วิถีแห่ง “เจิง” ศาสตร์ศิลป์การต่อสู้ นาฏกรรมสะท้อนความยิ่งใหญ่ของล้านนา

ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ตอนที่ 19 การฟ้อนเจิง

“…วิชาความรู้ ถ้าเราอม มันจะหาย ถ้าคาย มันจะอยู่ต่อไป
คนรุ่นใหม่จะสามารถสื่อสารกับคนรุ่นเดียวกัน
และ คนรุ่นถัดไปได้ดีกว่าคนรุ่นเก่าเสมอ เพราะฉะนั้น ฝากทุกคนช่วยกัน… ”
— ศรัณ สุวรรณโชติ –

ฟ้อนเจิง ศิลปะการต่อสู้ เอกลักษณ์สำคัญของล้านนา เป็นนาฏกรรมที่สะท้อนรูปแบบศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตอย่างหนึ่งของชาวภาคเหนือ เรื่องราวของศิลปะการต่อสู้ และทักษะป้องกันตัว ที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษมาจนถึงปัจจุบันนี้ ในอดีต เจิง มีความสำคัญ เป็นศิลปะโบราณที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับวิถีชีวิตชาวล้านนา เป็นการต่อสู้ การป้องกันตัวของบรรพบุรุษล้านนา ในยามสงครามสมัยก่อน แต่ปัจจุบันนี้ ไร้ซึ่งสงคราม ฟ้อนเจิงจึงถูกลดบทบาทลงไปมาก และมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เจิงจากเป็นทักษะการต่อสู้ ก็ปรับเปลี่ยนเป็นการฝึกเพื่อพัฒนาสุขภาพกาย และใจ  ฝึกเพื่อจัดระเบียบร่างกาย และฝึกสมาธิ จากยุทธการ ทำเพื่อการต่อสู้ กลายมาเป็น นาฏยกรรม ท่ารำที่สะท้อนอัตลักษณ์ของล้านนา

“การฟ้อนเจิง” จากยุทธการสู่นาฏกรรมแห่งความภาคภูมิใจของชาวล้านนา

“…ฟ้อนเจิงเป็นศิลปะการต่อสู้ ป้องกันตัวของชาวล้านนามาตั้งแต่โบราณ วิถีของเจิง นอกจากการฝึกในเรื่องของกระบวนท่าการต่อสู้ ยังฝึกในเรื่องของการประพฤติการครองตน ทำอย่างไรให้เรามีความปกติสุข ให้มีความปลอดภัย เป็นการควบคุมร่างกาย สายตาจะคอยสอดส่อง มองใกล้ มองกลาง มองไกล ว่ามีสิ่งใดผิดปกติ อันนี้คือเจิง ที่ต้องฝึกใช้การใช้งาน มีสติมีสัมปชัญญะ มีไหวพริบปฏิภาณ ในการเอาตัวรอด แล้วท่วงท่าทำนองที่เราฝึกมา หมัดเท้าเข่าศอก อันนั้นก็คือ ชั้นเชิง มันคือเจิงแบบหนึ่ง…” — ศรัณ สุวรรณโชติ –

เจิง หมายถึง ชั้นเชิงในการต่อสู้ คำว่าเจิง มาจากคำว่าชั้นเชิง แต่คนล้านนา มีการออกเสียง ช ช้าง เป็น จ จาน เช่น ช้าง จะออกเสียงว่า จ๊าง ดังนั้นคำว่า เชิง จึงถูกออกเสียงเป็นเจิง ซึ่งเจิงเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างหลากหลายท่วงท่า เพื่อเป็นศิลปะการต่อสู้ และป้องกันตัวแก่ผู้ที่ได้ฝึกทักษะการเป็นเจิง มีการแตกแขนงกลยุทธ์ ถ่ายทอดศิลปะ สืบต่อกันมาจนกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของล้านนา ตัวอย่างชั้นเชิงการต่อสู้ของชาวล้านนา จะมีชื่อเรียกขึ้นอยู่กับอาวุธที่ใช้ เช่น เจิงมือเปล่า เจิงหอก เจิงดาบ เจิงไม้ค้อนสองหัว เป็นต้น

