ปภ.แนะหลักปฏิบัติเมื่อเกิดเพลิงไหม้ – อพยพหนีไฟปลอดภัย

ฤดูร้อนเป็นช่วงที่เกิดเพลิงไหม้บ่อยครั้ง การเรียนรู้หลักปฏิบัติในการอพยพหนีไฟอย่างถูกวิธี
จะช่วยป้องกันการสำลักควันไฟและความร้อนจากเปลวไฟที่เป็นสาเหตุของการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเพลิงไหม้ได้ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ขอแนะข้อควรรู้
และวิธีปฏิบัติในการอพยพหนีไฟ ดังนี้
การปฏิบัติตนกรณีเกิดเพลิงไหม้ ตั้งสติ ไม่ตื่นตระหนก ประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้น

  • เพลิงไหม้เล็กน้อย ให้ใช้ถังดับเพลิงเคมีฉีดพ่นไปยังบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ เพื่อดับไฟและควบคุมเพลิงไม่ให้ไฟลุกลามขยายวงกว้าง
  • เพลิงไหม้รุนแรง ตะโกนบอกหรือกดสัญญาณเตือนแจ้งให้ผู้อื่นทราบ พร้อมอพยพออกจากพื้นที่เกิดเพลิงไหม้ จากนั้นโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงมาระงับเหตุและดับไฟ ก่อนออกจากห้องให้ใช้มือสัมผัสผนังหรือลูกบิดประตู
  • หากไม่ร้อน ให้เปิดประตูออกไปช้า ๆ และอพยพไปตามเส้นทางหนีไฟที่ปลอดภัย
  • หากมีความร้อนสูง แสดงว่าเกิดเพลิงไหม้บริเวณใกล้เคียง
  • ห้ามเปิดประตูออกไป ให้ใช้ผ้าหนา ๆ ชุบน้ำอุดตามช่องที่ควันไฟสามารถเข้าไปได้ ปิดเครื่องปรับอากาศ
    และพัดลมระบายอากาศ เพื่อป้องกันควันไฟลอยเข้ามาในห้อง และโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อความช่วยเหลือ
    การอพยพออกจากพื้นที่เกิดเพลิงไหม้
  • หลีกเลี่ยงการสูดดมควันไฟ โดยใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกและปากหรือใช้ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่
    อัดอากาศบริสุทธิ์แล้วนำมาคลุมศีรษะ เพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกาย ทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้
  • อพยพไปตามเส้นทางที่ปลอดภัย โดยไม่หนีไปในทิศทางที่สวนกับควันไฟและความร้อน พร้อมหมอบคลานต่ำหรือย่อตัวให้ใกล้กับระดับพื้นมากที่สุด จะลดการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกาย
  • ใช้บันไดหนีไฟอพยพออกจากอาคาร เนื่องจากมีช่องระบายอากาศ จึงช่วยลดการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกาย
  • ห้ามใช้ลิฟต์ในการอพยพหนีไฟอย่างเด็ดขาด เพราะเมื่อเกิดเพลิงไหม้ไฟฟ้าจะดับ ทำให้ติดค้างภายในลิฟต์และขาดอากาศหายใจเสียชีวิตได้
  • กรณีไฟลุกลามติดเสื้อผ้า ห้ามวิ่งอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว ให้ถอดเสื้อผ้าออก
    หรือนอนกลิ้งตัวไปมากับพื้นให้ไฟดับ
  • กรณีที่ติดอยู่ในอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ ให้โทรศัพท์แจ้งเหตุ พร้อมระบุตำแหน่งที่ติดอยู่ และส่งสัญญาณให้ผู้อื่นทราบ เช่น เป่านกหวีด ใช้ไฟฉาย โบกผ้า เป็นต้น เพื่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่และผู้ที่อยู่ภายนอกอาคาร

ทั้งนี้ ฤดูร้อนเป็นช่วงที่มีสถิติการเกิดเพลิงไหม้สูง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงขอฝากให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังกิจกรรมที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ อาทิ เช่น ไม่จุดไฟเผาขยะบริเวณพงหญ้าแห้งหรือใกล้บ้านเรือน ดับไฟบุหรี่ให้สนิทก่อนทิ้ง อีกทั้งตรวจสอบและใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างถูกวิธี จะช่วยป้องกันการเกิดเพลิงไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจรได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น