“ดนตรีล้านนาดั้งเดิม” เสียงบรรเลงแห่งความสุข เสน่ห์ล้านนาที่ไม่เคยจางหาย

ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ตอนที่ 22 ดนตรีล้านนาดั้งเดิม

“…เมื่อก่อนดนตรีพื้นเมืองไปที่ไหนเขาก็เบะปากใส่ บอกเชย
ปัจจุบันเด็ก ๆ เล่นสะล้อ ซอ ซึงกัน  ใครเล่นเป็นก็ถือว่าเท่เลย เราต้องมีฝัน
อย่างครูแอ๊ดฝัน ฝันว่าอยากจะเอาดนตรีไปเล่นดาวอังคาร มันคือฝัน…ฝันให้มันไกล ๆ… ”
— ภานุทัต อภิชนาธง – 

เสียงสะล้อ ซอ ซึง ที่บรรเลงอย่างมีเอกลักษณ์ ทำให้รู้สึกหวนนึกถึงดินแดนล้านนา การขับร้อง และท่วงทำนองอ่อนโยน ฟังดูนุ่มนวล เสียงที่เกิดจากสอดประสานกันของเครื่องดนตรีพื้นเมือง ให้บรรยากาศแบบล้านนา ดนตรีพื้นเมือง ถือเป็นวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของล้านนามาช้านาน ตั้งแต่ครั้งโบราณกาล โดยดนตรีพื้นเมืองจะถือเป็นสิ่งสำคัญของประเพณี งานพิธีต่าง ๆ และทางศาสนาของล้านนา เป็นสิ่งจรรโลงใจประชาชน แต่ในยุคปัจจุบันในโลกของการสื่อสารที่ไร้พรหมแดน การก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รูปแบบการใช้ชีวิต การเสพสื่อของเยาวชนรุ่นใหม่ก็ล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เยาวชนรุ่นใหม่เริ่มไม่เห็นความสำคัญของดนตรีพื้นเมืองเหมือนอย่างในอดีต ในอดีตถือการเล่นดนตรีพื้นเมือง เป็นการแสดงถึงความศิวิไลซ์ในตัวคนเล่น และสังคม สะท้อนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ดีงาม แต่ในวันนี้ดนตรีล้านนาไม่ได้มีความสำคัญเหมือนในยุคสมัยที่ผ่านมาอีกต่อไป

รากเหง้าแห่งวัฒนธรรม “ดนตรีล้านนาดั้งเดิม” สิ่งที่เคียงคู่กับชาวล้านนามาอย่างยาวนาน

“…ดนตรีล้านนาเราก็มีมานานแล้ว แต่ว่ามันเป็นดนตรีที่ว่า เล่นของใครของมัน พอเวลามีการมีงานปุ๊บ เราก็เอามารวมกันเล่น อาจเป็นในวัด หรือว่า ในหมู่บ้านแล้วมันมียุคที่ว่า สมัยที่เจ้าดารา เขามาจากกรุงเทพเขาก็มาปรับรูปแบบให้มันเป็นวงดนตรีขึ้นมา” – เอกชัย มั่นอยู่ —

ดนตรีล้านนาถือเป็นวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งการมีอยู่ของเครื่องดนตรีในล้านนามีปรากฏอยู่ในหลักฐานโบราณ แม้แต่เครื่องดนตรีบางประเภท ที่ใครหลายคน อาจคิดว่าไม่เคยคิดว่าจะเป็นสิ่งที่เคยอยู่ในดินแดนล้านนาแห่งนี้ อย่าง จะเข้ แตรสังข์ แคน แต่ความเป็นจริง เครื่องดนตรีเหล่านี้เคยแพร่กระจายอยู่ในแถบล้านนา และไทยมาอย่างช้านาน และจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่า ดนตรีล้านนาในอดีตมักจะมีบทบาทที่โยงใยกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และรวมไปถึงการเชื่อมโยงกับศาสนา และ กษัตริย์ ในเชิงพิธีกรรม ดังที่มีการปรากฏในจารึกหลักที่ 62 ของวัดพระยืน ต.เวียงยอง อ. เมือง จ.ลำพูน ที่มีข้อความกล่าวไว้ว่า “ตีพาทย์ ดังพิณ แตรสังข์ ค้อง กลอง ปี่สรไน พิสเนญชัย ทะเทียด กาหล แตรสังข์ มรทรค์ ดงเดือด เสียงเลิศเสียงก้อง อีกทั้งคนโห่อื้อ ดาสะท้าน ทั่วทั้งนครหริภุญชัยแล…”

