่พลไปพักอยู่ที่เวียงเวฬุคาม นานเกือบ 20 ปี ในระหว่างนั้น ก็ได้ไปกวาดต้อนผู้คนจากที่ต่าง ๆ มาสะสมไว้ที่เวียงเวฬุคาม เพื่อรอฟื้นฟูเวียงเชียงใหม่ จึงเรียกว่ายุคนี้เป็นยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ครั้นสะสมกำลังพลและพลเมืองพอที่จะดูแลเวียงเชียงใหม่ได้แล้ว จึงได้ยาตราเข้าเวียงเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2334 และได้ฟื้นฟูเวียงเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางของล้านนาได้ในเวลาต่อมา โดยได้ขนานนามเวียงเชียงใหม่ว่า “เมืองรัตนตึงษาอภินณบุรี” เมื่อปี พ.ศ. 2343

ต่อมาพม่าได้ตั้งชาวยูนนานฉายาว่า “ราชาจอมหงส์” มาเกลี้ยกล่อมให้นครเชียงใหม่เข้าร่วมด้วยกับพม่า และอ้างตนเป็นใหญ่ล้านนาไท 57 เมืองในนาม “เจ้ามหาสุวัณณหังสจักวัติราช” โดยตั้งมั่นเมืองสาด พระยาวชิรปราการตั้งให้อุปราชธัมลังกาและเจ้ารัตนหัวเมืองยกทัพไปตีที่เมืองสาด สามารถจับกุมราชาจอมหงส์ได้ พร้อมกันได้จับตัว “ส่วยหลิงมณี” ทูตพม่าที่ส่งไปเมืองแกว และนำทั้งสองล่องเรือไปถวายตัวที่กรุงเทพ สร้างความดีความชอบให้แก่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกอย่างมาก

พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระยาวชิรปราการขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ปกครองดินแดนล้านนาไท 57 เมือง เฉลิมพระนามว่า “พระบรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์อินทรสุรศักดิ์ สมญามหาขัตติยราชชาติราไชยสวรรค์ เจ้าขัณฑเสมาพระนครเชียงใหม่ราชธานี” เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2345

ซึ่งพระยากาวิละนั้น ถือว่าเป็นต้นตระกูลเจ้าหลวงเชียงใหม่แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร อันได้แก่

  • พระเจ้ากาวิละ
  • พระยาธรรมลังกา
  • พระยาคำฟั่น
  • พระยาพุทธวงศ์
  • พระเจ้ามโหตรประเทศ
  • พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์
  • พระเจ้าอินทวิชยานนท์
  • เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์
  • เจ้าแก้วนวรัฐ
พระยาธรรมลังกา

หลังจากพระเจ้ากาวิละถึงแก่พิราลัย (พ.ศ. 2356) ในปี พ.ศ. 2359 “พระยาอุปราชน้อยธรรม” (พระยาธรรมลังกา) ได้เข้าเฝ้า “พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” เพื่อถวายช้างพลายเผือกเอก จึงทรงตั้งเป็นพระยาเชียงใหม่ เมื่อกลับถึงเชียงใหม่จึงรับราชาภิเษกในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 9 เหนือ (ตรงกับวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2359) มีพระนามว่า “เสตหัตถีสุวัณณประทุมราชาเจ้าช้างเผือก” และเนื่องจากได้ถวายช้างเผือกจึงได้รับสมัญญาว่าเป็น “เจ้าช้างเผือก” หรือ “พระยาเชียงใหม่ช้างเผือก”

เมื่อปี พ.ศ. 2360 ได้ทรงดำริให้เสนาข้าราชการและประชาชนขุดเหมือง 3 สาย โดยเริ่มที่จุดรับน้ำจากแจ่งหัวลินไปทางแจ่งสรีภูมิ แล้ววนไปทางแจ่งคะท้ำ สายที่สองไปตามถนนหลวงหน้าวัดดับภัยและวัดพระสิงห์ลงไป สายที่สามเลียบตามเชิงเทินทิศตะวันตกไปทางใต้ ผ่านด้านเหนือของ “หอคำ” แล้วเลี้ยวออกท่อที่แจ่งคะท้ำหน้าวัดซานมูน (วัดทรายมูลพม่า ในปัจจุบัน) โดยให้ก่ออิฐทั้งสองข้างของลำเหมืองทุกสาย ประชาชนในตัวเมืองได้ใช้ประโยชน์จากลำเหมืองทั้งสามสาย

กำแพงเมืองเชียงใหม่

นอกจากนั้นยังได้มีการบูรณะซ่อมแซมกำแพงเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2361 ซึ่งกำแพงดังกล่าวถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้ากาวิละ (พ.ศ. 2339) โดยการบูรณะกำแพงเมือง เริ่มการขุดลอกคูเมืองตั้งแต่แจ่งกูเรืองไปจนถึงประตูไหยา มีความยาว 606 วา จนถึงปี พ.ศ. 2363