ฟ้อนเจิง เป็นการฟ้อนของผู้ชาย มักจะแสดงออกในลีลาของนักรบ ก่อนที่จะมีการฟ้อนเจิง ก็ต้องมีการฟ้อนตบมะผาบ ซึ่งเป็นการฟ้อนด้วยมือเปล่าที่ใช้ลีลาท่าทางยั่วเย้าให้คู่ต่อสู้บันดาลโทสะ ใช้มือทั้งสองข้าง ตบไปที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อให้เกิดเสียงดัง ด้วยท่าทางที่สง่างาม นัยว่าเป็นการปลุกเสกให้ร่างกายมีความคงกระพันชาตรี และถือเป็นการแสดงความแข็งแกร่งของความเป็นชาย ในสมัยก่อนการรบกันจะใช้อาวุธสั้น เช่น ดาบ หอก โดยเหล่าทหารจะรำดาบเข้าประชันกัน ใครที่มีชั้นเชิงดีกว่าก็จะชนะ ด้วยการรำตบมะผาบในท่าทางต่าง ๆ โดยถือหลักว่าคนที่มีโทสะจะขาดความยั้งคิด และเมื่อนั้นย่อมจะเสียเปรียบคนที่ใจเย็นกว่า เมื่อมีการรำตบมะผาบแล้ว ก็จะมีการฟ้อนเจิงประกอบ เมื่อเห็นว่ามีความกล้าหาญพอแล้วก็เข้าปะทะกันได้

ผู้ชายชาวล้านนาในอดีตมักจะฝึกทักษะ “เจิง” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันภัยให้กับตัวเอง ด้วยรูปแบบ และลีลาท่าทางในการแสดงออกที่มีทั้งความเข้มแข็ง สง่างาม ซ่อนเร้นชั้นเชิง สลับท่าทาง ไปมา ยากในการที่จะทำความเข้าใจ มีการต่อสู้ทั้งรุก และรับ ประลองไหวพริบซึ่งกันและกัน เอาชนะกันอย่างมีชั้นเชิง ประเภทของฟ้อนเจิง จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ฟ้อนเจิงมือเปล่า และ ฟ้อนเจิงประกอบอาวุธ

ในปัจจุบันเจิงมักจะจัดทำการแสดงในงานประเพณีต่าง ๆ ของภาคเหนือ แสดงออกโดยการนำท่าทางลวดลายในการต่อสู้ของกระบวนท่าตามแบบแผนการต่อสู้ ที่ใช้ในทำการรบในสงคราม หรือที่ปรับมาใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งด้วยมือเปล่า และด้วยอาวุธ มาร่ายรำประกอบเข้ากับจังหวะกลอง ด้วยลีลาที่อ่อนช้อยงดงาม อันแฝงไว้ซึ่งความแข็งแกร่งดุดัน

วิถีแห่งเจิง ลีลาการฟ้อนอันเป็นอัตลักษณ์ ภูมิปัญญาของบรรพชนไทย

“…วิชาเจิง แต่ก่อนนั้นมันเป็นวิชาของนักรบ เขาเอาไว้รบทัพจับศึก เป็นการรบในระยะประชิด คนสมัยโบราณถึงพัฒนากลวิธีการต่อสู้ขึ้นมาให้เป็นชั้นเป็นเชิง แต่มาถึงในยุคสมัยปัจจุบัน ยุคสมัยใหม่ มีความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน วิชาเจิงก็เลยลดบทบาทลงไปอย่างมาก เราก็จะเห็นแต่ในเรื่องของการ ฟ้อนเจิง ฟ้อนดาบ ในงานบุญ งานประเพณี งานเทศกาลต่าง ๆ แต่ที่จริงแล้ว ในวิถีของเจิง มันยังฝึกในเรื่องของวิธีการประพฤติ การครองตน จะทำยังไงให้เรามีความเป็นปกติสุข ให้มีความปลอดภัย…” — ศรัณ สุวรรณโชติ –

