เยือนถิ่นวัฒนธรรม “ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม” งานหัตถกรรมที่สืบทอดมานานกว่าหลายร้อยปี

ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ตอนที่ 14 ผ้าซิ่นตีนจก

“…แม่ภูมิใจ ที่แม่เกิดมาเป็นคนแม่แจ่ม แม่ภูมิใจ แม่ได้เกิดมาอยู่กับผ้าซิ่นตีนจก
ลูกหลานทำเป็นทุกคน สืบต่อแน่นอน แต่อาจจะน้อยลง  
ใครทอผ้าซิ่นตีนจกเป็นนี่ไม่อดตาย … ”
— สมหมาย กรรณิกา –

ศูนย์หัตถกรรมผ้าตีนจกแม่แจ่ม ตำบล ช่างเคิ่ง อำเภอ แม่แจ่ม จังหวัด เชียงใหม่ เป็นแหล่งสะสมภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ศิลปหัตถกรรมผ้าซิ่นตีนจก เป็นสิ่งที่อยู่คู่เคียงแม่แจ่ม และหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของชาวบ้านมาอย่างยาวนาน วัฒนธรรมที่ผูกพันกับชาวแม่แจ่ม เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตตั้งแต่เกิด จนล่วงลับไป หัตถกรรมผ้าทอมือที่มีเอกลักษณ์ แตกต่างจากที่อื่น ๆ มีลวดลายที่มีความละเอียด ประณีต สามารถใช้ได้ทั้งสองด้านในผืนเดียว มีลวดลายโบราณที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 16 ลาย และก็ยังมีลายโบราณ และลายประยุกต์อื่น ๆ มากสูงสุดถึง 100 ลาย

ภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า ที่สืบทอดมานานกว่าหลายร้อยปี เอกลักษณ์สำคัญของอำเภอแม่แจ่ม

เที่ยวบ่อน้ำแร่ ล่องแพน้ำแจ่ม พักแรมน้ำตก ผ้าตีนจกยอดน้ำมือ เป็นคำขวัญประจำอำเภอแม่แจ่ม มีที่ตั้งอยู่ในหุบเขา มีเทือกเขาถนนธงชัย และดอยอินทนนท์ล้อมรอบ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา และป่าไม้ ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของภาคเหนือ และถือเป็นหนึ่งในชุมชนไม่กี่แห่งของประเทศไทยที่ยังคงรักษา และสืบทอดมรดกพื้นเมืองผ้าซิ่นตีนจก อันเป็นศิลปหัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวแม่แจ่ม ที่มีคุณค่าทั้งความงดงาม และความหมาย สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม มีการนำวัตถุดิบจากธรรมชาติ มาสร้างสรรค์จนเกิดผลิตภัณฑ์อันล้ำค่า และสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อ ความศรัทธาต่อศาสนา ที่แฝงอยู่ในลวดลายของผ้าซิ่นตีนจก

ต้นกำเนิดของภูมิปัญญาล้ำค่านี้ มีการสันนิษฐานว่า ผ้าซิ่นตีนจกของแม่แจ่ม มีจุดกำเนิดมาจากการสืบทอดฝีมือจากเชื้อสายพญาเขื่อนแก้ว ผู้ปกครองเมืองเชียงราย ในยุคสมัยพระเจ้ากาวิละ ที่มีการการอพยพผู้คน เกิดการกวาดต้อนผู้คนจากเมืองเชียงแสน ซึ่งมีฝีมือด้านการทอผ้าซิ่นตีนจก เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บริเวณ อำเภอแม่แจ่ม ย้อนความไปกว่าสองร้อยปี ในแต่ละปีท้าวพญาเชียงแสน จะต้องส่งส่วย เครื่องบรรณาการให้กับเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ ของที่ส่งก็จะประกอบไปด้วยข้าว ไม้สัก รวมถึงผ้าซิ่นตีนจกด้วย ต่อมาเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ส่งวัสดุมีค่า ประเภทดิ้นเงิน ดิ้นทอง ผสมไหม มาให้ชาวเชียงแสนได้ทอผ้าซิ่น เพื่อส่งให้เจ้านายฝ่ายใน กระทั่งเมื่อมีการย้ายชาวเชียงแสนมาอยู่ที่อำเภอแม่แจ่ม สตรีชาวไทยวน จากเชียงแสนก็ยังคงทอผ้าซิ่นตีนจก เพื่อส่งให้กับเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ด้วยฝีมืออันประณีต ทำให้ราชสำนักเชียงใหม่ มีการส่งดิ้นเงิน ดิ้นทอง มายังแม่แจ่ม เพื่อให้สตรีได้มีการทอผ้าอย่างต่อเนื่อง ผ้าซิ่นตีนจกถือเป็นสมบัติล้ำค่า และเป็นสิ่งบ่งชี้ฐานะทางสังคม เพราะมีการออกกฎห้ามชาวบ้านสวมซิ่นที่ทอด้วยดิ้นเงิน ดิ้นทอง หรือไหมที่มีราคาแพง ผู้ที่อยู่ชนชั้นสูงจะห่มสไบ นุ่งผ้าซิ่นตีนจก ส่วนคนมีฐานะรองลงมา จะนุ่งผ้าซิ่นพื้นเมืองทำให้ผ้าซิ่นตีนจกมีการทอด้วยวัสดุที่ต่างกัน

ในอดีตการสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าซิ่นตีนจก เป็นการถ่ายทอดกันระหว่างคนในครอบครัว ทุกบ้านจะมีเครื่องมือทอผ้า ผู้หญิงทุกคนจะต้องสามารถทอผ้าได้ โดยจะเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่อายุยังน้อย จะถูกฝึกหัดให้รู้จักทอผ้า เพื่อที่จะทอผ้าสำหรับนุ่งห่มของตนเอง และครอบครัว เป็นการเรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อยไปทีละนิด ทุกวันนี้ชุมชนแม่แจ่ม ก็ยังคงรักษา และสืบทอดภูมิปัญญานี้อยู่ ยังคงนิยมทอ และใช้กันในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า ที่นอน หมอน ผ้าห่ม ซิ่นสำหรับนุ่ง โดยมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ซิ่นหอมอ้วน ซิ่นตาล่อง ซิ่นแอ้ม ซิ่นลัวะ รวมไปถึงผ้าซิ่นตีนจก งานหัตถกรรมผ้าซิ่นตีนจก จึงถือเป็นงานที่มีความละเอียด ประณีต สวยงาม และเป็นเอกลักษณ์ของอำเภอแม่แจ่มตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน

“…เรื่องผ้าซิ่นตีนจกของแม่แจ่ม มีทั้งลายประยุกต์ ลายโบราณ จริง ๆ แล้ว ลายโบราณจะมี 16 ลาย แล้วก็มีหลายร้อยลายที่แยกออกมา อย่างในชุมชนนี้ก็ยังมีคนทอ คนสืบทอด สอนลูกสอนหลานให้ทำเป็นหมดทุกคน รุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย จะไม่ทิ้ง ได้ขาย ไม่ได้ขาย ก็ทอ…” — สมหมาย กรรณิกา –

“ผ้าซิ่นตีนจก” ศิลปหัตถกรรมที่แฝงไปด้วยความเชื่อ ความศรัทธา เป็นมรดกตกทอดมาสู่ปัจจุบัน

ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม เป็นศิลปหัตถกรรมที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษมาแต่โบราณกาล อันเกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นโดยมีการสันนิษฐานว่าผ้าซิ่นตีนจกของแม่แจ่มนั้น น่าจะมาพร้อมกับยุคสมัยที่พุทธศาสนาของล้านนานั้นมีความเจริญรุ่งเรือง เนื่องจากลวดลายของผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม มีสัญลักษณ์ของความคิด ความเชื่อทางพุทธศาสนา มีองค์ประกอบที่ปรากฏผ่านลวดลายต่าง ๆ อย่าง โคม ขัน นาค หงส์ น้ำต้น สะเปา อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของความเชื่อทางพุทธศาสนา ที่หมายถึง เขาพระสุเมรุ ทะเลสีทันดร และ สัตว์หิมพานต์ ดังปรากฏอยู่ในการเทศน์มหาชาติ ช่วงลอยกระทงของทุกปี สีแดง เป็นเชิงซิ่นอันหมายถึง สวรรค์ หรือจักรวาล เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเคารพ การสักการะ ถือเป็นพุทธบูชาของผู้ทอ และผู้สวมใส่ ทำให้เกิดความสง่าราศี เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และในส่วนของศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้เกิดบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ โดยมีสวรรค์ และนิพพานเป็นจุดหมายปลายทาง นอกจากนี้สตรีแม่แจ่มทุกคน จะมีการเก็บผ้าซิ่นตีนจกผืนที่ดีที่สุด งามที่สุด สำหรับตัวเองไว้ใส่เมื่อยามละสังขารแล้ว มีความเชื่อ เพื่อจะได้ไปไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์เป็นครั้งสุดท้าย

