ฟื้นม่านเชียงใหม่! “พระเจ้ากาวิละ” กษัตริย์ผู้กอบกู้ล้านนาจากพม่า

“จังหวัดเชียงใหม่” ถูกยอมรับว่าเป็นจังหวัดที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาในอดีตตั้งแต่ยังเป็นเมือง “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ที่มีจุดเด่นเรื่องการเป็นจุดทางการค้าขาย แต่มีช่วงเวลาหนึ่งที่เมืองเชียงได้ตกอยู่ใต้อำนาจของ “อาณาจักรพม่า” ถึง 200 กว่าปี

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะนำเสนอเรื่องราวของ “พระเจ้ากาวิละ” ปฐมกษัตริย์ของ “ราชวงศ์ทิพย์จักร หรือราชวงศ์พระเจ้าเจ็ดตน” ที่ได้กอบกู้เมืองเชียงใหม่ให้เป็นเอกราช และมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเชียงใหม่ถูกปกครองโดยพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2101-2317


พระเจ้ากาวิละพระบรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์อินทรสุรศักดิ์

“พระเจ้ากาวิละพระบรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์อินทรสุรศักดิ์” สมญามหาขัตติยราชชาติราชาไชยสวรรย์ เจ้าขัณฑสีมาพระนครเชียงใหม่ราชธานี มีพระนามเดิมว่า “นายกาวิละ” เป็นบุตรของเจ้าฟ้าชายแก้ว กับแม่เจ้าจันตา ประสูติเมื่อ ปีจอ ตรงกับปี พ.ศ.2285 หรือตรงกับสมัยพระเจ้าอยู่หัว บรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยาหากนับชาติภูมิย้อนหลังไปแล้ว พระเจ้ากาวิละฯ ทรงเป็นนัดดาของ “นายหนานทิพช้าง หรือเจ้าพระยาสุละวะฤาไชยสงคราม” ผู้กอบกู้เมืองนครลำปางให้เป็นอิสระจากเมืองลำพูน นับได้ว่าพระเจ้ากาวิละทรงสืบเชื้อสายมาจากวีรบุรุษผู้กล้าหาญแห่งเมืองนครลำปาง

สภาพเมืองเชียงใหม่ในอดีต

“พระเจ้ากาวิละฯ” ทรงมีพระกรณียกิจในด้านการสงครามมากมายทั้งในด้านการป้องกันอาณาจักรและการขยายอาณาเขตให้กว้างขวาง พระเกียรติยศที่ได้รับจากพระมหากษัตริย์ชาติไทย ที่สำคัญ ได้แก่
1. ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครลำปาง ในปี พ.ศ.2317 โดยได้รับการสถาปนาจาก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดังปรากฏข้อความในพงศาวดารกรุงธนบุรี
2. ได้รับการสถาปนาเป็น “พระยาวชิรปราการ” เจ้านครเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2325 โดยได้รับการสถาปนาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
3. ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “พระเจ้ากาวิละพระบรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์อินทร สุรศักดิ์สมญามหาขัตติยราชชาติราชาไชยสวรรณ์เจ้าขัณฑสีมาพระนครเชียงใหม่ราชธานีพระเจ้าประเทศราช” เป็นใหญ่ใน 57 หัวเมือง ในปี พ.ศ.2345 โดยได้รับการสถาปนาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

“พระเจ้ากาวิละฯ” ปกครองเมืองนครเชียงใหม่นานถึง 33 ปี ในช่วงเวลาที่ปกครอง เมืองเชียงใหม่นั้น พระเจ้ากาวิละฯ ได้ขยายพระราชอาณาเขตให้ไทยมีเขตแดนทางเหนือ ทางตะวันตก ขยายออกไปกว้างขวางมาก มีหัวเมืองต่างๆ มายอมอยู่ใต้อำนาจเป็นจำนวนมาก และเมื่อมีหัวเมืองใดมายอมอยู่ใต้อำนาจกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้ากาวิละฯ ก็จะเป็นผู้นำเจ้าเมืองต่างๆ เหล่านั้นมาเฝ้าถวายตัวต่อพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร ตลอดมา

