โรคกลัวความรัก ถ้ารักได้…รักไปแล้ว

“โรคกลัวการตกหลุมรัก” ใครที่ได้ยินคงคิดว่าโรคนี้ชื่อน่ารักจัง คงเป็นแค่โรคที่กลัวการมีแฟน แต่จริง ๆ แล้ว โรคกลัวการตกหลุมรัก อันตรายมากกว่ากลัวมีแฟน เพราะโรคนี้ถือเป็นโรคในกลุ่ม Phobia ซึ่งถือเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ที่สามารถกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้

โรคกลัวการตกหลุมรักคืออะไร วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาเล่าให้ฟัง

โรคกลุ่ม Phobia คืออะไร

Phobia คือ อาการกลัวบางสิ่ง อย่างรุนแรงโดยไม่รู้เหตุผล และไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ อาจมีอาการแพนิคหรือตื่นกลัว ซึ่งโรคกลัวจัดว่าเป็นอาการทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ตัวอย่างโรคในกลุ่ม Phobia เช่น โรคกลัวแมงมุม โรคกลัวรู โรคกลัวการเข้าสังคม เป็นต้น

โรคกลัวการตกหลุมรัก Philophobia คืออะไร

“Philophobia หรือ โรคกลัวการตกหลุมรัก” เรียกได้อีกชื่อว่า “โรคกลัวความรัก” มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ “Philo” แปลว่า ความรัก และคำว่า “Phobia” ที่แปลว่า ความกลัว เป็นโรคในกลุ่ม Phobia โรคกลัวการตกหลุมรัก เป็นสภาวะที่กลัวการตกหลุมรัก กลัวการได้รับความรัก และปฏิเสธความรู้สึกพิเศษที่มีกับบางคน ซึ่งการตกหลุมรัก หรือการสร้างความสัมพันธ์ จะทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกไม่สบายใจ และเลือกที่จะวิ่งหนีความรัก หลีกเลี่ยงโอกาสที่จะทำให้ตกหลุมรัก หรือหลีกเลี่ยงการไปสถานที่ต่าง ๆ ที่มีคนรัก เป็นต้น

สาเหตุของโรคกลัวการตกหลุมรัก

1.เจอเหตุการณ์ในแง่ลบ ที่ฝังใจมาตั้งแต่ตอนเด็ก

เติบโตมาในครอบครัวที่มีปัญหา คนใกล้ตัวมีชีวิตรักในแง่ลบ เช่น พ่อแม่หย่าร้าง ทะเลาะตบตีกันประจำ หรือแสดงความรุนแรงต่อกันบ่อย ๆ เป็นต้น

2.คนที่ไม่ประสบความสำเร็จเกี่ยวกับความรักในอดีต

อาจเคยมีความรักแล้วผิดหวัง ถูกทำร้ายจิตใจ หรือไม่เคยมีความสัมพันธ์มาก่อน แต่ไม่มั่นใจในตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่ดีพอ กลัวว่าจะต้องถูกทิ้ง

อาการของโรคกลัวการตกหลุมรัก

1.กลัวการเริ่มต้นความรักครั้งใหม่

ทุกครั้งที่พบเจอกับคนที่ถูกใจ และรู้สึกว่าความสัมพันธ์กำลังไปได้สวย จะมีความรู้สึกวิตกกังวล และพยายามจบความสัมพันธ์นั้นให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะไม่ให้ตัวเองต้องเจอกับภาวะเสียใจ

ไม่กล้าสานสัมพันธ์กับใคร

2.ปิดโอกาส ไม่ให้ใครเข้ามาสานสัมพันธ์

ไม่ว่าจะมีคนมาชอบมาจีบมากแค่ไหน แต่ก็จะต้องเจอกับกำแพงที่ถูกตั้งขึ้นมา เพื่อปิดกั้นไม่ให้คนอื่นเข้ามาทำความรู้จักกับคุณได้

ชอบอยู่ตัวคนเดียว

3.ชอบอยู่คนเดียว หลงรักการทำอะไรด้วยตัวคนเดียว

หงุดหงิดกับการต้องร่วมกิจกรรมกับคนอื่น เบื่อหน่ายที่จะต้องรอคอยใครสักคน เสพติดการอยู่คนเดียว และไม่ต้องการใช้ชีวิตร่วมกับใคร

4.มือชา เท้าชา หน้าชา หายใจเร็ว และแรงเมื่อมีคนเข้ามาจีบ

คุณอาจไปเจอกับคนที่ชอบรุก เดินหน้าจีบแบบตรงไปตรงมา ทำให้คุณเกิดภาวะกดดัน ทำตัวไม่ถูก และมีอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ เหมือนคนตื่นเต้น เช่น เหงื่อออกมือ ใจเต้นเร็ว เป็นต้น

อาจเกิดขึ้นเพราะผิดหวังจากรักครั้งเก่า

การรักษาโรคกลัวการตกหลุมรัก

1.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต

การทำกิจกรรมเพื่อคลายเครียด อาจช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย และสบายใจยิ่งขึ้น เช่น ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ ฝึกการหายใจ เป็นต้น

