(มีคลิป)ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ตอนที่ 1 เส้นทางวิถีชีวิตล้านนา

ต้นทุนวัฒนธรรม จิตวิญญาณแห่งล้านนา

อาณาจักรล้านนา ดินแดนแห่งวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ล้านนาที่ยาวนาน นำไปสู่การหลอมรวมของอิทธิพลทางภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม ของหลากหลายชาติพันธุ์ จนกลายมาเป็นวัฒนธรรมล้านนาอันล้ำค่า อันมีอัตลักษณ์ หาดูจากที่ไหนไม่ได้ นอกจากแผ่นดินล้านนาแห่งนี้ วัฒนธรรมที่เกิดการพัฒนาตามยุคสมัย ส่งต่อ และ ตกทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานมาอย่างยาวนานกว่าหลายศตวรรษ และทุกวันนี้ก็ยังคงอยู่บนความภาคภูมิใจของชาวล้านนา

(วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร)

อาณาจักรล้านนา อาณาจักรแห่งความเจริญรุ่งเรืองทั้งศิลปะ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต

“ ล้านนา ” ครอบคลุม 8 จังหวัดของภาคเหนือ คือ เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, เชียงราย, พะเยา, แพร่, น่าน และแม่ฮ่องสอน โดยมีศูนย์กลางสำคัญของดินแดนล้านนานับจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน คือ เมืองเชียงใหม่ วิถีชีวิตของคนล้านนา เปี่ยมไปด้วยประเพณี ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น แหล่งรวมความศรัทธา และความเชื่อ ที่มีต้นกำเนิดมายาวนานกว่า 700 ปี มีแอ่งกำเนิดวัฒนธรรมที่สำคัญอย่าง แอ่งเชียงใหม่ – ลำพูน, แอ่งลำปาง, แอ่งเชียงราย – พะเยา, แอ่งแพร่และ แอ่งน่าน ซึ่งแอ่งเหล่านี้จะมีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน คือ แม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลลงไปสู่ทิศใต้ ปิง, วัง, ยม, น่าน แม่น้ำที่ถือว่ามีความสำคัญ และเป็นเส้นทางน้ำที่มีบทบาทมากที่สุดของวัฒนธรรมล้านนามาแต่โบราณ คือ แม่น้ำปิง

แอ่งเชียงใหม่ – ลำพูน, แอ่งเชียงราย – พะเยา และแอ่งลำปาง เป็นพื้นที่ที่ถูกผนวกเข้าด้วยกันนับตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังรายเป็นต้นมา ทำให้พื้นที่เหล่านี้มีประวัติความเป็นมาร่วมสมัยกัน และเมื่อมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้เป็นราชธานีของสยามประเทศ ล้านนาได้อยู่ภายใต้การปกครองของสยาม ในตอนนั้นได้มีการขับไล่พม่าออกไปจากล้านนา หลังจากกอบกู้เอกราชคืนจากพม่าได้ ยุคนั้นอาณาจักรล้านนาเกือบจะเป็นเมืองร้าง จึงได้มีการฟื้นฟูล้านนา เป็นยุคสมัยที่เรียกกันว่า “ เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง ” เกิดการโยกย้ายผู้คนจากเมืองอื่น ๆ เอาคนที่มีเชื้อชาติ ภาษา และใช้ตัวหนังสือเดียวกันมาร่วมกันพัฒนา ร่วมฟื้นฟูเมืองล้านนาแห่งนี้ ในแต่ละพื้นที่จึงมีช่างที่มีฝีมือ ทักษะที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น ช่างเขิน ช่างร่ม ช่างทอง ช่างเงิน ช่างแกะสลัก ช่างลงรักปิดทอง เป็นต้น ถือเป็นยุคแห่งวัฒนธรรมของชาวล้านนา โดยมีศูนย์กลางสำคัญอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง คือ เมืองเชียงใหม่ ถือเป็นสิ่งกำหนดวิถีชีวิต ความเชื่อ ประเพณี ศิลปกรรมอันหลากหลายไว้ในดินแดนแห่งนี้