กำแพงเมืองเชียงใหม่ในอดีต

บ้านเมืองซึ่งร่วงโรยโดยพม่าข้าศึกย่ำยีย่อยยับ บ้านกลายเป็นป่า นากลายเป็นพงรกร้าง เป็นด่านช้างดงเสือ หากำลังไพร่พลเมืองมิได้ (คัดลอกจากข้อความของพระยาประชากิจกรจักร ในพงศาวดารโยนก) เมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ก็ค่อยๆ มีผู้คนหนาแน่นขึ้น ในตอนนี้เป็นระยะเวลาที่สร้างบ้านเมืองขึ้นใหม่ เรียกว่า “ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” เมืองเชียงใหม่ที่ร้างไปแล้วนั้นก็กลับตั้งขึ้นมาใหม่ได้สำเร็จในวันพฤหัสบดี ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 6 เหนือ เดือน 4 ใต้ ปีมะโรง อัฐศกจุลศักราช 1158 (พ.ศ.2339) นครเชียงใหม่ก็เริ่มกลับเข้าสู่สภาวะเดิม เป็นศูนย์กลางความเจริญด้านเศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา และวัฒนธรรมของล้านนา

ในปี พ.ศ.2358 “พระเจ้ากาวิละฯ” ได้นำพวกมอญ เข้าเฝ้าถวายตัวต่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) นับเป็นที่โปรดปรานของพระมหากษัตริย์ไทยเป็นอันมาก

เมื่อ “พระเจ้ากาวิละฯ” กลับมาถึงเมืองเชียงใหม่แล้ว ก็ทรงประชวรหนัก และถึงแก่พิราลัย ณ เมืองเชียงใหม่ เมื่อวันพุธ แรม 4 ค่ำ เดือน 4 ปี พ.ศ.2358 รวมพระชนมายุได้ 74 พรรษา และทรงเป็นต้นตระกูลเจ้า 4 ตน ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามสกุล ณ ลำพูน, ณ ลำปาง และ ณ เชียงใหม่

แจ่งเมืองเชียงใหม่ในอดีต

“พระเจ้ากาวิละฯ” ทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งเมืองเชียงใหม่ในระยะหลัง ทรงประกอบพระกรณียกิจในด้านการสงครามจนสามารถขับไล่พม่าออกจากเขตล้านนาไทยได้ ทรงมีส่วนสำคัญ ในการขยายพระราชอาณาเขตไทยทางเหนือ ให้กว้างใหญ่ไพศาล จนเทียบเท่าพระราชอาณาเขต ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทางพุทธศาสนา จนทำให้พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง และประดิษฐานอย่างมั่นคงในเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองล้านนาไทย นับได้ว่า พระเจ้ากาวิละเป็นวีระบุรุษผู้กล้าหาญและเป็นบุคคลสำคัญของชาวเมืองเชียงใหม่ สมควรที่ชาวไทยทั้งมวลยกย่องเทิดพระเกียรติไว้ตลอดกาล

“พระเจ้ากาวิละฯ” ทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งเมืองเชียงใหม่ในระยะหลัง ทรงประกอบพระกรณียกิจในด้านการสงครามจนสามารถขับไล่พม่าออกจากเขตล้านนาไทยได้ ทรงมีส่วนสำคัญ ในการขยายพระราชอาณาเขตไทยทางเหนือ ให้กว้างใหญ่ไพศาล จนเทียบเท่าพระราชอาณาเขต ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทางพุทธศาสนา จนทำให้พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง และประดิษฐานอย่างมั่นคงในเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองล้านนาไทย นับได้ว่า พระเจ้ากาวิละเป็นวีระบุรุษผู้กล้าหาญและเป็นบุคคลสำคัญของชาวเมืองเชียงใหม่ สมควรที่ชาวไทยทั้งมวลยกย่องเทิดพระเกียรติไว้ตลอดกาล

กล่าวโดยสรุปแล้ว “พระเจ้ากาวิละ” พระองค์เป็นผู้ที่ขับไล่พม่าออกจากล้านนาที่เคยปกครองมาเป็นระยะเวลา 200 กว่าปี ซึ่งพระเจ้ากาวิละได้ผนวกกำลังกับพระเจ้ากรุงธนบุรีในกับขับไล่พม่า ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ได้มอบอำนาจให้กับพระเจ้ากาวิละในการปกครองเมืองประเทศราชล้านนาทั้งหมด พระเจ้ากาวิละจึงสถาปนาตนเองเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ทิพย์จักรหรือราชวงศ์พระเจ้าเจ็ดตนที่คนล้านนารู้จักและเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองอาณาจักรล้านนาก่อนที่ล้านนาจะถูกผนวกเข้ากับสยามในช่วงการปฏิรูปมณฑลเทศาภิบาลและในที่สุดก็ถูกแยกเป็นจังหวัดต่างๆในช่วงปีพ.ศ.2476 พระเจ้ากาวิละจึงเป็นคนที่ชาวล้านนาให้ความเคารพรักไม่น้อยไปกว่า “พญามังราย” ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลและภาพจาก : จักรพงษ์ คำบุญเรือง และเว็บไซต์ www.army33.net

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น