อสังหาฯไทยชะลอตัว พิษสังคมสูงวัย ประชากรลด หวั่นกระทบเศรษฐกิจ

หลังจากที่ในอดีต ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยเคยเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ดูเหมือนว่าอนาคตอาจจะไม่สดใสเท่าที่ผ่านมา จากสัญญาณการชะลอตัวในธุรกิจดังกล่าว ที่เริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว

โดยศูนย์ KKP Advice Center โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้รายงานแนวโน้มการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย ซึ่งได้ประเมินแล้วว่ามีโอกาสที่จะชะลอตัวในอนาคต จากการที่ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงวัยแล้ว 

และในปี พ.ศ. 2573 ทางสหประชาชาติได้คาดการณ์แล้วว่าจำนวนประชากรไทยจะเริ่มลดลง รวมถึงกลุ่มผู้มีอายุระหว่าง 25 – 54 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรไทยที่มีแนวโน้มซื้อที่อยู่อาศัยมากสุด 

นอกจากจำนวนผู้บริโภคจะลดลงแล้ว ยังมีอีก 4 ปัจจัยสำคัญ ที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย การชะลอตัวของการขยายตัวของพื้นที่เขตเมือง กำลังซื้อคนไทยหดตัวจากภาวะเศรษษฐกิจอัตราดอกเบี้ยที่สูง และหนี้ครัวเรือน 

ซึ่งในขณะนี้ ปัจจัยดังกล่าวเริ่มส่งผลในพื้นที่ชนบทและเมืองรองแล้ว สะท้อนจากจำนวนครัวเรือนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ลดลงร้อยละ 1.2 ต่อปี เนื่องจากการลดลงของประชากรในพื้นที่ และการอพยพย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมืองใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาบ้านล้นตลาด และการปรับลดราคาอสังหาริมทรัพย์ แบบที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นและจีน

ขณะที่ในทางกลับกัน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มี่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใหญ่ๆ จะยังคงเติบโตได้อยู่จากการยัายเข้าพื้นที่ของประชากร การขยายตัวของเส้นทางรถไฟฟ้าในเมืองใหญ่ และกำลังซื้อจากชาวต่างชาติเป็นต้น 

จากข้อมูลการสำรวจ พบว่าจำนวนครัวเรือนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขยายตัวอยู่ที่ 5.6 ต่อปี หรือมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศถึง 5 เท่า

แต่อย่างไรก็ตาม การที่ภาคเอกชนพึ่งพากำลังซื้อต่างชาติ โดยเฉพาะลูกค้าชาวจีน ที่มีสัดส่วนถือครองครองอสังหาริมทรัพย์มากกว่าครึ่ง ยังคงมีความเสี่ยงระยะยาว เนื่องจากปัจจุบัน เศรษฐกิจจีนไม่ได้เติบโตอย่างรวดเร็วแบบในอดีต นโยบายสกัดการไหลออกของเงินทุนโดยรัฐบาลจีน รวมทั้งคู่แข่งอสังหาริมทรัพย์ในประเทศต่างๆ 

หากสถานการณ์โดยรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัว อาจส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวตาม ทั้งในส่วนธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และธุรกิจทางการเงิน 

เนื่องจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 30 ของสินเชื่อรายย่อยทั้งหมด รวมทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ มีการระดมทุนตลาดสารหนี้มากที่สุดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งหากเกิดการหดตัวอย่างรุนแรง อาจส่งผลต่อเนื่องสู่ตลาดการเงินได้

ที่มา :

ฐานเศรษฐกิจ , KKP Advice Center

ร่วมแสดงความคิดเห็น