ในอดีตนั้น การดำรงอยู่ซึ่งวัฒนธรรม จะมีการจัดการสอนฟ้อนรำ และดนตรีในราชสำนักอย่างต่อเนื่อง มีการส่งเสริมให้ดนตรีพื้นบ้าน ผนวกเข้ากับการฟ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี รัชกาลที่ ๕ ท่านทรงสนับสนุนให้มีการศึกษาดนตรีไทยภาคกลาง มโหรี ปี่พาทย์ ในทางด้านการละคร ทรงฝึกซ้อมให้คณะละครรำของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ โดยดัดแปลงให้เข้ากับทางล้านนา ถึงแม้จากหลักฐานจะไม่มีการอ้างอิงถึงการส่งเสริมดนตรีล้านนาโดยตรง แต่สามารถอนุมานจากร่องรอยที่หลงเหลือมาถึงยุคปัจจุบัน อย่าง ละครพื้นบ้าน ร้องเรื่องน้อยใจยา มีการคาดการณ์ว่าน่าจะใช้เครื่องดนตรีหลัก เป็น สะล้อ และซึง การแสดงฟ้อนเล็บ ที่มีการใช้วงกลองตึ่งโนง ฟ้อนดาบ คาดว่าน่าจะใช้เป็นวงปี่พาทย์

กล่าวถึงดนตรีพื้นเมืองล้านนา กับวิถีชีวิตของชาวบ้าน ถือว่าการบรรเลงเครื่องดนตรี และการขับขานในล้านนานั้นมีบทบาทในวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างแยกไม่ออก มีบทบาทตั้งแต่เกิดจนถึงชีวิตดับสูญ ชีวิตของชาวล้านนาแต่เดิมนั้น ผูกพันอยู่กับเสียงเพลงเกือบตลอดเวลา ทั้งในด้านความบันเทิง และการประกอบพิธีกรรม ทั้งพิธีกรรมเชิงพุทธศาสนา และพิธีกรรมเกี่ยวกับผี ตามความเชื่อของคนล้านนาในอดีต ซึ่งทั้งสองล้วนมีดนตรีเป็นส่วนประกอบ อย่างเช่น วัยแรกเกิด วัยเด็ก ก็จะมีเพลงขับกล่อม มีเพลงประกอบการละเล่นต่าง ๆ ในงานฉลองรื่นเริง พบว่าดนตรีมีส่วนช่วยให้งานคึกคักหนักแน่นยิ่งขึ้น พิธีขึ้นบ้านใหม่ พิธีบวชนาค หรือในกิจกรรมเกี่ยวกับผี ฟ้อนผีมดผีเม็ง เซ่นผีบรรพบุรุษ จะประกอบไปด้วยการบรรเลงดนตรี การขับร้อง และการแสดงเพลงปฏิพากย์ที่เรียกว่า “ซอ” แม้ในช่วงสุดท้ายของชีวิต เพลงก็มีบทบาทที่จะบรรเลงในพิธีชักปราสาทบรรจุศพเข้าสู่ป่าช้า หรือจะเป็นการใช้ดนตรีเพื่อประกอบการแสดง ทั้งในงานประเพณี และเพื่อความบันเทิง อย่างการนำดนตรีพื้นเมืองมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการ “แอ่วสาว” หรือ “เกี้ยวสาว” ของชาวล้านนาดั้งเดิม

