“ผีปู่ย่า” ตำนานผีล้านนาที่กำลังจะหายไป

“ผี” เป็นสิ่งลี้ลับ ที่เป็นความเชื่อที่เหนือธรรมชาติมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ โดยถูกมองว่าเป็นสิ่งน่ากลัว จับต้องไม่ได้ แต่ผีบางส่วนก็เป็นที่เคารพกราบไว้

ซึ่งวันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะกล่าวถึง ผีปู่ย่าของชาวล้านนาที่เชื่อว่าเป็นผีที่รักษาปกครองครอบครัวให้พ้นอันตราย ให้ผู้อ่านได้รู้จักถึงที่มา และความเชื่อเกี่ยวกับผีปู่ย่าดังนี้

“ผีปู่ย่า” เป็นผีที่เชื่อว่า จะรักษาป้องกันเครือญาติให้พ้นภัย และเกิดความอบอุ่นในหมู่เครือญาติ ดินแดนล้านนาสมัยก่อน เชื่อกันว่า เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวพื้นเมืองเผ่าลัวะบ้าง ขอมบ้าง หรือมีเผ่าอื่นๆ อีกที่สาบสูญ หรืออาจถูกกลืนชาติพันธุ์ไปแล้ว เหลือแต่แผ่นดินให้พวกเราอยู่อาศัยในปัจจุบัน

สมัยก่อน ผู้คนจะมีความเชื่อในเรื่องวิญญาณ ผี พลังลี้ลับ ก่อนที่จะพบกับการนับถือศาสนา ดังนั้นผู้คนจึงต้องหาที่พึ่งทางใจ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดที่คอยปกปักรักษา เมื่อญาติผู้ใหญ่สูญเสียไปแล้ว จะมีความเชื่อว่า จิตวิญญาณของท่านเหล่านั้นจะมีความห่วงหาอาลัยลูกหลาน วิญญาณดังกล่าวจะเกิดเป็นพลังเวียนว่ายคอยดูแลอยู่ตลอดเวลา ด้วยความเชื่อดังกล่าวจึงเกิดวิถีการเลี้ยงผีปู่ย่า

การทำพิธีไหว้ผีปู่ย่า

ทำไมจึงมีเพียงคำว่าผีปู่ย่า? ไม่มีผีตายายหรือไง?

ที่จริงแล้ว ที่มาของคำว่า “ผีปู่ย่า” มาจากคนล้านนาส่วนใหญ่ มักพูดว่า “อี่ปู่…อี่ย่า…อี่ป้อ…อี่แม่…” ดังนั้นจึงมีเพียงคำว่า ผีปู่ย่า เพราะคนล้านนาไม่มีคำว่า “ตาหรือยาย” ดังนั้นจึงไม่มีผีตายาย แม้ในชีวิตจริงจะมีตาหรือยายในภาษาอื่นก็ตาม นอกจากนี้บางท้องถิ่นยังเรียกคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ว่า “ป้ออุ๊ย แม่อุ๊ย” เท่านั้น คือไม่ว่าจะเป็นคุณปู่หรือคุณตาก็เรียกเหมือนกันว่า “ป้ออุ๊ย” ส่วนคุณย่าและคุณยาย ก็เรียกเหมือนกันว่า “แม่อุ๊ย” บางท้องถิ่นเรียกคุณตาคุณยายว่า “ป้อหลวงแม่หลวง” ก็ยังมี

ตำนานผีปู่ย่า

ขอวกกลับเข้ามาที่เรื่องผีปู่ย่า “ตำนานผีปู่ย่า” ที่สำคัญพอค้นหาได้ และพอมีหลักฐานค้นคว้าก็คือ “ตำนานผีปู่แสะย่าแสะ” ที่ดอยคำหรือดงหลวงบางครั้งเรียกกันว่า “ผีปู่ย่าดอยคำ” ในเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันดังได้กล่าวมาแล้วว่า คนเราต้องการความอบอุ่นทางใจ ต้องการมีกำลังใจในการดำรงชีวิตประจำวันประกอบกับความอาลัยอาวรหาญาติผู้ที่เสียชีวิต จึงมีการปรุงแต่งให้มีผีปู่ย่าขึ้น

