MOU พัฒนาความสามารถด้านดนตรี สร้างทางเลือกในการเรียนต่อ

มหาวิทยาลัยพายัพ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย พัฒนาความสามารถด้านดนตรี เตรียมความพร้อม สร้างทางเลือกในการเรียนต่ออุดมศึกษา

อาจารย์อภิชา อินสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพายัพ พร้อมด้วย ภราดา ดร.ชำนาญ เหล่ารักผล ผู้อำนวยการโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันระหว่าง 2 สถาบัน โดยจะร่วมมือกันพัฒนาความรู้ทางวิชาการด้านวิชาดนตรี การจัดการเรียนการสอน และการจัดกิจกรรมต่างๆ ระหว่างวิทยาลัยดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ กับ โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ให้กับนักเรียนแผนการเรียนศิลป์-ดนตรี อีกทั้งความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรของโรงเรียน ในการปรับปรุง ส่งเสริม การจัดการเรียนการสอนด้านดนตรี การศึกษาต่อของนักเรียนแผนการเรียนศิลป์-ดนตรี และการสนับสนุนทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพายัพ ให้ความร่วมมือจัดการเรียนการสอนดนตรีใน และนอกเวลาเรียน พัฒนาหลักสูตร และโครงสร้างในการบริหารจัดการเรียนการสอนให้มีระบบตามมาตรฐานสากล เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 ณ ห้องประชุมเซ็นต์แมรี่ โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย

อาจารย์อภิชา อินสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยพายัพ รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ ภราดา ดร.ชำนาญ เหล่ารักผล ผู้อำนวยการโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารโรงเรียน ครู และน้องๆ นักเรียน ที่รักในเสียงดนตรี ในอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้เราจะก้าวเข้าสู่การเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ความคิดและสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา การยึดติดที่จะเรียนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ในสิ่งที่เราชอบก็เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นแล้ว มหาวิทยาลัยพายัพ เราได้จัดตั้งวิทยาลัยดุริยศิลป์ขึ้นมา

ซึ่งได้รับการยอมรับจากนักเรียน ผู้ปกครอง และสังคมเป็นอย่างมาก ดังเครื่องหมายของมหาวิทยาลัยพายัพ จะมีวงกลม อยู่ 4 วง วงในสุด เป็นรูปคน หมายถึง มนุษย์ ไม้กางเขน หมายถึง ศาสนา ตะเกียง หมายถึง วิทยาศาสตร์ และ พิณ หมายถึง ศิลปศาสตร์ นี่คือรากฐานของมหาวิทยาลัยพายัพ จะเห็นว่ามหาวิทยาลัยพายัพ ได้ให้ความสำคัญในการสร้างมนุษย์ที่เป็นพลเมืองโลก จากศาสตร์ทั้ง 3 ด้านนี้ เป็นหลัก เพราะฉะนั้น นักเรียนทุกคน ไม่ว่าจะเรียนอะไร หรือวันนี้ เรารักในสายวิชาชีพด้านไหนก็ตาม แต่ถ้าเรามีความรักในด้านดนตรี เราจะสามารถสร้างโลกใบนี้ ให้สวยงามมีสุนทรียภาพได้ หรือแม้ว่าเราจะไปอยู่ในสายวิชาชีพไหน ดนตรี ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ถ้าเรารักในด้านดนตรี ก็ขอให้มุ่งมั่นฝึกฝนต่อไป และวิทยาลัยดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ ก็พร้อมจะเป็นสถานที่ในการสนับสนุน และส่งเสริมให้กับเยาวชน ที่มีใจรักด้านดนตรี ได้พัฒนาศักยภาพ เป็นเวทีที่ให้คนรักและชื่นชอบในดนตรี ได้มาใช้พื้นที่แสดงออกร่วมกัน