การฝึกฟ้อนเจิง จะเริ่มจากการหัดเดินเท้า คือการย่างเท้าให้มีกระบวนท่า โดยฝึกย่างไปตามขุมเจิง ซึ่ง “ขุม” หมายถึงหลุม “เจิง” คือ ชั้นเชิงคนโบราณเวลาถ่ายทอดชั้นเชิงการต่อสู้ จะขุดหน้าดินให้เป็นหลุมลึก ปักไม้ หรือฝังก้อนอิฐ เพื่อกำหนดจุด ตำแหน่งการวางเท้า การย่างจะต้องไปตามขุมอย่างมีชั้นเชิง มีจังหวะรับ และหนี พร้อมด้วยการวาดมือออกไปให้สัมพันธ์กับเท้าที่ก้าวอยู่ให้สมดุล และเพื่อความสง่างาม อีกทั้งต้องกะระยะจังหวะการย่างให้ถูกกระบวนยุทธ ที่เรียกว่า “ย่างขุม” การได้ฝึกฝนจนเกิดทักษะในการย่างขุม จะทำให้เกิดความสง่างามในเชิง ยุทธลีลา และอีกหนึ่งสิ่งที่ถือว่ามีความสำคัญควบคู่กับขุมเจิง คือ แม่ลาย ขุมเจิงเป็นทฤษฎีของการเดินเท้า แม่ลายจะเป็นทฤษฎีของการเคลื่อนไหวของร่างกายส่วนบน โดยเฉพาะลำแขน และมือ

เมื่อผู้ฟ้อนฝึกสิ่งเหล่านี้ได้ ครูผู้สอนจะเริ่มสอนลีลา ที่เห็นว่าเหมาะกับบุคลิกของผู้ฟ้อนแต่ละคน ซึ่งลีลาดังกล่าวเรียกว่า “ลูกไม้” และลีลาการฟ้อนเจิงของแต่ละสำนัก ก็จะมีลวดลายต่างกันออกไป แต่ก็ให้อรรถรสที่เร้าใจในลีลาท่วงท่าการต่อสู้เหมือนกัน ลักษณะการเดิน การวางเท้า จึงกลายเป็นหัวใจของการฟ้อนเจิง ถ้าเราเข้าใจวิถีของขุมก็จะทำให้เรามีศักยภาพในการย่างก้าวให้สง่างาม และชำนาญ

ปัจจุบันการฟ้อนเจิงจะฟ้อนเข้ากับวงกลองต่าง ๆ อาทิ วงกลองปู่เจ่ วงกลองมองเซิง วงกลองสะบัดชัย หรือกลองปู่จา เพราะกลองเหล่านี้มักจะให้จังหวะที่คึกคักเร้าใจ เหมาะแก่การแสดงออกซึ่งความแข็งแกร่ง และพละกำลังของชายหนุ่ม ผู้ฟ้อนแต่ละคนมักจะเลือกเพลงที่มีจังหวะช้า-เร็วในตัว เมื่อเริ่มการแสดงจะเป็นจังหวะกลองที่ช้า ๆ แล้วจะเริ่มปรับเป็นเร็วในตอนท้าย เพื่อเป็นการสร้างความฮึกเหิม และสร้างขวัญกำลังใจ ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ความลื่นไหลของวัฒนธรรมที่มีการปรับเปลี่ยน จากเครื่องดนตรีเดิม ๆ ก็สามารถฟ้อนได้กับเครื่องดนตรีสมัยใหม่ที่สร้างจังหวะแทนได้ เปลี่ยนจากการป้องกันตัว เป็นศิลปะการแสดงเพื่อถ่ายทอดทางวัฒนธรรม

ผู้ขับเคลื่อนศิลปะ ปลุกการฟ้อนเจิง ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

ครูนิค ศรัณ สุวรรณโชติ สล่าเจิงล้านนา ผู้ที่สานต่อศิลป์ศาสตร์การต่อสู้ล้านนาให้ยังคงอยู่คู่กับล้านนา แม้ว่าในปัจจุบันนี้ นาฏกรรมพื้นบ้านอย่างฟ้อนเจิงนั้นได้ถูกลดบทบาทลง เริ่มเลือนหายไปกลายเป็นสิ่งที่หาชมได้ยาก แต่สล่าเจิงก็ยังมีความมุ่งมานะ ตั้งใจที่จะทำให้การฟ้อนเจิงนี้กลับมาเป็นที่นิยม ครูนิค มีการเผยแพร่องค์ความรู้ และความสง่างามของฟ้อนเจิงสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเผยแพร่ผ่านการแสดง ที่ได้รับการติดต่อทั่วประเทศไทย การแสดงตามงานเทศกาลต่าง ๆ หรือการเปิดคอร์สการเรียน การสอน ที่โรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ให้กับผู้ที่สนใจในวัฒนธรรมล้ำค่านี้

