25 ปี วิกฤตต้มยำกุ้ง

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 เพียงวันเดียวหลังจากที่อังกฤษส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้จีนแผ่นดินใหญ่ คนไทยทั้งประเทศต้องตื่นมาเผชิญกับฝันร้าย เมื่อ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หลังจากประเทศไทยเผชิญกับการโจมตีค่าเงินบาทหลายระลอกก่อนหน้านี้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ทางการเงิน ที่ทั่วโลกขนานนามว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง”

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น รัฐบาลในขณะนั้นตั้งเป้าให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคอินโดจีน ท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังเฟื่องฟูจากการลงทุนด้านอุตสาหกรรมจากต่างชาติ จนทำให้ไทยถูกมองว่าเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่และเสือเศรษฐกิจตัวต่อไปของเอเชีย รัฐบาลในขณะนั้นเห็นโอกาสทองเลยเริ่มเปิดเสรีทางการเงินในปี พ.ศ. 2533 ตามมาด้วยการอนุญาตให้สถาบันการเงินสามารถรับฝากหรือกู้ยืมเงินจากต่างประเทศได้ในปี พ.ศ. 2536

แต่สิ่งที่เกิดขึ้น กลับนำไปสู่วิกฤตในเวลาต่อมา เมื่อหนี้สินจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น สวนทางกับนโยบายควบคุมทางการเงินที่ไม่เข้มงวด ประกอบกับการคงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ทำให้เกิดปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้น สัญญาณอันตรายเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อกระทรวงการคลังเข้าควบคุมการดำเนินงานของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ หรือ BBC ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2539 ตามมาด้วยการโจมตีค่าเงินบาทในช่วงปี พ.ศ. 2540 ที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ของธนาคารแห่งประเทศไทยจนนำไปสู่การประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในที่สุด หลังเงินทุนสำรองระหว่างประเทศน้อยกว่า 2.6 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ

ผลที่เกิดขึ้นทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัว จากอัตราแลกเปลี่ยน 25 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ พุ่งเป็น 56.50 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ ตามมาด้วยการปิดกิจการสถาบันการเงินกว่า 56 แห่ง ธุรกิจเอกชนและนักลงทุนจำนวนมากต้องแบกรับภาระหนี้สินที่กู้ยืมจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเท่าตัว จนทำให้บริษัทหลายแห่งล้มละลายหรือปิดกิจการ วิกฤตที่เกิดขึ้นส่งผลให้รัฐบาลไทยต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนกู้ยืมระหว่างประเทศ หรือ IMF เป็นจำนวนเงิน 1.7 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ และยังส่งผลกระทบไปยังหลายประเทศทั่วเอเชีย อาทิ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ เป็นต้น

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นระยะเวลากว่า 25 ปีแล้ว ที่ประเทศไทยผ่านพ้นจากวิกฤตครั้งนั้นมาได้ บทเรียนเมื่อปี พ.ศ. 2540 กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ภาครัฐของไทยเข้มงวดในระเบียบทางการเงินมากขึ้น โดยเฉพาะระบบอัตราแลกเปลี่ยนทางการเงิน แต่ในปัจจุบันประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่ จากการระบาดของโรคโควิด – 19 ที่รุนแรงมากกว่าวิกฤตการเงินในอดีต

ที่มา : The Standard

ร่วมแสดงความคิดเห็น