กำเนิด “เจียงใหม่” กว่า 720 ปี แห่งอารยธรรมล้านนา

อาณาจักรล้านนาที่รวมถึงเมืองเชียงใหม่ มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ เนื่องจากในแถบบริเวณภาคเหนือในปัจจุบันมีเรื่องเล่า สถาปัตยกรรมที่เป็นร่องรอยอารยธรรม และพงศาวดารที่บรรพบุรุษได้ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังศึกษากันต่อไป

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมากล่าวถึงประวัติความเป็นมาของการสร้างเมืองเชียงใหม่ที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน ดังต่อไปนี้

พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ (พ่อขุนเม็งราย,พ่อขุนรามคำแหง,พ่อขุนงำเมือง)

“พญามังราย” ผู้เป็นราชโอรสของพระเจ้าลาวเม็งผู้สืบเชื้อสายมาจาก “พระเจ้าลาวจักราช” ซึ่งเป็นผู้สร้าง “อาณาจักรโยนก” ในปี พ.ศ.1802 พญามังรายได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าลาวเม็ง ณ อาณาจักรโยนก ในระยะที่พญามังรายกำลังเรืองอำนาจในอาณาจักรล้านนาไทยนั้น เป็นเวลาเดียวกับที่ “พญาร่วง” (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช) กำลังเรืองอำนาจอยู่ใน “อาณาจักรสุโขทัย” และ “พญางำเมือง” (พ่อขุนงำเมือง) กำลังเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองพะเยา

กษัตริย์ทั้งสามพระองค์นี้เป็นพระสหายสนิทร่วมน้ำสาบานมาด้วยกัน ดังนั้นเมื่อ “พญามังราย”รวบรวมเมืองต่างๆ ในอาณาจักรล้านนาไทยเป็นปึกแผ่นแน่นหนาแล้ว ในปี พ.ศ.1824 พระองค์ยกกองทัพมาตี “เมืองหริภุญชัย” ไว้ในอำนาจ เนื่องจาก หริภุญไชย เป็นเมืองศูนย์กลางความเจริญและเป็นเส้นทางการค้า จากนั้นพระองค์ได้เสด็จไปสร้างเมืองใหม่ชื่อ “เวียงกุมกาม” (ปัจจุบันเป็นเมืองร้างอยู่ในเขตอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่) ปี พ.ศ.1834 ทรงดำริที่จะสร้างเมืองใหม่ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง

ทั้งสามพระองค์ทรงเห็นที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ริมฝั่งแม่น้ำปิง บริเวณ “ป่าเชิงดอยสุเทพ” เป็นที่ราบกว้างใหญ่ อยู่ในเทือกเขาสลับซับซ้อนมีแม่น้ำปิงอยู่ทางด้านตะวันออก พื้นที่นั้นกว้างใหญ่อุดมสมบูรณ์เหมาะที่จะสร้างเมืองหลวงขึ้นในบริเวณนั้นเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะเป็นเมืองเชียงใหม่ในภายภาคหน้าและหวังให้เป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญในอาณาจักรล้านนา

ประตูเมืองเชียงใหม่ในอดีต

ในที่สุด “พญามังราย” จึงได้ตกลงพระทัยที่สร้างเมืองใหม่ขึ้นมา ณ ที่ราบเชิงดอยสุเทพแห่ง โดยสร้างกำแพงเมืองด้านกว้าง 800 วา ด้านยาว 1,000 วา มาบรรจบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ครั้นเมื่อได้เวลาฤกษ์ก็ได้ลงมือขุดคูเวียง และก่อปราการด้าน “ทิศอีสาน” (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) อันเป็น “ทิศศรีนคร” (ทิศมงคล) ก่อน แล้วอ้อมไป “ทิศทักษิณ” (ทิศใต้) ไปรอบสี่ด้าน พร้อมทั้งตั้งตลาดไปด้วยกันเป็นเวลาสี่เดือนจึงแล้วเสร็จสมบูรณ์ กษัตริย์ทั้งสามพระองค์ทรงขนานนามเมืองนี้ว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่”

ในปี พ.ศ.1839 “เมืองเชียงใหม่” เป็นศูนย์กลางความเจริญของ “อาณาจักรล้านนา” จนกระทั่งอาณาจักรล้านนาได้เริ่มเสื่อมอำนาจลงในปลายสมัย “พญาเมืองแก้ว” เนื่องจากได้ทำสงครามกับ “เชียงตุง” จนพ่ายแพ้ เสียชีวิตไพร่พลเป็นอันมาก ซ้ำยังเกิดอุทกภัย ที่ทำให้กระทบถึงความมั่นคงของอาณาจักร เมืองในการปกครองเริ่มไม่ยอมตกอยู่ในปกครอง เนื่องจากอาณาจักรล้านนาอ่อนแอ

ในสมัย “มหาเทวีจิรประภา” พ.ศ.2101 กษัตริย์องค์ที่ 15 ของ “อาณาจักรพม่า” ได้ยกกองทัพมาตี “เมืองเชียงใหม่” เพียง 3 วันก็เสียเมือง และกลายเป็นเมืองขึ้นของพม่ายาวนานถึง 216 ปี และ “กรุงศรีอยุธยา” อยู่หลายสมัย

จนครั้งสุดท้ายในสมัย “กรุงธนบุรี” “พระเจ้าตากสินมหาราช” ทรงตีนครเชียงใหม่คืนจากพม่าได้ในปี พ.ศ.2317 ทรงกวาดล้างอิทธิพลของพม่าออกจากล้านนาได้สำเร็จ

จนถึงสมัยของ “สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” (รัชกาลที่ 1) ได้ทรงสถาปนา “พระยากาวิละ” (กาวิละ ณ เชียงใหม่) ขึ้นเป็น “พญากาวิละ” เป็นต้นตระกูล “ณ เชียงใหม่” ปกครอง “เมืองเชียงใหม่” สืบเนื่องมาจนถึง “เจ้าแก้วนวรัฐ” เป็นองค์สุดท้าย ซึ่งนับเป็นองค์ที่ 9 ***หมายเหตุ : “พระยา” เป็นตำแหน่งของขุนนางในพระราชวังของกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ “พญา” เป็นตำแหน่งกษัตริย์ของอาณาจักรล้านนาในอดีต

เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์สุดท้าย

เมื่อ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” (รัชกาลที่ 5) ทรงยุบเมืองประเทศราช (อาณาจักรล้านนา) เข้ากับอาณาจักรไทยในปี พ.ศ.2440 และได้ยกเมืองเชียงใหม่ขึ้นเป็น “มณฑลพายัพ” (ภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน)

ต่อมา ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 ก็ยุบเลิก “มณฑลพายัพ” จึงทำให้เมืองเชียงใหม่ถูกเปลี่ยนเป็นจังหวัดเชียงใหม่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเชียงใหม่มีอายุตั้งแต่เริ่มสร้างเมืองจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2562) รวม 723 ปี

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : จักรพงษ์ คำบุญเรือง
ภาพจาก : www.chiangmai.siamdot.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น