ประเพณีที่ว่า คือ ถ้าบ้านไหนมีสาว ๆ ก็จะจุดตะเกียง หรือโคมไฟตั้งไว้ที่ด้านหน้าเรือน เพื่อให้ชายหนุ่มที่เดินผ่านไปมาได้สังเกตเห็น ถ้าเห็นแล้วเกิดความชื่นชอบ ผู้ชายเวลาจะไปอู้สาวมักจะไปด้วยกันเป็นหมู่ ๆ มีเครื่องดีดสีตีเป่า เช่น สะล้อ ซึง ติดมือไปด้วย ก็จะมีการซอ และดีดซึงแซวอย่างสนุกสนานในยามค่ำคืน เครื่องดนตรีเหล่านั้นจึงกลายเป็นดนตรีพื้นบ้านภาคเหนือโดยปริยาย ในปัจจุบันกลายมาเป็นที่นิยม และเรียกกันในชื่อ “วงสะล้อซอซึง”

“…เริ่มต้นต้องมีรากเหง้า เรียกอีกอย่างคือ การเรียนดนตรีพื้นฐาน เริ่มต้นจากพื้นฐาน การที่เราจะเล่นแบบด้นสด หรือร่วมสมัยได้ มันต้องเริ่มจากเราเรียนรู้ขั้นพื้นฐานก่อนเล่นดนตรีพื้นเมือง เล่นเพลงพื้นเมืองก่อน ก่อนที่จะเล่นเพลงสากล เราต้องรู้จักรากเหง้าของมันก่อน ต้องเก็บเอาให้หมด…” — ภานุทัต อภิชนาธง –

เมื่อกาลเวลาผันเปลี่ยน ยุคสมัยมีการเปลี่ยนแปลงไป ดนตรีล้านนาได้มีความพยายามปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน มีพัฒนาวิธีการบรรเลงจากเครื่องดนตรีชิ้นเดียวไปสู่การรวมวงแบบต่าง ๆ และบรรเลงเครื่องดนตรีให้น่าสนใจมากขึ้น ดนตรีพื้นเมืองล้านนายังได้รับใช้สังคมสมัยใหม่ในหลากหลายมิติ อาทิ การส่งเสริมการท่องเที่ยว และธุรกิจบริการต่าง ๆ นอกจากความบันเทิง และประกอบพิธีกรรมที่ยึดถือกันมาตั้งแต่อดีต จึงทำให้มนต์เสน่ห์แห่งดนตรีล้านนาไม่เคยจางหายไปจากสังคมไทย

ยิ่งดั้งเดิม ยิ่งทรงคุณค่า สืบสานงานศิลป์ ไม่ให้เสียงดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์…ดับสิ้นไป

“…จากเมื่อก่อนย้อนยุคไป เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ดนตรีพื้นเมืองไปที่ไหนเขาก็เบะปากใส่ เขาก็บอกเชย เขาก็ว่า บ้านนอก ปัจจุบัน เดี๋ยวนี้เด็ก ๆ เล่นสะล้อ ซอ ซึงกันใครเล่นไม่เป็นถือว่า อี๋เลย ใครเล่นเป็นก็ถือว่าเท่ไปเลย เดี๋ยวนี้ เราได้สร้างภาพลักษณ์ให้กับดนตรีล้านนาในระดับหนึ่งแล้ว มันไม่ล้าสมัยแล้ว มันทันสมัย มันต้องสร้างกระแส…” — ภานุทัต อภิชนาธง –

ดนตรีล้านนา เป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับดินแดนล้านนามาอย่างยาวนานนับร้อยปี มีบทบาทกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ไม่ว่าจะการบรรเลง และการขับขานนั้นล้วนมีความสำคัญกับการประกอบพิธีกรรม ประกอบการแสดง และประกอบในกิจกรรมสันทนาการ เป็นสิ่งจรรโลงใจ ที่ไม่สามารถจะแยกออกจากวิถีชีวิตของชาวล้านนาได้ บทบาทของดนตรีล้านนาในด้านต่าง ๆ อาทิเช่น