เครื่องสักการะผีปู่ย่า

ผีปู่ย่าเชื่อว่าเป็นผีบรรพบุรุษที่คุ้มครองญาติๆ ที่นับถือต่อๆ กันมา โดยมีเครื่องสักการะคือ “สวยดอกไม้” (สวยดอกไม้เป็นคำท้องถิ่นภาคเหนือแปลว่า กรวยดอกไม้) จำนวนสวยขึ้นอยู่กับแต่ละตระกูลจะกำหนด แต่ที่ทราบมา มักจะถือเอาจำนวนเงินค่าผีมากำหนด เช่น ตระกูลนี้มีค่าผี 32 แถบ เขาก็จะกำหนดสวยดอกไม้ จำนวน 32 สวย เป็นต้น หรือบางท้องถิ่นอาจแตกต่างกันไปบ้างขึ้นอยู่กับถิ่นที่

นอกจากสวยดอกไม้แล้วยังมี ธูป, เทียน, ต้นดอก, ต้นเทียน, หมากพลู, เครื่องประดับตกแต่ง ตามแต่ผู้คนจะกำหนดกัน แต่ที่แน่ๆ การกำหนด “ที่อยู่ของผีปู่ย่า” จะต้องมี 2 แห่ง คือ “หิ้งผีปู่ย่า” ในห้องนอนหลวง (ใหญ่) ซึ่งเป็นห้องนอนของญาติผู้ใหญ่ นอกจากนี้จะต้องทำ “หอผีปู่ย่า” ไว้ในรั้วบ้านอีกแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นสถานที่ให้บรรดาญาติที่มาร่วมเลี้ยงผีได้มาสักการะบูชาไหว้พร้อมๆกัน

เครื่องเซ่นบูชาผีปู่ย่า

“เครื่องเซ่นบูชา” ส่วนมากจะเป็นอาหารทั่วไปในชีวิตประจำวันที่ใช้รับประทานกันในบ้านเรือนหรือในท้องถิ่นนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นแกงฮังเล แกงแค น้ำพริกอ่องหรือบางบ้านอาจมีหัวหมู ไก่ ก็ขึ้นอยู่กับการกำหนด และฐานะของเจ้าของบ้าน

การทำพิธีไหว้ศาลผีปู่ย่าบริเวณนอกบ้าน

คำกล่าวบูชาผีปู่ย่า

“การบูชา” เมื่อถึงเวลาผู้เป็นใหญ่หรืออาวุโสจะกล่าวคำบูชา พร้อมกับญาติๆ ที่มาร่วมก็พนมมือไหว้อธิษฐาน เสร็จแล้วก็ถอยออกมารอ จนกว่าไฟไหม้ธูปเทียนจนหมดเล่ม ถือว่าผีปู่ย่าได้รับรู้และรับเครื่องบูชาเสร็จ ลูกหลานก็จะถอยเอาเครื่องบูชา ข้าวปลาอาหาร ออกมาแบ่งปันเลี้ยงรับประทานกันในหมู่ญาติมิตร พูดจาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ลูกหลานที่อยู่ไกลได้มาอยู่ใกล้กันเด็กๆ ได้รู้จักสนิทสนมกันมากขึ้น เป็นการขันเกลียวเครือญาติให้แน่นแฟ้น

เมื่อผู้ใหญ่หรืออาวุโสเสียชีวิตลง ผีปู่ย่าจะต้องมีผู้รับเอาไปเลี้ยงต่อ หากในบ้านนั้นมีผู้หญิงหรือลูกสาว เจ้าของบ้านก็จะสืบทอดผีปู่ย่าต่อกันมา แต่หากมีลูกผู้หญิงคนโตไปอยู่ต่างเรือน ก็จะต้องเอาหิ้งผีปู่ย่าพร้อมเครื่องสักการะที่มีอยู่ทั้งหมดที่อยู่ในเรือนใหญ่ย้ายไปไว้ในบ้านของลูกผู้หญิงคนโตนั้น