“…เมื่อก่อนผ้าซิ่นตีนจกมันไม่ได้ทำมาขาย เขาทำเพื่อใส่ไปวัดวาสำหรับคนแก่ คนแก่แต่ก่อนเขาจะนุ่งผ้าซิ่นตีนจกกันเมื่อมีเทศกาล เอาใส่วัด แม่เชื่อว่าผ้าซิ่นตีนจกมันมีคุณค่าทางจิตใจของคนเรา ผ้าโบราณของแม่มีสองผืน ที่เก่าที่สุด ทุกวันนี้ผ้าสองผืนนั้นก็ยังอยู่ ขายไม่ได้ราคาเป็นล้านก็ขายไม่ได้ คนแก่ คนเฒ่า ผ้าผืนไหนที่เขารักจะให้ลูกหลานเก็บไว้…”สมหมาย กรรณิกา –

เอกลักษณ์ของผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม คือ ลวดลายบนตีนซิ่นที่ทออย่างละเอียดด้วยลายโบราณทั้ง 16 ลาย แต่ละลวดลายจะมีความหมายเชื่อมโยงกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา และประยุกต์สร้างสรรค์ขึ้นมาจากจินตนาการของผู้ทอ ความพิเศษของผ้าซิ่นตีนจกนั้น คือลวดลายทั้งสองด้านจะมีความละเอียดที่เหมือนกัน เป็นผ้าซิ่นที่สามารถใส่ได้ทั้งสองด้าน ชาวแม่แจ่มทุกหลังคาเรือนจะมีผ้าซิ่นตีนจกเป็นของตัวเอง ผ้าซิ่นตีนจกจะแยกออกเป็น 2 ประเภท จะมีแบบประยุกต์ลายง่าย จะใช้วัสดุจำพวกใยสังเคราะห์ในการทำลวดลาย กับลวดลายโบราณ จะใช้เวลาทอที่นานกว่า ด้วยความละเอียด และมีการใช้ฝ้ายในการทอ โดยผ้าซิ่นตีนจกนั้นมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ ส่วนเอวซิ่น ส่วนตัวซิ่น และส่วนที่เป็นตีนจก หรือตีนซิ่น เมื่อนำทั้ง 3 ส่วน มาเย็บต่อกันก็จะได้ซิ่นตีนจก 1 ผืน

ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม มีลักษณะเด่นในการสร้างผลงานของช่างผู้ทอ มีการประยุกต์ในรูปแบบต่าง ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งลวดลายดั้งเดิม ที่ส่งต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาล ซึ่งลวดลายของผ้าซิ่นตีนจกนั้น มีการแบ่งหมวดหมู่ลักษณะ จะมีลวดลายอุดมคติ ซึ่งเป็นลวดลายที่สะท้อนความเชื่อในศาสนา ออกมาเป็นรูปสัญลักษณ์อันเกี่ยวเนื่องกับศาสนา สามารถพบลวดลายลักษณะนี้ได้ในผ้าซิ่นตีนจกเป็นส่วนใหญ่ สัญลักษณ์ที่ว่าก็คือ รูปโคม ขัน น้ำต้น นาค หงส์สะเปา ขันดอก รูปหงส์ หรือลายนาค ที่ประกอบขึ้นเป็นผ้าซิ่นตีนจก ลวดลายคน และสัตว์ สัญลักษณ์ที่พบในผ้าซิ่นตีนจก คือ รูปม้า ช้าง ไก่ ลา ปู กบ ลายเขี้ยวหมา ลายงูเตวตาง ลายฟันปลา และลายคน ลวดลายพรรณพฤกษา จะพบในหน้าหมอนเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ ลายดอกจันทร์ กุดผักแว่น และลวดลายเปรียบเทียบสิ่งของใกล้ตัว อย่างเช่น ลายกุดตาแสง กุดพ่อเฮือนเมา กุดกระแจ กุดขอเบ็ด กุดสามเสา เป็นต้น

ผ้าซิ่นตีนจกจะนิยมใช้นุ่งในงานพิธีสำคัญทางศาสนา เช่น งานปอยหลวง วันศีล วันพระ เข้าพรรษา ออกพรรษา พิธีสืบชะตา ตานก๋วยสลาก หรือปีใหม่ นอกจากนี้ยังเป็นของสำคัญที่ลูกสะใภ้ นิยมใช้เป็นของไหว้แม่สามี หรือผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ในงานประเพณีต่าง ๆ เช่น การรดน้ำดำหัว นอกเหนือจากใช้สวมใส่ในงานพิธีสำคัญแล้ว ชาวสตรีแม่แจ่ม ยังมีการเตรียมผ้าซิ่นตีนจกไว้นุ่งห่มหลังจากความตาย ตามหลักความเชื่อ มักจะทอผ้าซิ่นตีนจกอย่างน้อย 3 ผืนในชีวิต ผืนที่ 1 เพื่อใช้นุ่งห่อศพตอนเสียชีวิต และนำไปเผาพร้อมกับร่าง โดยเชื่อว่าผู้ตายได้สวมใส่ไปบูชายังพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ผืนที่ 2 ให้ลูกหลานนำไปถวายทาน ตอนทำบุญอุทิศส่วนกุศล เพราะเชื่อว่าจะทำให้ได้นุ่งซิ่นตีนจกไปสู่สวรรค์ ผืนที่ 3 จะให้ลูกหลานเก็บไว้ เพื่อเป็นมรดกตกทอดสืบต่อกันไป