ในรัชสมัยของ “พระยาพุทธวงศ์” หรือ “เจ้าหลวงแผ่นดินเย็น” (พ.ศ.2369 – พ.ศ.2389) นับได้ว่าเป็นช่วงที่ไม่มีศึกสงคราม อีกทั้งยังมีความเจริญทางเศรษฐกิจ กำลังการผลิตของประชากรมากขึ้น แหล่งเพาะปลูกกว้างขวาง เครื่องมือเครื่องใช้เริ่มมีความสวยงามขึ้น เริ่มผลิตอาหารได้มากขึ้นจนเหลือเฟือในบางครั้ง ตลาดก็เริ่มมีบทบาทเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า จากตลาดนัดกลายเป็นตลาดที่มีสินค้านานาชนิด โดยเฉพาะตลาดกลางการค้าขายบริเวณหน้าวัดพระสิงห์ และขยายไปยังตลาดที่ถนนท่าแพในปัจจุบัน ซึ่งเส้นทางการค้าขายหลักมี 2 เส้นทาง คือ เส้นทางบก (มะละแหม่ง-ล้านนา-รัฐฉาน-ยูนนาน) และเส้นทางเรือ (ลำน้ำปิง กรุงเทพฯ-ล้านนา)

ในยุคนี้จำนวนวัด และจำนวนพระสงฆ์เพิ่มมากขึ้น และมีการคัดลอกคัมภีร์ใบลานต่าง ๆ มากขึ้น นั่นแสดงให้เห็นว่าประชากรได้รับการศึกษามากขึ้นจากแต่ก่อนอย่างชัดเจน

พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์

ถัดมาในสมัยของ “พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์” เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 6 พระองค์ทรงปกครองนครเชียงใหม่ และทำนุบำรุงศาสนาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งยังทรงจัดสร้างระฆังชุดใหญ่ น้ำหนัดทองเท่ากับ 2,095,600 ตำลึง ถวายแด่วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ในปี พ.ศ. 2403 และเป็นผู้จัดตั้งข้อบัญญัติสำหรับการพิจารณาพิพากษาคดีความ ณ เค้าสนามหลวง

ในปี พ.ศ. 2406 กลุ่มเจ้านายฝ่ายเหนือรวมหัวกันกล่าวโทษพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ว่าพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์เอาใจออกห่างกรุงเทพ โดยการถวายเครื่องบรรณการไปยังกษัตริย์พม่าและกษัตริย์พม่าก็ถวายสิ่งของตอบ ทางกรุงเทพได้เรียกตัวพรองค์มาทำการชี้แจง พระเจ้ากาวิโลรสได้เสด็จลงกรุงเทพพร้อมพระญาติ พระเจ้ากาวิโลรสจึงถือโอกาสพาตัวเจ้าเมืองหมอกใหม่เข้าถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองให้เป็นข้าขอบขันฑสีมากรุงเทพ

ในด้านการปกครองของพระองค์นับว่าเข้มแข็งและเด็ดขาด แม้แต่รัฐบาลสยามก็ยังไม่อาจล่วงเกินกิจการภายในของนครเชียงใหม่ได้ อีกทั้งพระเจ้ากาวิโรรสฯ ก็มิได้โปรดให้มีการเผยแพร่ศาสนาอื่นในนครเชียงใหม่ พระองค์ถึงขั้นทรงสั่งประหารชีวิตคริสต์ศาสนิกชน 2 คน ในปี พ.ศ. 2411 เลยทีเดียว

พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าประเทศราชองค์สุดท้ายของล้านนา

สิ้นสุดประเทศราชล้านนาสู่การรวมหัวเมืองเข้าส่วนกลาง

ในยุคของ “พระเจ้าอินทวิชยานนท์“ ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าประเทศราชองค์สุดท้ายที่มีอำนาจอย่างแท้จริง เพราะในสมัยรัชกาลที่ 5 สยามได้ริดรอนอำนาจของเจ้าหัวเมืองลง ในสมัยนี้เองที่รัฐส่วนกลางนั้นได้ทำการรวมหัวเมืองประเทศราชล้านนาเข้ากับส่วนกลาง ในปี พ.ศ. 2427 การดำเนินการมีการ เปลี่ยนแปลงทั้งด้านการปกครอง, การศาล, การภาษีอากร, การคลัง, การศึกษา, การสาธารณสุข และอื่น ๆ โดยจัดเป็นระบบเดียวกับกรุงเทพฯ ในทุกด้าน