2.การบำบัดให้หายจากความกลัว

จิตแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา จะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้การรับมือกับความกลัวที่เกิดขึ้น ด้วยการพูดคุย เพื่อชี้ให้เห็นถึงความคิด แนะนำให้เริ่มสร้างความสัมพันธ์จากจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือแนะนำให้เริ่มจากการสร้างสัมพันธ์กับเพื่อน และคนใกล้ชิด เพื่อขจัดความกลัวไปทีละน้อย

3.การใช้ยา

หากผู้ป่วยมีความผิดปกติทางจิตชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาต้านซึมเศร้า หรือยาคลายความวิตกกังวล ควบคู่ไปกับการบำบัดด้วยการพูดคุย
ทั้งนี้ หากเกิดจากประสบการณ์ในอดีต หมอจะให้คำแนะนำเพื่อการปรับตัว และสร้างความมั่นใจให้สามารถใช้ชีวิตปกติร่วมกับผู้อื่นได้

การป้องกันโรคกลัวความรัก

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ จึงยากที่จะระบุวิธีป้องกันได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามพ่อแม่ หรือคุณครูอาจมีส่วนช่วยสอดส่องดูแล และเอาใส่ใจเด็ก เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนทางจิตใจที่อาจเกิดขึ้น และกลายเป็นเรื่องฝังใจที่นำไปสู่โรคกลัวความรักได้เมื่อโตขึ้น

นายแพทย์อภิชาติ จริยาวิลาศ กล่าวว่า “อาการเหล่านี้อาจพบได้กับคนทั่วไป ซึ่งหากได้รับการให้กำลังใจที่ดี จะสามารถกลับมามีความรักได้ปกติ แต่กรณีคนที่เป็นโรคทางจิตเวชต่าง ๆ ประกอบ โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า ตัวโรคจะทำให้พวกเขามองโลกในแง่ลบ และไม่มั่นใจในตัวเอง กลัวว่าจะไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์ หรือรักษาความรักไว้ได้ รวมถึงกลัวความผิดหวัง จึงไม่กล้ามีความสัมพันธ์

หากอาการรุนแรง อาจเป็นโรคซึมเศร้าได้

หากกลัวมากจนถึงขนาดผิดปกติ จนส่งผลต่อสุขภาพ หรือเกิดความซึมเศร้า และไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนรอบข้างได้ ถือเป็นสัญญาณว่าควรปรึกษาแพทย์ ถึงสิ่งที่กลัว หรือสิ่งที่กำลังมีปัญหา เพื่อให้แพทย์ช่วยวิเคราะห์ และแก้ไขต่อไป หากเกิดจากประสบการณ์ในอดีต แพทย์จะให้คำแนะนำเพื่อการปรับตัวและสร้างความมั่นใจให้สามารถใช้ชีวิตปกติร่วมกับผู้อื่นได้”

สรุป

“โรคกลัวการตกหลุมรัก” ไม่ใช่โรคที่ก่อให้เกิดความอันตรายแก่ผู้อื่น แต่เป็นโรคที่ควรได้รับการรักษา เพราะอาจกระทบต่อความรู้สึก สภาพจิตใจ ตลอดจนความคิดได้ หากอาการรุนแรง มีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าร่วมได้ในอนาคตด้วย

การปรับวิธีคิด วิธีมองโลก และการเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ อาจทำให้เรามีความสุขขึ้นได้นะคะ

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.pobpad.com, www.pptvhd36.com, www.sanook.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคซึมเศร้าคืออะไร? ทำไมใคร ๆ ก็เป็น

ความกลัวกับโรคกลัวต่างกันอย่างไร ?

โรควิตกกังวลกับโรคซึมเศร้า

สงสัยจะมีปัญหากับโพรงจมูก “ไซนัส” ร้ายแรงกว่าที่คิด เป็นแล้วเป็นอีกได้!!!

“ภูมิแพ้” คืออะไร ทำไมหลายคนเป็นแล้วไม่หาย

“ไรฝุ่น” ภัยร้ายใกล้ตัวที่มองไม่เห็น เสี่ยงภูมิแพ้!!

แพ้อาหารทะเล โรคภูมิแพ้ที่ไม่หายขาด

สดชื่น! 5 วิธีป้องกันและสลัดอาการเมาค้างหลังปาร์ตี้

ไขมันทรานส์ ความเสี่ยงที่มากับอาหาร

น้ำเปล่า ดื่มน้อย เสี่ยงติดเชื้อในท่อปัสสาวะ

ควรรู้ เคี้ยวช้า ส่งผลดีต่อร่างกายมากกว่าที่คิด

กลืนเมล็ดผลไม้ อันตรายมากกว่าที่คิด

เบาหวานเป็นโรคของคนอ้วนจริงหรือ ?

เกรปฟรุ๊ต ผลไม้ลดน้ำหนัก กับข้อห้ามการทานยา

ดื่มนมมากไป อันตรายต่อชีวิต

ร่วมแสดงความคิดเห็น