“…ถ้าจะถือว่าเราเป็นหมู่บ้านแรก ๆ ที่ทำผ้า ก็เป็นไปได้เราจะต้องทอผ้าซิ่นอย่างน้อย 3 ผืนถ้าคนแก่เขาจะทำไว้ ผืนหนึ่งจะเก็บไว้ใส่ตอนเสียชีวิต คือใส่แล้วเผาไปเลยพร้อมร่างอีกผืนนึงก็เก็บไว้ทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับคนที่เสียชีวิตไปอีกผืนนึง ก็เก็บไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานผ้าซิ่นตีนจก มันมีคุณค่าทางจิตใจของเราตายเราก็ต้องใส่ผ้าซิ่นตีนจก มันเป็นความเชื่อของคนแม่แจ่มถ้าได้ใส่ผ้าซิ่นผืนที่เขาทอ หรือผืนที่เรารักเวลาเราเสียชีวิต มันเหมือนเราใส่ผ้านี้แล้วขึ้นสรวงสวรรค์ไปไหว้พระธาตุเกตุแก้วจุฬามณี…” — ชุติมันต์ กรรณิกา –

“ผ้าซิ่นตีนจก” มรดกล้ำค่าของชาวแม่แจ่ม แหล่งทอผ้าซิ่นตีนจกอันเลื่องชื่อ

การทอผ้าซิ่นตีนจกนั้นต้องใช้ความประณีตในการจก เพราะลวดลายมีความละเอียดเป็นอย่างมาก รวมถึงการสอดสีเส้นฝ้าย การทอแต่ละผืนจึงใช้เวลานาน“…ลายมันจะละเอียดมาก อย่างส่วนล่างของซิ่นของที่อื่น อาจจะทอแบบใหญ่ ๆ ห่าง ๆ แต่ของแม่แจ่มจะละเอียดทุกขั้นตอน ถ้าพูดถึงลายที่ยากที่สุด ลายโบราณนี่จะยากทุกลายเลย แต่ที่ช้าที่สุด ก็คือลายขันเสี้ยนสำ ช่างทอ 16 ลายนี้ ฝีมือดี สติปัญญาดี เพราะว่าแต่ละลายนี้มันไม่เท่ากัน แต่สามารถเอามาตัด ทำให้มันตรงกันเป๊ะเลย สามารถโชว์ลายได้ทั้งสองด้าน…”
— สมหมาย กรรณิกา –

ขั้นตอนการทำผ้าซิ่นตีนจกในแต่ละผืนนั้น จะเริ่มจากการเก็บดอกฝ้าย เตรียมเส้นฝ้ายเพื่อย้อมสี ซักตากให้แห้ง ต้มน้ำข้าวสวยเพิ่มความเหนียว นําไปล้างน้ำ ตากให้แห้งอีกครั้ง จากนั้นนํามามวนแล้วขึ้นกี่ทอผ้า เริ่มกระบวนการทอ โดยการเหยียบไม้ที่ผูกติดตะกอ เส้นยืนจะถูกแยกออก เกิดช่องว่างให้สอดกระสวยได้พุ่งผ่านได้ เมื่อพุ่งกระสวยแล้วต้องกระทบฟืมเสมอ เพื่อให้ด้ายพุ่งแนบติดกัน หรือทอพิเศษ ด้วยกระสวย 2 ตัว บรรจุด้ายตัวละสี พุ่งเข้าหากันตรงกลาง และไขว้เส้นด้ายกัน เมื่อทอได้ผ้าความยาวช่วงหนึ่งจะเริ่มทำการจก