การสืบทอดผีปู่ย่า

“การสืบทอดผีปู่ย่า” จะขึ้นอยู่กับสตรีเท่านั้น หากบุตรตรีคนโตเสียชีวิต ก็จะต้องมอบให้บุตรีคนรองลงมาเป็นขั้นตอน หากในครอบครัวไม่มีบุตรีก็จะต้องพิจารณาว่า เรือนใดของเครือญาติมีสตรีที่เป็นผู้อาวุโสสูงสุด ก็ต้องย้ายหิ้งผีปู่ย่าไปไว้บ้านนั้นเป็นผู้ดูแล ส่วนการบูชาต่างๆ ก็ต้องกระทำตามประเพณีไหว้ผีปู่ย่าดังเดิม ส่วนหอผีปู่ย่าที่สร้างไว้ก็ต้องให้อยู่คงเดิม ขณะเดียวกันญาติๆ ที่เป็นบริวาร ก็ต้องสร้างหอผีปู่ย่าไว้ที่บริเวณบ้านของตน เพื่อเป็นที่สักการะบูชา เพียงแต่ไม่มีหิ้งผีปู่ย่าเหมือนเรือนที่เป็นเก๊าผีเท่านั้น “เก๊า” เป็นภาษาถิ่นของภาคเหนือ แปลว่า ลำต้น หรือ เสา ดังนั้น “เรือนที่เป็นเก๊าผี” จึงหมายถึง ศาลพระภูมิ นั่นเอง

ดังนั้น เมื่อเราไปแถวๆ ชนบทในล้านนาจะเห็นบ้านหลังเล็กๆ ปลูกอยู่ตามริมรั้วหลังบ้าน และมีเครื่องสักการะบูชา ดอกไม้ประดับ นั่นคือ “หอผีปู่ย่า” นั่นเอง หากคนในบ้านมีสิ่งผิดปกติ หรือมีการเดินทางไกล หรือมีเหตุการณ์ที่ต้องการพึ่งพาทางใจ ผู้คนในบ้านก็ไปบอกกล่าว หรือบนบานกับหอผีปู่ย่า เพื่อให้ปกป้องคุ้มครอง คล้ายๆ กับการมีศาลพระภูมิเจ้าที่ของผู้คนถิ่นอื่นๆ

พิธีการนำเครื่องเซ่นไหว้มาวางไว้บนหัวผู้ที่สืบทอดผีปู่ย่า

เวลาที่เลี้ยงผีปู่ย่าประจำปี

หากมีผู้คนมาอยู่ในครัวเรือนเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นลูกบ่าว (ลูกชาย) ลูกจาย (ลูกเขย) ลูกญิง (ลูกสาว) หรือลูกไป๊ (ลูกสะไภ้) ก็ต้องบอกกล่าวให้ผีปู่ย่าเลี้ยง ให้ผีปู่ย่ารับทราบ และถือว่านั่นคือความผูกพันเป็นเครือญาติหรือในหมู่ผีปู่ย่าเดียวกัน แล้ว “เวลาที่เลี้ยงผีปู่ย่าประจำปี” มักกระทำกันในเดือนเจ็ด (เดือนเมษายน) เรื่อยไปจนถึงเดือนเก้าเหนือ (เดือนมิถุนายน) แล้วแต่สะดวกในช่วงใดช่วงหนึ่ง

ตามที่กล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเชื่อถือเรื่องผีปู่ย่า อาจมีสิ่งที่แตกต่างไปจากนี้บ้าง มักขึ้นอยู่กับความละเอียดอ่อนของผู้คนในแต่ละถิ่นแต่ละที่จะกำหนด แต่ที่แน่ๆ ผีปู่ย่าจะคอยปกป้องรักษาให้เครือญาติรักกัน และสุขใจที่หมู่เครือญาติได้มาร่วมพบปะกันในงานเลี้ยงผีปู่ย่า

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลและรูปจาก : NIKHOM PHROMMATHEP

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น