วัฒนธรรมที่กำลังจะสูญหาย….แต่จิตวิญญาณยังคงอยู่

ในอดีตเชียงใหม่เคยถูกห้อมล้อมไปด้วยวัฒนธรรมที่สวยงาม เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรม ที่บรรพบุรุษร่วมสืบทอด และส่งต่อ ไม่ให้เลือนหายไปตามกาลเวลา  ที่เปลี่ยนแปลงไป วัฒนธรรมล้านนาที่อยู่มายาวนานหลายศตวรรษ ยังคงฝากร่องรอย ฝังไว้อยู่ในเส้นทางวัฒนธรรมในเชียงใหม่ ทิ้งกลิ่นอายปกคลุมทั่วแผ่นดินล้านนาแห่งนี้

สารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา จะพาคุณไปรู้จักกับ “สล่าล้านนา” ช่างฝีมือผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมล้านนาโบราณ ที่ยังยึดถือรูปแบบการสร้างงานด้วยวิธีดั้งเดิม จะบอกในสิ่งที่คุณอาจไม่เคยรับรู้ ว่าในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วพวกเขาทำอย่างไร ในการรักษามรดกล้ำค่าทางภูมิปัญญานี้ให้เป็นอมตะเหนือกาลเวลา จะแสดงให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ของวัฒนธรรมล้านนา ที่ปัจจุบันนี้ยังหลงเหลือให้คนรุ่นใหม่ได้เห็น ได้สัมผัสกับสิ่งล้ำค่าเหล่านี้ แต่ในอนาคตอาจจะ สูญหายไป ถ้าไร้ผู้สืบทอด

สารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา : คุณค่าอักษรล้านนา

บอกเล่าประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของชาวล้านนา อักษรธรรมล้านนา หรือที่เรียกกันว่า ตั๋วเมือง ภาษาที่ชาวล้านนาใช้สื่อสารกันในอดีต ภูมิปัญญาที่เหล่านักปราชญ์ร่วมกันคิดค้นขึ้นมา ในวันนี้น้อยคนนักที่จะรู้จัก และเข้าใจในอักษรธรรมล้านนา ภาษาที่หมดความหมายในการสื่อสาร แต่ความหมายทางจิตวิญญาณยังคงอยู่

“…เพื่อค้นหารากเหง้าตัวเอง เป็นคนเมือง พูดเมือง กินลาบ และก็ฟังซอ แต่ไม่รู้ภาษาของตัวเอง… ”
— อาจารย์ เกริก อัครชิโนเรศ นักวิชาการด้านอักษรล้านนา–

สารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา : สล่าหล่อพระล้านนา

การหล่อพระล้านนาแบบโบราณ ที่สืบทอด ส่งต่อกันมายาวนานกว่า 100 ปี พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในวัดสำคัญหลายแห่งของจังหวัดเชียงใหม่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คน ไม่ว่าจะชาวไทย หรือชาวต่างชาติ ต่างก็เดินทางมาเพื่อสักการะบูชา เบื้องหลังงานพุทธศิลป์ล้ำค่าเหล่านี้ ล้วนมาจากมือของ สล่าหล่อพระล้านนา ที่ในปัจจุบันนี้เหลือน้อยลงเต็มที

 
“…พระที่เป็นแบบเก่าแท้ๆ แบบโบราณ ก็จะมีอยู่ที่นี่ อยู่หลังเดียว ถ้าหมดรุ่นลุงอี๊ดไป คิดว่าบ้านช่างหล่อก็คงเหลือแต่ชื่อ…”
— ลุงอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง สล่าหล่อพระล้านนา–

สารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา : สล่าเงิน วัดศรีสุพรรณ