– ประกอบพิธีกรรม ในแง่พิธีกรรมของล้านนานั้น จะมีพิธี 2 แบบ คือ พิธีกรรมเชิงพุทธศาสนา และพิธีกรรมเกี่ยวกับผี ซึ่งทั้ง 2 พิธีนั้น ก็จะมีดนตรีเป็นส่วนประกอบ เช่น ในงานฉลองรื่นเริง งานฟ้อนต่าง ๆ หรืองานมงคล และ ทางอวมงคล

– ประกอบการแสดง ดนตรีถือเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อการแสดงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงเพื่อประกอบในงานประเพณี หรือเพื่อความบันเทิง อย่างการฟ้อนรำ การขับซอ หรือแม้แต่การแสดงคอนเสิร์ต

ลักษณะเด่นของดนตรีพื้นบ้านนั้นถือเป็นเครื่องมือสื่อสาร และสื่อความหมายไปยังผู้คนได้ดีอย่างหนึ่ง ทุกพื้นที่ทั่วโลกจึงมีดนตรีเป็นของตนเอง และความเป็นจริงนั้น ดนตรีถือมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าภาษาท้องถิ่น เพราะทั้งสองล้วนมีแหล่งกำเนิดจากที่เดียวกัน แต่ความแตกต่างเริ่มเกิดขึ้น เริ่มแบ่งแยกระหว่างภาษาถิ่น และดนตรีท้องถิ่น เมื่อ 2 วัฒนธรรมนี้มีการแพร่หลายออกเป็นวงกว้างมากขึ้น อย่างดนตรีท้องถิ่นในดินแดนล้านนาแห่งนี้ ก็มีครบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นดีด สี ตี เป่า โดยเครื่องดนตรีล้วนประกอบขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีพื้นบ้าน มีลักษณะเรียบง่าย และประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุในธรรมชาติ ซึ่งตัวผู้เล่นเองนั้นนอกจากจะมีความสามารถในการเล่นดนตรีแล้ว ส่วนใหญ่ก็มักมีความสามารถในการประดิษฐ์เองได้ด้วย ซึ่งเครื่องดนตรีล้านนาในแต่ละประเภทนั้น ก็จะแตกต่างกันไป

ประเภทเครื่องเป่า จะประกอบด้วย ปี่ แน และขลุ่ย ปี่ของทางล้านนา จะมีทั้งหมด 5 เลา คือ ปี่แม่ ปี่กลาง ปี่ก้อย ปี่เล็ก ปี่ตัด ปี่ไม่ จะนิยมใช้บรรเลงเดี่ยว แต่จะบรรเลงร่วมกับปี่ในชุดเดียวกันตั้งแต่ 3 เลาขึ้นไปเพื่อประกอบการขับซอ หรืออาจใช้ปี่เพียง 1 เลา เพื่อบรรเลงร่วมกับวงดนตรีพื้นเมือง สะล้อ-ซึง แน เป็นเครื่องเป่าประเภทหนึ่ง บางครั้งชาวบ้านเรียกว่า ปี่แน ใช้แนทำเสียงให้ได้อารมณ์ต่าง ๆ หลายชนิด แนจะมี 2 ขนาด คือ แนหลวง หรือแนใหญ่ กับ แนหน้อย หรือแนเล็ก วิธีการเล่นคล้ายปี่ชวา แนจะใช้เล่นส่วนใหญ่ในวงพาทย์ หรือปี่พาทย์ล้านนา ใช้บรรเลงร่วมกับวงตึ่งโนงในการประกอบการฟ้อนพื้นเมือง ใช้บรรเลงร่วมกับกลองเต่งถิ้ง และฉาบ ประกอบการชกมวย สุดท้าย ขลุ่ย แต่เดิมเรียกว่า ปี่ถิว สามารถใช้เล่นแบบเดี่ยว ๆ เพื่อความเพลิดเพลินได้ หรือจะใช้เป่าประสมวงสะล้อ-ซึง ก็ได้เช่นกัน

