“เขี้ยวซาว” เกิดมาตั้งนาน ทำไมพึ่งงอก?

“เขี้ยวซาว” ไม่ได้แปลว่ามีฟันยี่สิบซี่ แต่เขี้ยวซาวในภาษาเหนือ แปลว่า “ฟันคุด” ทำไมถึงเรียกฟันคุดว่าเขี้ยวซาว แล้วทำไมเราต้องผ่าฟันคุดออก มีวิธีการรักษาหรือไม่

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาเล่าเรื่องราว ฟันคุด หรือเขี้ยวซาว ให้ฟัง

ฟันคุด คืออะไร

ฟันคุด หรือที่ภาษาเหนือเรียกว่า “เขี้ยวซาว” คือ ฟันกรามที่ไม่ปรากฏออกมาให้เห็น เพราะคุดลงในเหงือก (ไม่งอกผ่านเหงือกออกมา) ส่วนใหญ่คนเรามีฟันคุดทั้งหมด 4 ซี่ โดยจะอยู่ข้างบน 2 ซี่ ข้างล่าง 2 ซี่ ด้านซ้ายและขวา เรียกว่า “ฟันกรามซี่ที่สาม” ฟันคุดจะออกมาตอนที่เรามีอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งช่วงอายุที่ฟันคุดจะโผล่ให้เห็น ต้องแล้วแต่สภาพร่างกายของแต่ละคนด้วย ทั้งนี้ฟันคุด อาจโผล่ขึ้นอยู่ในลักษณะตั้งตรง เอียง หรือนอนในแนวระนาบ และมักจะอยู่ชิดกับฟันข้างเคียงเสมอ

ทำไมคนเหนือถึงเรียกว่า “เขี้ยวซาว”

ถ้าเราสังเกต จะเห็นว่าฟันคุดมักจะเกิดขึ้น ตอนอายุย่างเข้าปีที่ 20 กว่าฟันคุดจะโผล่ขึ้นมาเต็มซี่ ต้องใช้เวลานานเป็นปี คนเฒ่าคนแก่ จึงเรียกว่า “เขี้ยวซาว” โดยได้มาจาก เขี้ยว ที่แปลว่าฟัน และ ซาว ที่แปลว่า ยี่สิบนั่นเอง

จำเป็นไหม? ที่ต้องนำฟันคุดออก

ไม่ใช่ฟันคุดทุกซี่จะต้องถูกถอน หรือผ่าออก หากฟันคุดงอกออกเหงือกอย่างสวยงามหรือทำมุมตรง แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องคอยแปรงฟันทำความสะอาดอย่างทั่วถึง เพราะสภาวะของฟันคุด จะเปลี่ยนไปอย่างมากในแต่ช่วงปี ทางที่ดีเราควรเข้าพบทันตแพทย์ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัย และพิจารณาการจัดการกับฟันอย่างเหมาะสม

ทำไมต้องผ่าฟันคุด

  1. เพื่อป้องกันการอักเสบของเหงือกที่คลุมฟัน เพราะจะมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือก แล้วไม่สามารถทำความสะอาดได้ จึงทำให้เหงือกอักเสบ ปวดและบวมเป็นหนอง ถ้าทิ้งไว้การอักเสบอาจลามไปใต้คาง ใต้ลิ้น และเกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ง่าย
  2. เพื่อป้องกันฟันข้างเคียงผุ ซอกฟันระหว่างฟันคุดกับฟันกรามซี่ที่สองที่อยู่ชิดกันนั้น ทำความสะอาดได้ยาก เศษอาหารจะติดค้างอยู่ทำให้เกิดฟันผุได้ทั้งสองซี่
  3. เพื่อป้องกันการละลายตัวของกระดูก แรงดันจากฟันคุดที่ พยายามดันขึ้นมา จะทำให้กระดูกรอบรากฟัน หรือรากฟันข้างเคียงถูกทำลายไป
  4. เพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำ หรือเนื้องอก ฟันคุดที่ทิ้งไว้นานไปเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุด อาจจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำ จนเกิดการทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกรอบ ๆ บริเวณนั้น
  5. เพื่อป้องกันกระดูกขากรรไกรหัก เนื่องจากการที่มีฟันคุดฝังอยู่ จะทำให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นบางกว่าตำแหน่งอื่น เกิดเป็นจุดอ่อน เมื่อได้รับแรงกระทบกระแทก กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นจะหักได้ง่าย
  6. วัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น ในการจัดฟัน ต้องถอนฟันกรามซี่ที่สามออกเสียก่อน เพื่อให้ง่ายต่อการเคลื่อนฟันซี่อื่น ๆ

วิธีรักษาอาการเจ็บปวดฟันคุดด้วยตัวเอง

1.น้ำมันกานพลู ประกอบไปด้วยยูจีนอล ซึ่งเป็นสารก่อให้เกิดอาการชาตามธรรมชาติ โดยการหยดลงก้อนสำลี และประคบลงบนบริเวณที่เจ็บ แต่หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน มันจะก่อให้เกิดอาการระคายเคือง หรือผิวหรือเนื้อเยื่อไหม้ได้ อีกทั้งความเจ็บปวดจะกลับมาอีกหลังจากนำสำลีออก

2.น้ำเกลือ มีฤทธิ์ในการชะล้างเชื้อแบคทีเรีย การกลั้วปากด้วยน้ำเกลือ จะสามารถทำความสะอาดบริเวณที่ติดเชื้อได้ จนกว่าคุณจะไปพบแพทย์ วิธีการผสมน้ำเกลือ คือการใช้เกลือเพียงหยิบมือเล็กน้อย ผสมในน้ำอุ่น และกลั้วคอประมาณ 1-2 ครั้งต่อวัน แต่น้ำเกลือจะไม่ช่วยรักษาการติดเชื้อได้ถาวร หากว่าต้นตอของการติดเชื้อยังคงมีอยู่ในช่องปาก