เครื่องเงินเก่าแก่ที่อยู่คู่กับชาวล้านนามานานกว่า 700 ปี การดุนโลหะ เปลี่ยนจากแผ่นโลหะเรียบ ๆ ไร้ลวดลาย ให้กลายเป็นลวดลายสุดวิจิตร งานหัตถศิลป์ ล้ำค่า ความตระการตาที่ปรากฏให้คนทั่วโลกได้เห็น ได้สัมผัส นำทัพโดย พ่อครูดิเรก สิทธิการ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี 2565 ยอดสล่า ผู้อุทิศทั้งชีวิตเพื่อสืบสานวัฒนธรรมล้านนา เครื่องเงินอันทรงคุณค่าให้อยู่คู่แผ่นดินล้านนา

“…ต่อให้ตัวตาย แต่จิตวิญญาณที่ฝังอยู่ในเครื่องเงิน ก็ยังคงอยู่นิจนิรันดร์… ”
— พ่อครูดิเรก สิทธิการ สล่าเงิน–

สารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา : สล่าไม้บ้านถวาย

พาทุกคนไปรู้จักกับบ้านถวาย ชุมชนที่อยู่มายาวนานกว่า 100 ปี จากชุมชนที่ทำการเกษตรกรรม กลายมาเป็นชุมชนที่ทุกคนร่วมใจกันสร้างสรรค์งานหัตถกรรมจากไม้ จนเป็นชุมชนต้นแบบ และยกระดับไม้แกะสลักให้เป็นงานศิลปหัตถกรรมระดับชาติ ในอดีตบ้านถวายเคยเป็น Soft power สำคัญของเชียงใหม่ แต่ในวันนี้กลับเงียบเหงา เพราะพิษของโควิด หมู่บ้านไม้แกะสลักแห่งนี้ยังรอต้อนรับทุกคน ให้เข้ามาสัมผัสกับมนต์เสน่ห์แห่งไม้ ที่เป็นที่หนึ่งของเชียงใหม่แห่งนี้

“…คำว่าภูมิปัญญามันมีค่า ต่อไป 10 ปี ใครแกะเก่งใคร แกะได้คนนั้นจะรวย… ”
— สวัสดิ์ พันธุศาสตร์ สล่าไม้ —

สารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา : สล่าคัวตอง

งานคัวตอง การฉลุ และดุนขึ้นลายแผ่นทองเหลือง งานคัวตองสัญลักษณ์ของความรุ่งเรือง และยิ่งใหญ่ งานหัตถกรรมที่อยู่คู่ชาวล้านนามากว่าร้อยปี ศิลปะสูงส่งที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดพวกแต้ม ที่รอให้ทุกคนมาเปิดเข้าไปสัมผัสกับหนึ่งในงานหัตถกรรมล้ำค่าของล้านนา

“…ถ้าถามคุณค่าของคัวตอง ผมว่ายังอยู่ ยังไม่ตาย มันไม่จบ มันน่าจะมีคนต่อ แต่ตอนนี้ยังไม่มี… ”
— นิวัติ เขียวมั่ง สล่าคัวตอง–

สารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา : สล่าปั้น

เครื่องปั้นดินเผา บ้านเหมืองกุง หมู่บ้านเก่าแก่ ตำนานน้ำต้นคนปั้นดิน ชาวบ้านในอดีตจะนิยมปั้นน้ำต้น และหม้อน้ำ จนกลายมาเป็น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สืบทอด ส่งต่อกันมาเป็นรุ่น ๆ ที่นี่ยังคงมีวิธีการปั้นแบบดั้งเดิม มีอัตลักษณ์เฉพาะตน ทั้งงานเคลือบผิว ลวดลายที่มีความวิจิตร และสร้างสรรค์  บ้านเหมืองกุง เป็น Soft power สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของเชียงใหม่ แหล่งรวมสล่าปั้นมากฝีมือ รอต้อนรับคนรุ่นใหม่ มาท่องเที่ยว และเรียนรู้ไปกับภูมิปัญญากว่า 200 ปี