ประเภทเครื่องดีด เครื่องดนตรีของล้านนาประเภทนี้จะมีอยู่ 2 อย่างด้วยกัน คือ เพียะ และ ซึง เพียะ เป็นเครื่องดีดจำพวกพิณ จัดเป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ชนิดหนึ่งของล้านนา และมีกล่าวถึงในกาพย์ห่อโคลง ของพระศรีมโหสถในสมัยอยุธยาด้วย มีลักษณะคล้ายพิณน้ำเต้าของภาคอีสาน ซึง มีลักษณะคล้ายกระจับปี่ หรือคล้ายพิณ ถ้าเปรียบกับดนตรีสากล ก็จะมีความคล้ายกับกีตาร์ขนาดเล็ก ซึงนับเป็นเครื่องดนตรีที่นักดนตรีเกือบทุกคนสามารถทำขึ้นไว้เล่นเองได้ และเป็นเครื่องดนตรีที่มีขายอย่างแพร่หลาย จะมีทั้งหมด 3 ขนาด คือซึงเล็ก ซึงกลาง และซึงใหญ่ ใช้บรรเลงร่วมกับวงสะล้อ ร่วมกับปี่ชุมในการขับซอ หรือบรรเลงเดี่ยว เพลงที่เล่นจะเป็นเพลงพื้นเมืองดั้งเดิม หรือถูกประยุกต์ให้เล่นเพลงลูกทุ่ง นอกจากนี้ยังการนำไปใช้บรรเลงประกอบการแสดงละครพื้นเมืองอีกด้วย

ประเภทเครื่องสีอย่างสะล้อ จะเป็นเครื่องดนตรีที่มี 3 ขนาดด้วยกัน คือขนาดเล็ก มี 2 สาย ขนาดกลาง มี 2 สาย และขนาดใหญ่ที่มีถึง 3 สาย และมีวิธีการเล่นคล้ายซอ แต่สะล้อที่เป็นที่นิยมในการใช้บรรเลง คือ สะล้อที่มี 2 สาย เป็นเครื่องดนตรีที่นิยมใช้ในการบรรเลงเดี่ยว และนิยมใช้บรรเลงร่วมกับวงดนตรีพื้นเมือง หรือบางแห่งใช้บรรเลงร่วมกับปี่ชุม ประกอบการซอ ซึ่งบทเพลงที่เล่นมักเป็นเพลงพื้นเมืองของล้านนา

ประเภทเครื่องตี ก็จะเป็นประเภทกลอง อย่างเช่น กลองหลวง หรือ กลองห้ามมาร กลองแอว หรือ กลองตึ่งโนง กลองปูเจ่ กลองบูชา กลองสะบัดชัย กลองมองเซิง หรือกลองตะหลดปด

เหล่าศิลปิน ผู้ปลุกจิตวิญญาณแห่งดนตรี ให้เสียงเพลงยังคงดึงกึกก้องไปทั่วดินแดนล้านนา

วัฒนธรรมอันทรงคุณค่า อย่าง ดนตรีล้านนา ที่อยู่คู่กับอาณาจักรล้านนามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านการปรับตัวตามยุคสมัย มีการปรับเปลี่ยนสู้กับเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง การต่อสู้เพื่อให้รากเหง้าของวัฒนธรรมทางด้านดนตรีล้านนาดั้งเดิมยังคงอยู่ ไม่สูญหายไป หนึ่งในสล่าระดับชั้นบรมครู ผู้ยืนหยัด ด้วยใจที่ตั้งมั่นจะพัฒนา และบำรุงรักษาดนตรีล้านนาให้สามารถอยู่คู่กับสังคมทุกยุคทุกสมัยได้