การจก จะใช้ขนเม่น หรือเหล็กแหลม ควักด้ายเส้นยืนตามลวดลายในแต่ละแถว และสอดเส้นพุ่งที่เตรียมไว้ ผู้ทอก็จะมีการทอสลับสีตามความคิด จินตนาการลวดลายของตัวผู้ทอเอง โดยทุกกระบวนการจะอยู่บนความชำนาญของผู้ทอ เมื่อจกครบแล้ว ก็จะทำการจกด้านหลังของผ้า และใช้วิธีการผูกเก็บปม โดยต้องผูกเก็บเส้นด้ายให้เป็นระเบียบสวยงาม ไม่มีเส้นด้ายไขว้ไปมา ผ้าที่ได้จะมีลวดลายแน่นเรียบ คล้ายกันทั้งด้านหน้า และด้านหลัง สามารถใช้ผ้าได้ทั้งสองด้าน เอกลักษณ์สำคัญของช่างทอผ้าแม่แจ่มนั้น คือจะใช้กี่ทอผ้าที่ทำจากไม้ เป็นกี่ทอผ้าแบบโบราณ ที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมีอายุการใช้งานนับร้อยปี สิ่งที่มหัศจรรย์ คือ กี่ทอผ้าทุกตัวที่ส่งต่อมานานกว่าร้อยปีนั้นยังสามารถใช้การได้ดี แต่ที่น่าทึ่งยิ่งกว่า คือสายตาอันเฉียบคม และฝีไม้ลายมือที่ละเอียดของช่างทอผ้ารุ่นคุณย่าคุณยาย ที่สร้างสรรค์ลายโบราณออกมาได้ละเอียดยิบ ด้วยงานทอมือทั้งหมด โดยที่อายุไม่ใช่อุปสรรค

ผ้าซิ่นตีนจกนับเป็นศิลปะการสร้างลวดลายบนผืนผ้าที่มีความเป็นอิสระในตัวเอง ผู้ทอสามารถสร้างจินตนาการ และแสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ของตนเองได้ โดยยังคงไม่ละทิ้งอัตลักษณ์สำคัญของลวดลายโบราณ ที่แฝงไปด้วยความเชื่อ ความศรัทธา และสะท้อนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวแม่แจ่ม ถือเป็นผลงานที่สามารถพัฒนาการไปได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด และปรับร่วมเข้าได้กับทุกยุคทุกสมัยที่มีการผันแปรเปลี่ยนอยู่เสมอ

“…ในหมู่บ้านนี้ ทุกหลังคาเรือนจะต้องมีกี่ไม้ แม่แจ่มไม่มีเครื่องจักรเลยค่ะ มือล้วน ๆ มาแวะเที่ยว แวะชมผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม ที่ศูนย์หัตถกรรม หรือในหมู่บ้าน เรามีให้ดู มีทั้งร้านค้าที่ผลิต เที่ยวดูตามหมู่บ้านได้ มาดูวิธีการทอ จะซื้อ จะมาหา แค่มาพูด มาทักทาย มาสนใจผ้าซิ่นตีนจก ก็มาได้ค่ะ มาเที่ยวที่บ้านท้องฝาย…”
— สมหมาย กรรณิกา –

ผ้าซิ่นตีนจกทุกผืนผ่านการปั่นฝ้ายด้วยหัวใจ ทอด้วยจิตวิญญาณ สืบสานด้วยความวิริยะอุตสาหะ และส่งต่อความภาคภูมิใจของชาวแม่แจ่ม สายน้ำแม่แจ่มยังไหลเชี่ยวไกลฉันใด ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่มก็จะแผ่ชื่อเสียงไพศาลไปอีกไกลฉันนั้น ขอเพียงพลังจากคนรุ่นใหม่ช่วยกันนําเสนอ เข้ามาสัมผัสกับวิถีชีวิต และเรียนรู้กระบวนการทอ จะได้เห็นถึงคุณค่าของผ้าซิ่นตีนจก ว่าไม่ใช่แค่ความสวยงาม แต่ด้ายทุกเส้น ลายทุกลาย ล้วนมีความเชื่อ ความศรัทธา ความประณีต ความเอาใจใส่ของช่างทอทุกคน ช่วยกันสนับสนุนภูมิปัญญาล้ำค่านี้ ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่มจะได้ก้าวไปสู่ระดับโลก เป็นมรดกล้ำค่าของสตรีแม่แจ่มไปตลอดกาล

“…เราภูมิใจ ทุกวันนี้เราไปไหน เขาก็รู้จัก ว่าเราอยู่แม่แจ่ม มีผ้าซิ่นของแม่แจ่ม
ใหม่ก็เอา เก่าก็บ่ละ คือ ของใหม่ ของทันสมัย เราก็เอา แต่ของเก่า เราก็ยังคงรักษาอยู่…”
— ชุติมันต์ กรรณิกา –

ร่วมแสดงความคิดเห็น