ระหว่างการปฏิรูปการปกครองในช่วงก่อนจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล (พ.ศ. 2427 – 2442) ตรงกับสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 7 (พ.ศ. 2416 – 2439) ซึ่งนับว่าเป็นเจ้าเมืององค์สุดท้ายที่มีอำนาจปกครองบ้านเมือง เพราะเป็นช่วงแรกของการดำเนินงานรัฐบาลกลางมีนโยบายไม่ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองในทันทียังคงให้ดำรงตำแหน่งอย่างมีเกียรติแต่ขณะเดียวกันก็พยายามลดอำนาจและผลประโยชน์ทีละน้อย

รัฐบาลกลางได้ส่งข้าหลวงจากรุงเทพฯ ขึ้นมาจัดการปกครองในเมืองเชียงใหม่ ในลักษณะที่ร่วมกันปกครองกับเจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลาน โดยที่ข้าหลวงพยายามแทรกอำนาจลงไปแทนที่ ส่วนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจซึ่งได้แก่รายได้จากการเก็บภาษีอากรส่วนหนึ่งต้อง ส่งกรุงเทพฯ บอกจากนั้นป่าไม้ซึ่งแต่เดิมเป็นของเจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลานได้ถูกโอน เป็นของรัฐใน พ.ศ. 2439 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการพิราลัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ และหลังจากสิ้นสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์แล้ว รับบาลกลางให้เจ้าอุปราชรั้งเมืองอยู่หลายปี จนกระทั่งเห็นว่าให้ความร่วมมือกับรัฐบาลกลางเป็นอย่างดี จึงมีการแต่งตั้งให้เจ้าอุปราชเป็นเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 8 (พ.ศ. 2444 – 2452)

หลังจากการดำเนินงานช่วง แรก (พ.ศ. 2427 – 2442) ประสบความสำเร็จ รัฐบาลกลางได้ดำเนินการขั้นต่อมาโดยจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล (พ.ศ. 2442 – 2476) ซึ่งเป็นการยกเลิกฐานะเมืองประเทศราชของล้านนา โดยถือว่าหัวเมืองประเทศราชล้านนาผนวกเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรอย่าง แท้จริง อำนาจการปกครองจะเป็นของข้าหลวงประจำเมืองต่าง ๆ โดยที่เจ้าเมืองไม่มีหน้าที่ปกครองบ้านเมืองโดยตรง ได้แต่ยกย่องให้เกียรติแต่เพียงในนามเท่านั้น ดังนั้นทั้งเจ้า “อินทวโรรสสุริยวงศ์” และ “เจ้าแก้วนวรัฐ” จึงยังมีฐานะเป็นประมุขของเมืองเชียงใหม่

เจ้าผู้ครองนครคงมีฐานะเป็นเจ้าผู้ครองเมืองต่อมาจนสิ้นรัชกาลที่ 6 ถึงรัชกาลที่ 7 มีพระราชดำริว่าราชอาณาจักรสยามเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การจะคงมีประเทศราชไว้ออกจะเป็นการรุงรังไม่เหมาะสม จึงมีพระราชดำริว่า เมื่อเจ้านครตนใดเสียชีวิตลงก็จะไม่ตั้งคนใหม่แทน

จนกระทั่งเจ้าแก้วนวรัฐฯ เจ้านครเชียงใหม่พิราลัยใน พ.ศ. 2482 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นจึงได้มีบัญชาว่าจะไม่ตั้งเจ้านครอีก ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นอันสิ้นสุดการปกครองแบบประเทศราชล้านนาโดยสมบูรณ์ ในที่สุด

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : หนังสือ ประวัติศาสตร์ล้านนา, หนังสือ ประวัติศาสตร์ล้านนา : ประวัติศาสตร์ไทยที่คนไทยไม่ค่อยมีโอกาสได้ศึกษา, หนังสือ อดีตลานนา, หนังสือ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, เว็บไซต์ lanna.mju.ac.th/, เว็บไซต์ prachatalk.com
ภาพจาก : www.sri.cmu.ac.th, th.wikipedia.org

บทความที่เกี่ยวข้อง

กว่าจะเป๋นเจียงใหม่ ตอนที่ 1 กำเนิดนพบุรีศรีนครพิงค์

กว่าจะเป๋นเจียงใหม่ ตอนที่ 2 เมืองเชียงใหม่ในสมัยเจริญรุ่งเรือง

กว่าจะเป๋นเจียงใหม่ ตอนที่ 3 จากรุ่งเรืองสู่เสื่อมสลายภายใต้อำนาจพม่า

กว่าจะเป๋นเจียงใหม่ ตอนที่ 4 ล้านนาในยุคที่พม่าครอบครอง

ร่วมแสดงความคิดเห็น