ด้าน ภราดา ดร.ชำนาญ เหล่ารักผล ผู้อำนวยการโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย กล่าวถึงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ว่า โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย มีเป้าหมายในการพัฒนาเยาวชน ให้ความสำคัญกับนักเรียน ในหลายด้าน การพัฒนานักเรียนของเรานั้น จำเป็นต้องพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา จิตใจ และสังคม ผมมีความเชื่อมั่นว่า การที่มีทักษะทางด้านดนตรี หรือสุนทรียภาพ ก็จะทำให้เด็กนักเรียนของเรานั้นมีการพัฒนาตนเองได้ครบทุกด้าน และการที่จะประสบความสำเร็จนั้น อาจจะต้องอาศัยความรู้ทางด้านวิชาการ แต่การที่จะมีความสุขในชีวิตได้นั้น ก็ยังต้องอาศัยสุนทรียภาพด้วยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง และเป็นความภาคภูมิใจที่จะได้รับความร่วมมือจาก มหาวิทยาลัยพายัพ ในเรื่องของการพัฒนาด้านดนตรี ทั้งบุคลากรและนักเรียน

การลงนามในครั้งนี้ ทางโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย เรามีความเชื่อมั่นในวิทยาลัยดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านดนตรี ที่เปิดสอนมาเป็นเวลานาน มีชื่อเสียง มีศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จในสายวิชาการ และวิชาชีพด้านดนตรี ทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ อีกทั้ง ยังมีอาจารย์ผู้สอนที่เป็นนักวิชาการ และเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านดนตรี อันดับหนึ่งในภาคเหนือ เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือทางด้านวิชาการในครั้งนี้ จะเอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียนทางด้านดนตรีให้กับนักเรียนของเราเป็นอย่างยิ่ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วัลลภา ทรงพระคุณ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยพายัพ ก็ได้พัฒนารูปแบบการเรียนการสอน ให้ตอบรับกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้มหาวิทยาลัยต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้มีความผสมผสาน เลือกเรียนได้ทั้งแบบ ONSITE และ ONLINE มีหลักสูตรที่สามารถเลือกรายวิชาแบบเก็บสะสมหน่วยกิตได้ ไม่จำเป็นต้องใช้หน่วยกิตนี้กับมหาวิทยาลัยพายัพเท่านั้น เพราะผู้เรียนสามารถนำไปใช้ได้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ทั่วประเทศ แต่ถ้าตัดสินใจมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยพายัพ ก็จะทำให้ระยะเวลาในการเรียนสั้นลง สำเร็จการศึกษาได้เร็วขึ้น โดยเนื้อหาของแต่ละหลักสูตร จะเน้นเรื่องของทักษะมากกว่าการเรียนรู้ เน้นการฝึกปฏิบัติจริง ก็อยากเชิญชวนให้นักเรียนที่มีใจรักด้านดนตรี ได้เลือกใช้โอกาสนี้ ในการพัฒนาตนเอง พัฒนาทักษะทางด้านดนตรี ซึ่งทางวิทยาลัยดุริยศิลป์ เรามีอาจารย์ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญด้านดนตรีประเภทต่างๆ ที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนนักเรียนตลอดเวลา

อาจารย์ธวัช อัศวเดชาฤทธิ์ คณบดีวิทยาลัยดุริยศิลป์ กล่าวว่า ในขณะนี้ วิทยาลัยดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ อยู่ระหว่างการจัดทำหลักสูตรปริญญาตรี ร่วมกับ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียน 4 ปี รับ 2 ใบปริญญา ทางด้านศึกษาศาสตร์และด้านดนตรี ไปพร้อมๆ กัน คาดว่าจะเปิดรับสมัครนักศึกษารุ่นแรก จำนวน 30 คน ในปีการศึกษา 2566 ที่จะถึงนี้ นับเป็นหลักสูตรความร่วมมือทางวิชาการที่วิทยาลัยดุริยศิลป์ ได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรกับทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะปัจจุบันการศึกษาของไทย ยังขาดแคลนบุคลากรทางการศึกษา ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านดนตรี ซึ่งนับเป็นโอกาสดีที่นักเรียนโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ที่สนใจ จะได้เข้าศึกษาต่อ และต่อยอดความรู้ทางด้านดนตรีจากสถาบันที่มีชื่อเสียงทั้ง 2 แห่งนี้ได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ โทร. 053-248037

ร่วมแสดงความคิดเห็น