การฟ้อนเจิงแต่เดิมเป็นการแสดงของบุรุษเพียงเท่านั้น เป็นเรื่องของพิธีกรรม และความเข้มแข็ง ฮึกเหิม แต่ในปัจจุบันจะมีบรรดาผู้หญิงมาฟ้อนเจิงเพิ่มกันมากขึ้น ถือเป็นก้าวใหม่ที่น่าสนใจ การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมให้ทุกเพศ ทุกวัยสามารถเข้าถึง จับต้องได้ และในวันนี้ฟ้อนเจิงได้มีการประยุกต์ให้กลายมาเป็นการออกกำลังกายรวมกลุ่มแบบใหม่ จากยุทธการเปลี่ยนมาสู่นาฏกรรม จากศิลปะการต่อสู้สู่ศิลปะการแสดง ถึงแม้ในวันนี้ฟ้อนเจิงจะมีความหมายที่เปลี่ยนไป แต่คุณค่ายังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

“…จากการที่เราสืบสานงานสอน ที่โรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เป็นระยะเวลากว่า 25 ปี ที่โรงเรียนแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นมา หลาย ๆ คน ได้นำไปเผยแพร่ ส่งต่อ กลายมาเป็นบุคลากร เป็นครูเจิงรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่จะสามารถสื่อสารกับคนรุ่นเดียวกัน และคนรุ่นถัดไปได้ดีกว่าคนรุ่นเก่าเสมอ เราจะเอาตัวของเราเองเป็นที่ตั้งนั้นคงไม่ได้อีกต่อไป…” — ศรัณ สุวรรณโชติ –

One – Stop จบที่นี่ที่เดียว โรงเรียนแห่งการเรียนรู้วัฒนธรรมล้านนา รวมภูมิปัญญาล้ำค่า ส่งต่อคนรุ่นใหม่

อีกหนึ่งพลังสำคัญในการอนุรักษ์ ที่ทำให้วัฒนธรรมล้านนายังคงอยู่คู่ดินแดนล้านนาแห่งนี้ “โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา” ศูนย์การเรียนรู้ที่รวบรวมวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ มาไว้ด้วยกัน มีการจัดการเรียน การสอน โดยครูผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพื่อเป็นการสานต่อลมหายใจแห่งวัฒนธรรม

โรงเรียนแห่งนี้ได้มีการตั้งมั่นในการส่งเสริม และพัฒนาคลังภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อรวบรวมเรื่องราวภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเสริมสร้างคุณค่า และเพิ่มมูลค่า ดำรงรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมให้คงอยู่ในชุมชน ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ และหวงแหนภูมิปัญญาของท้องถิ่นตนเอง สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นแก่คนรุ่นหลัง รวมถึงเป็นการเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักแก่บุคคลทั่วไป พ่อครูเจริญ มาลาโรจน์ (นามปากกา มาลา คำจันทร์) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2556 ได้บอกเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา

“…เป็นเอกชนที่คิดกันขึ้นมา วิธีการเข้าหา หรือวิธีการเข้าถึงมันง่ายกว่า คำศัพท์สมัยใหม่เขาว่า one stop คือมันจบที่นี่ เลยเข้าถึงได้ง่าย แล้วคนก็มาง่าย การพูด การจา วิธีการต้อนรับ วิธีการปฏิสัมพันธ์ มันเป็นแบบพื้นบ้าน พื้นเมือง อย่างง่าย ๆ แบบชาวบ้าน…

โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เกิดจากความร่วมมือของพ่อครู แม่ครู กลุ่มศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน องค์กรพัฒนาต่าง ๆ เพื่อทำการถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญา ให้กับลูกหลาน และผู้สนใจในท้องถิ่น นําเสนอกระบวนการสืบทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นสาขาต่างๆ รูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถสืบสานได้อย่างต่อเนื่อง มีการเปิดกว้างสำหรับนักเดินทางที่ต้องการสัมผัสวัฒนธรรมล้านนาในทุกด้าน ได้มาลองเรียนรู้ภูมิปัญญาอันงดงามแห่งล้านนา ทำการสอน และสาธิตโดยครู สล่า และปราชญ์ท้องถิ่น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อวิถีชีวิต ภูมิปัญญา ทำให้สิ่งล้ำค่าเหล่านี้ถูกละเลยจนน่าเป็นห่วง ขาดการสืบทอดจากผู้รู้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่หลงใหลไปกับวัฒนธรรมภายนอก และไม่ได้มีการสืบทอดความรู้ ภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษเลย โรงเรียนแห่งนี้จึงสร้างขึ้นมา เพื่อรวบรวมวัฒนธรรมที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวล้านนา และเปิดรับสมัครนักเรียน และผู้สนใจเข้าเรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านแขนงต่าง ๆ อาทิ การทอผ้า การทำตุง ทำโคม ดนตรีพื้นเมือง ฟ้อนรำพื้นบ้าน การวาดรูปล้านนา อาหารพื้นบ้าน แกะสลัก จักสาน งานปั้น ภาษาล้านนา เครื่องเขิน รวมไปถึงวิชาทางด้านสล่าเมือง