3.กระเทียม มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ โดยใช้กระเทียมบดผสมกับเกลือ ทาลงบนบริเวณที่มีปัญหา จะช่วยควบคุมการติดเชื้อได้ จนกว่าคุณจะไปพบแพทย์ แต่การใช้วิธีนี้เป็นเวลานานจะทำให้มีกลิ่นปากแรง

4.ถุงชา ชาหลายประเภท มีสรรพคุณป้องกันปัญหาที่เกี่ยวข้องกับฟันกรามซี่ที่สาม ชาเปปเปอร์มินต์มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด และทำได้โดยนำถุงชาเย็นแช่ ๆ วางลงบนบริเวณที่เจ็บปวด ต่อมาคือชาดำ มีกรดแทนนิกที่สามารถช่วยหยุดการเลือดออกได้โดยการกระตุ้นการแข็งตัวของเลือด หากว่าฟันกรามถูกถอนออกไป และมีเลือดออกไม่หยุด เราสามารถกัดถุงชาดำเบา ๆ บนจุดที่มีเลือดออกได้

ขั้นตอนการผ่าฟันคุด

การผ่าตัดฟันคุดไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ทันตแพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่ เพื่อระงับความรู้สึก หลังจากนั้นก็จะเปิดเหงือกให้เห็นฟัน แล้วใช้เครื่องกรอตัดฟันออกมา ล้างทำความสะอาดและเย็บแผลปิด

อาการหลังผ่าตัดฟันคุด

หลังการผ่าตัดฟันคุด จะมีอาการปวด และบวมบริเวณแก้มด้านที่ทำผ่าตัดสัก 2-3 วัน อ้าปากได้น้อยลง ทานยาแก้ปวด และยาปฏิชีวนะ ที่ได้รับไปอาการก็จะบรรเทาลงได้ เรื่องอาหารคงต้องทานอาหารอ่อนไปก่อนสักระยะหนึ่ง เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนต่อแผล

อาการแทรกซ้อน หลังจากผ่าฟันคุด
ต้องบอกก่อนว่า อาการแทรกซ้อนเหล่านี้ พบได้น้อยมาก แต่ก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย อาการแทรกซ้อนที่สามารถพบได้ มีดังนี้

  1. หลังคายผ้าก๊อซแล้ว ยังมีเลือดไหลจากแผลผ่าตัดมากผิดปกติ
  2. มีไข้ หรือมีการติดเชื้อหลังการผ่าตัด
  3. หลังผ่าตัด 2-3 วัน หากอาการปวดบวมยังไม่ทุเลา และปวดมากยิ่งขึ้น หรือมีอาการชาของริมฝีปากล่าง ทั้งที่หมดฤทธิ์ของยาชาแล้ว ควรรีบกลับไปพบทันตแพทย์ เพื่อหาทางแก้ไข

ระยะเวลาฟื้นตัวหลังการถอนฟันคุด

ระยะเวลาการฟื้นตัว คือประมาณ 3-5 วัน อาจมีเลือดออกบริเวณที่ถอนฟันเล็กน้อย นับว่าเป็นเรื่องปกติ เลือดจะลดลงภายหลัง 24 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด และเมื่อยาชาหมดฤทธิ์ คุณอาจมีอาการกรามตึง เปิดปากลำบาก และมีความเจ็บปวดบ้าง ซึ่งแพทย์มจะจ่ายยาแก้ปวดมาบรรเทาอาการต่าง ๆ หลังผ่าตัด โดยทั่วไปแล้วเราสามารถใช้การประคบเย็น หรือยาแก้ปวดชนิดอ่อนได้ด้วย เราควรทานอาหารอ่อน ในช่วงไม่กี่วันหลังถอนฟัน เลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ด กับการสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้แต่การออกกำลังกายอย่างหนัก ที่สำคัญต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ หลังการผ่าตัดจากทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ สำหรับเหงือก การฟื้นตัวเองให้สมบูรณ์ อาจต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์

สรุป
ฟันคุด หรือเขี้ยวซาว ที่เรารู้จัก อาจจะดูน่ากลัวถ้าบอกว่าต้องผ่าออก แต่แท้จริงแล้วการผ่าฟันคุด ก็คล้ายการถอนฟัน โดยทัตแพทย์จะฉีดยาชาให้เราก่อน หลังผ่าตัดฟันคุดออก ควรรับประทานอาหารอ่อน หรืออาหารเหลว ไม่ควรดื่มน้ำผ่านหลอด หรือทานอาหารเผ็ดเกินไป เพื่อป้องกันการอักเสบ และการเปิดของแผล ส่วนการพูดก็พูดได้ตามปกติ แต่ถ้าเราพูดมากอาจเจ็บแผลได้ค่ะ

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

อ้างอิงข้อมูจาก
www.honestdocs.co
www.pobpad.com
http://www.si.mahidol.ac.th
www.chaprachanyim.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

ฟันผุก่อมะเร็ง! ต้องรีบรักษา อย่าทิ้งไว้นาน

เกรปฟรุ๊ต ผลไม้ลดน้ำหนัก กับข้อห้ามการทานยา

ถั่วเหลือง…สุดยอดธัญพืชต้านโรค

น้ำเปล่า ดื่มน้อย เสี่ยงติดเชื้อในท่อปัสสาวะ

ควรรู้ เคี้ยวช้า ส่งผลดีต่อร่างกายมากกว่าที่คิด

ร่วมแสดงความคิดเห็น