ครูแอ๊ด ภานุทัต อภิชนาธง ศิลปินล้านนาชั้นบรมครู ผู้ปลุกจิตวิญญาณของดนตรีล้านนา ให้ดังกึกก้องทั่วเมืองเชียงใหม่ จนดนตรีล้านนาเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีการพัฒนาดนตรีให้หลากหลายทันสมัย และถ่ายทอดความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ได้ศึกษาต่อยอด และถือเป็นครูคนแรกที่เริ่มสอนดนตรีพื้นเมืองล้านนาให้กับประชาชนในวัด โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และในยามอื่น ก็ได้ประกอบอาชีพนักดนตรี และนักร้องร่วมด้วย ครูแอ๊ดเลือกที่จะเล่นดนตรีพื้นเมือง เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวมากที่สุด โดยเฉพาะซอพื้นเมือง จึงกลายมาเป็นผู้ที่มีใจรักในดนตรีพื้นเมือง และรักความเป็นล้านนา ครูแอ๊ดมีวงดนตรีล้านนา คือ วงเดอะสะล้อ มีผลงานมากมาย เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ไม่ว่าจะเพลง คนหัวล้าน , ป๋าเบื่อ , ต๋าป่าม , ช้ำรักที่ท่าแพ เป็นต้น

“…ในรุ่นของครูแอ๊ด ถือว่าเป็นอีกหนึ่ง generation ซึ่งโอกาสที่ได้ร่ำเรียน เมื่อสมัยก่อนมันน้อยมาก ปัจจุบันนี้เด็กมันมีสื่อ มีโซเชียล มีเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอน ทำให้เด็กอยากจะรู้อะไร อยากจะเรียนอะไร ทันที เดี๋ยวนี้ ฉับพลัน เพราะฉะนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีว่า ลูกศิษย์ลูกหาที่พอจะมีหน่วยก้าน มีเยอะมาก เก่งกว่าครูด้วยซ้ำไป…” — ภานุทัต อภิชนาธง –

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ครูแอ๊ด มุ่งมั่นสอนดนตรีพื้นบ้าน โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน มีลูกศิษย์เป็นเด็กรุ่นใหม่นับร้อยคนที่ศึกษาเล่าเรียน เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งดนตรีพื้นบ้านล้านนาให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาแต่ในอนาคต ถ้าสิ้นยุคครูแอ๊ดไปแล้ว จะมีใครสานต่อความยิ่งใหญ่ทั้งหมดนี้

ครูโอ๊ต เอกชัย มั่นอยู่ ครูภูมิปัญญาล้านนา ด้านดนตรีพื้นเมือง เป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการอนุรักษ์ดนตรีล้านนา ก่อนหน้านี้ครูโอ๊ตได้มีการจัดการเรียน การสอน ณ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เป็นโรงเรียนที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านวัฒนธรรม มาเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับคนทุกรุ่น ไม่ว่าจะคนในท้องถิ่น หรือชาวต่างชาติ ได้ร่ำเรียนในวัฒนธรรมที่ตนเองสนใจ และตอนนี้ครูโอ๊ต ก็ยังคงมีความตั้งใจ และดำรงในฐานะครู เพื่อที่จะเป็นผู้เผยแพร่องค์ความรู้ ส่งต่อวัฒนธรรมล้ำค่าทางด้านดนตรีพื้นเมืองนี้ให้กับคนรุ่นใหม่

“…มันต้องพัฒนาอยู่แล้ว เราควรจะพัฒนาควบคู่กันไปทั้งสล่า และผู้ประดิษฐ์เครื่องดนตรี เครื่องดนตรีก็พัฒนา วิธีการเล่นก็พัฒนา มันถือเป็นสิ่งที่ดี ง่ายต่อการพัฒนา ให้มันไปข้างหน้า…” – เอกชัย มั่นอยู่ –

“ดนตรีล้านนา” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สุนทรียแห่งดนตรี ที่จะอยู่ในวิถีชีวิตของคนล้านนาตลอดไป

ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดาน เป็นคนชอบกลนัก เป็นบทประพันธ์พระราชนิพนธ์ อยู่ในเรื่องเวนิสวาณิช ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์แปลในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จาก “The Merchant of Venice” ของ William Shakespeare ดนตรีไม่ได้มีไว้เพื่อแค่นำความสุข ความสุนทรีย์ในอารมณ์มาสู่ผู้เล่นและผู้ฟัง หรือทำให้เกิดความเพลิดเพลิน จรรโลงใจเพียงเท่านั้น ดนตรียังให้อะไรมากกว่าที่เราคิด ดนตรีถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก และดนตรีล้านนา ถือเป็นหนึ่งในมรดกที่สำคัญ ควรค่าแก่การสืบสานไว้

“…ในปัจจุบัน เดี๋ยวนี้มันไม่เหมือนกัน แต่ก่อนมันมีกรอบ กรอบมาจากอะไร มาจากจารีต มาจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สมัยแต่ก่อนจารีตเยอะมาก โดนกำแพงทำลายทีละนิด ๆ ๆ ๆ ด้วยโลกสมัยใหม่ที่มันเปลี่ยนไป ด้วยโลกความสมัยใหม่ของคน และด้วยความคิด การอนุรักษ์ กับ การพัฒนา มันไม่เหมือนกัน การอนุรักษ์ก็คือ การเอานำสิ่งนี้ไปเก็บไว้ในตู้อยู่ในพิพิธภัณฑ์ห้ามแตะต้อง กับการทำแบบนี้ คือ การเอามาพัฒนา…” — ภานุทัต อภิชนาธง –

ครูแอ๊ดบอกกับเราว่า ทุกวันนี้วงการดนตรีล้านนาไม่มีปัญหาอะไรที่น่ากังวลใจ เพราะ ครูแอ๊ด และลูกศิษย์ยังมีการรวมกลุ่มที่เหนียวแน่น และยังพัฒนางานดนตรีให้หลากหลาย ทันสมัย สร้างความแข็งแกร่ง ความเป็นปึกแผ่น ให้กับดนตรีล้านนา ส่งต่อ ประยุกต์ และปรับตัวจากรุ่นสู่รุ่น

“…มีเด็กที่ดีอยู่แล้ว ดีมากไม่ห่วงเลย เพราะดนตรีจะต้องเดินต่อไป เพียงแต่ห่วงว่า ต้องช่วยกันสนับสนุนส่งเสริม อย่าปล่อยปะละเลยเดี๋ยวมันจะโดนทิ้งขว้าง ต่อไปข้างหน้าถ้าดนตรีสากลเข้ามาก็จะมีแต่สากลอย่างเดียว เราถึงต้องช่วยกัน เอามารวมกันให้ได้ เอามันให้อยู่…” — ภานุทัต อภิชนาธง –

ดนตรีพื้นบ้านล้านนายังต้องการคนที่มีความฝันอันยิ่งใหญ่ มาพัฒนาเสียงเพลง และรังสรรค์การนำเสนอใหม่ ๆ เพื่อให้สมกับสิ่งที่ศิลปินชั้นครูทุกยุคทุกสมัยได้คิดค้น พัฒนา ส่งต่อมาให้แก่เรา ต้องช่วยกันสร้างรากฐานให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาซึมซับ พร้อมกับมีเวทีที่จะเป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้แสดงความสามารถ และให้คนทั่วไปได้เข้าถึงดนตรีล้านนา เพื่อที่เสียงดนตรีนั้นยังดังก้องอยู่ในจิตวิญญาณลูกหลานชาวล้านนา รักษาซึ่งสิ่งที่เรียกว่า สุนทรียแห่งดนตรี ที่จะอยู่ในวิถีชีวิตของคนล้านนาตลอดไป

“…อยากเห็นเหมือนกันว่าในอนาคตจะเป็นยังไง ไม่รู้จะอยู่ถึงไหม แต่ถ้าสมมติอยู่ไม่ถึง
อย่างน้อยเราก็ได้ฝากไว้แล้ว ต้องช่วยกัน เอามารวมกันให้ได้
ต้องเอาให้มันยังคงอยู่ ใหม่ก็เอา เก่าก็บ่ละ…”
— ภานุทัต อภิชนาธง –

ร่วมแสดงความคิดเห็น