“…ในวันนี้ เราเปิดคอร์สการเรียน การสอนของโรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา หนึ่งในวิชาที่สอนก็คือ วิชาฟ้อนเจิง ฟ้อนดาบคนที่มาเรียนมีทุกเพศ ทุกวัย เขารักศิลปะเจิง การฟ้อนเจิง ฟ้อนดาบ ก็ยังสามารถที่จะตอบสนองวิถีชีวิตของเด็กยุคปัจจุบันได้ยกตัวอย่างเช่น การเอาไปใช้ในการแสดง ในกิจกรรมของโรงเรียนเด็กเอาไปแสดงแล้วก็มีความภาคภูมิใจเพราะว่ามีเด็กไม่มากที่จะแสดงฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิงได้การเผยแพร่เด็กบางคนสามารถนำไปเผยแพร่ต่างประเทศได้ ได้รับทุนการศึกษาเจิงอยู่ในกระบวนการอนุรักษ์ ฟื้นฟู แล้วก็เผยแพร่กระบวนการเผยแพร่นั้นมันจึงเป็นกระบวนการพิสูจน์พิสูจน์ตัวตน พิสูจน์ฝีมือ พิสูจน์วิชาสิ่งเหล่านี้ก็คือต้องแผ่ขยายออกไป ผ่านสื่อ ผ่านผู้คน ผ่านการเรียนรู้ขยายบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ความชำนาญในการถ่ายทอดไปสู่คนต่อ ๆไปต้องมีฝ่ายสนับสนุน ทั้งภาครัฐ ทั้งภาคเอกชน ที่เห็นคุณค่า…” — ศรัณ สุวรรณโชติ –

รากเหง้าที่แข็งแกร่งของเจิงจะแผ่ลีลาท่าทางไปได้ไกลมากแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่า คนในสังคมสมัยใหม่จะมองเห็นท่วงท่าของเจิงที่แฝงอยู่ในชีวิตของตนเอง และผู้อื่นหรือไม่ ตอนนี้การฟ้อนเจิงยังมีการเรียนการสอนอยู่ เพื่อที่จะสืบทอดศิลปวัฒนธรรมล้านนา ให้ยังคงอยู่ และแพร่หลาย เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น เพราะนอกจากเจิงจะมีความงามในท่วงท่าแล้ว ยังมีการประยุกต์ใช้กับอย่างอื่นได้อีกด้วย

หนึ่งใน Soft power ของเมืองล้านนา การฟ้อนเจิง ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้กับลูกหลานได้เรียนรู้ และสืบทอดต่อไปอย่างยั่งยืน การฟ้อนเจิงในปัจจุบันยังไม่เลือนหายไป ยังคงมีการแสดงให้เห็นอยู่ หากแต่ทรัพยากรศิลปินดูเหลือน้อยเต็มที จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเสาะหาคนรุ่นใหม่ ผู้ที่จะมาสืบทอดต่อ ก่อนที่ศิลปะอันล้ำค่านี้จะเลือนหายไปกับกาลเวลา

“…ในยุคสมัยปัจจุบัน วิชาเจิงถูกลดบทบาทลงไปอย่างมาก ขอฝากทุกคน ช่วยกันทำให้ศิลปวัฒนธรรม
ทำให้อนาคตของเรา เยาวชนของเรา เติบใหญ่เป็นอนาคตของชาติบ้านเมือง
มีความสมบูรณ์ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ…”
— ศรัณ สุวรรณโชติ –

ร่วมแสดงความคิดเห็น