“…ภูมิปัญญาไม่ใช่ความล้าหลัง มันเป็นความรู้ที่สามารถจะขาย หรือบอกต่อให้หลาย ๆ ประเทศได้รู้ ได้เห็น ถ้าสินค้าไม่ดีจริง คงอยู่ไม่นานถึง 200 ปี… ”
— วชิระ สีจันทร์ สล่าปั้น–

สารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา : สล่าปิดทอง

งานหัตถกรรมปิดทอง เป็นงานศิลปกรรมชั้นสูง แสดงถึงภูมิปัญญา และความรู้ด้านศิลปะของเหล่าสล่าปิดทอง มีวัสดุสำคัญ คือยางรัก ปิดทับด้วยทองคำเปลวเพื่อตกแต่งสถาปัตยกรรม และประติมากรรมให้มีสีทองอร่าม งานลงรักปิดทอง ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความศรัทธา ตราบใดที่เรายังเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็ต้องร่วมสืบสานงานศิลปกรรมชั้นสูงนี้ ร่วมส่งเสริมช่างหัตถศิลป์ให้มีการดำรงอยู่คู่แผ่นดินเราตลอดไป

“…คนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้มีโทรศัพท์ทุกคน เดี๋ยวนี้เราอ่านเยอะ เราฟังเยอะ แต่เราไม่ได้ลงมือทำสักคน มาเพื่อมาฝึกจิตใจ มันสำคัญ…”
— ภานุชิต พรหมเมือง สล่าปิดทอง–

สารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา : เครื่องเขิน

สารคดีชุดนี้จะพาทุกคนไปเยี่ยมชมเส้นทางวัฒนธรรม นันทาราม แหล่งสะสมภูมิปัญญา “เครื่องเขิน” งานหัตถศิลป์คู่ล้านนา จะเริ่มด้วยการสานตอกไม้ไผ่เป็นรูปทรง จากนั้นฉาบด้วยรักสมุก หรือรักชาด เขียนลวดลายประดับตกแต่งด้วยชาด ทองคำเปลว และสีต่าง ๆ เครื่องเขินจากชุมชนนันทารามเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การเก็บรักษา นอกจากจะมีคุณค่าทางวัฒนธรรมแล้ว เครื่องเขินยังทรงคุณค่าทางความงามเชิงศิลปะระดับสูงอีกด้วย

 
“…ถ้ามองเห็นเครื่องเขินนันทารามต่อไปก็อาจจะไม่มี หรืออาจจะมีก็ได้ เพราะต้องมีคนต่อยอด แต่ ณ ตอนนี้ดูแล้วมันจะหายไปละ…”
 — ประทิน ศรีบุญเรือง สล่าเครื่องเขิน–

สารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา : เครื่องจักสาน 1 : จักสานบ้านป่าบงหลวง

วิถีชีวิตที่ผูกพันกับไม้ไผ่ งานจักสานที่ต้องสานทุกขั้นตอนด้วยมือ ไม่มีเครื่องจักรไหนมาแทนได้ “จักสานบ้านป่าบงหลวง” งานจักสานทรงคุณค่า ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหมู่บ้านผลิตสินค้า หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ในด้านการจักสานของอำเภอสารภี ไม้ไผ่ที่เหลาเป็นเส้นตอก ผสานเป็นลวดลาย สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราว เล่าขานถึงวิถีชีวิต คุณค่า และภูมิปัญญาที่ตกทอดมาให้ลูกหลานได้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ตะกร้าสานที่ใส่ใจไปเต็มตะกร้า ส่งมอบให้ทุก ๆ คน

“…ใจผมขอบคุณมากๆ ที่คนเฒ่าคนแก่เขายังอนุรักษ์ร่วมกันอยู่ กลัวจะไม่มีคนสืบ ไม่อยากจะเดาเหตุการณ์ข้างหน้า กลัวมันสูญหายไปจริงๆ…”
— อำนวย แก้วสมุทร์ สล่าจักสาน –

สารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา : เครื่องจักสาน : จักสานฝาลายอำบ้านร้อยจันทร์

ฝาลายอำ การสานที่สะท้อนให้เห็นถึง สถาปัตยกรรมล้านนาในอดีต การสานฝาลายอำ จะมีช่องว่างระหว่างไม้ไผ่ที่ขัดกัน ช่วยในเรื่องของการระบายอากาศ ตอบโจทย์การสร้างบ้านเรือนในอดีต แต่ในปัจจุบัน การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย สิ่งใหม่แทนที่สิ่งเก่า ภูมิปัญญาด้านการสานถูกหลงลืม จนในวันนี้เหลืออยู่เพียงที่เดียวเท่านั้น พ่อมา สล่าแห่งบ้านร้อยจันทร์  ถ้าหมดยุคนี้ เส้นทางวัฒนธรรมบ้านร้อยจันทร์ คงเหลือแต่เพียงตำนาน เพราะไร้ผู้สืบทอด

“…ไม่มีแล้วแถวนี้ ร้านค้าก็ไม่มีขายแล้ว ก็คงจะหมด ไม่มีใครต่อแล้ว เด็กที่เกิดมาใหม่ๆ ต่อไปนี้ก็ไม่เห็นแล้ว ก็จะทำอยู่ไปเรื่อย ๆ เอาจนไม่มีแรง ก็เลิกไป…”
— พ่อมา นามธุวงค์ สล่าจักสาน –

สารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา : ผ้าเขียนเทียน ม้งดอยปุย

มรดกทางศิลปะ ที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ การนำต้นกัญชงมาทำเป็นเสื้อผ้า กระโปรง สร้างลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ ลวดลายที่มาจากจิตใจ และจินตนาการ กว่าจะได้ผ้าเขียนเทียนหนึ่งผืน ใช้เวลานับปี ผ่านกระบวนการทำแบบธรรมชาติ กว่า 20 ขั้นตอน ผ้าหนึ่งผืนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเชื่อ ความศรัทธาต่อภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ งานหัตถกรรมล้ำค่า ที่ต้องการให้ผู้คนได้รู้จัก และมาสัมผัสกับอีกหนึ่งวัฒนธรรม ที่ในวันนี้ยังต้องการการสนับสนุนจากทุกคน

“…ถึงเราจะอยู่จุดไหนของประเทศ หรือว่าจุดไหนของโลก เราไม่ควรลืมเชื้อสาย ไม่ควรลืมลวดลายของเรา อนาคตไม่รู้ แต่ปัจจุบันสูญหายไม่ได้…”
— ธัญพร ถนอมวรกุล ช่างทอผ้า –

สารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา : ช่างทอผ้าฝ้ายเชิงดอย

หัตถกรรมล้านนาที่สืบทอดมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี “ผ้าฝ้ายเชิงดอย” ภูมิปัญญาโดดเด่น ที่ใช้หินโมคคัลลานเป็นวัตถุดิบในการย้อมผ้า ทุกกระบวนการบรรจงอย่างสร้างสรรค์ ด้วยภูมิปัญญาของผู้เฒ่า ผู้แก่ ผู้ค้นพบหินโมคคัลลาน และนำมาสร้างคุณค่าให้แก่หมู่บ้านสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง เอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของล้านนา ที่เคยเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยมามากมาย จนสามารถปรับตัว และเกิดการเรียนรู้อย่างยั่งยืน

“…เด็กสมัยนี้อาจมองว่าเป็นเรื่องที่ล้าสมัย แต่ทุกวันนี้ที่เราคิด เราทำ ก็ทำให้พวกเขานั่นแหละ วันหนึ่งเขากลับมาบ้าน จะได้รู้ว่าคุณค่าจริง ๆ ก็คือของในหมู่บ้านเมืองของเรานี่แหละ…”
—  ทัญกานร์ ยานะโส ช่างทอผ้า –

สารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา : ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม

“ผ้าซิ่นตีนจก” งานหัตถกรรมผ้าทอมือที่มีเอกลักษณ์ เป็นมรดกที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน สิ่งที่อยู่คู่กับชาวแม่แจ่มมาอย่างยาวนาน ผืนผ้าที่สะท้อนความศรัทธาของชาวบ้าน และแฝงไปด้วยความเชื่อผ่านลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ทั้ง 16 ลาย แม่แจ่มแหล่งการเรียนรู้ที่ยังคงการทอผ้าแบบโบราณ หมู่บ้านแห่งนี้ไม่มีเครื่องจักร ทุกอย่างทอด้วยมือ ใช้เวลาทอนานนับเดือน เพราะทุกลวดลายมีความละเอียดมาก จึงทำให้ผ้าซิ่นตีนจกทุกผืนมีคุณค่า และหาชมไม่ได้จากที่ไหน

“…ลูกหลานทำเป็นทุกคน สืบต่อแน่นอน แต่ว่าอาจจะน้อยลง ใครทอผ้าซิ่นตีนจกเป็นนี่ไม่อดตาย…”
—  สมหมาย กรรณิกา ช่างทอผ้า –

สารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา : แสงสะท้อนโคมผัดล้านนา

ชุมชนท่าศาลา ต้นกำเนิดของการทำโคม แหล่งที่ยังรักษา และสืบสานการทำโคมล้านนาให้อยู่คู่เชียงใหม่มาอย่างยาวนาน โคมมีคุณค่า และความหมายในตัวเอง เรามักจะเห็นตามเทศกาล และบริเวณรอบตัวเมืองเชียงใหม่แห่งนี้ เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิต จารีต ประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อของคนล้านนาตั้งแต่ในอดีตสู่ปัจจุบัน อัตลักษณ์ของความเป็นล้านนา ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาเข้าสู่ OTOP และมุ่งหน้าสู่ความเป็นสากล ถ้าเราเห็นคุณค่าของสิ่งนี้ มันก็จะอยู่กับเรา ไม่สูญหายไป

“…โซเชียลมันก้าวไปไกลแล้ว อย่าไปกระโดดตาม ต้องหันมามองข้างหลัง หันมามองที่มาที่ไปของรากเหง้าของเรา…ว่าเรามาจากไหน…”
—  จำนงค์ เสมพิพัฒน์ สล่าโคม –

สารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา : ตุงล้านนา

ตุง สิ่งที่ชาวล้านนาจะนำมาใช้ประกอบในพิธีกรรมต่าง ๆ และเป็นเครื่องประดับตามสถานที่ต่าง ๆ ปัจจุบันนี้ตุงก็ยังคงอยู่ในชีวิตประจำวันของคนล้านนาสมัยใหม่ แม้รูปแบบในการใช้อาจแตกต่างไปตามยุคสมัย และบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป แต่ตุงก็ยังคงความหมายเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ตุงถือเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อที่ฝังลึกอยู่ในวิถีชีวิตของชาวล้านนา

“…ต้องส่งต่อ ถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าไม่อยากให้มันหายจากแผ่นดินล้านนา ให้มันสืบไปข้างหน้าได้ไกล ๆ…”
—  พลเทพ บุญหมื่น สล่าตุง –

สารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา : ร่มบ่อสร้าง ชีวิต และสีสัน

ร่มบ่อสร้าง ที่มีการสืบทอดมาหลายชั่วอายุคนนานกว่า 200 ปี สืบทอด และสานต่อ จนกลายมาเป็นหนึ่งใน Soft power ของเชียงใหม่ จิตวิญญาณของช่างฝีมือที่ถ่ายทอดด้วยความตั้งใจใส่ลงไปในร่ม สร้างไม้ที่ตายไปแล้ว ให้เป็นไม้ที่มีชีวิต ร่มที่สามารถสื่อถึงวัฒนธรรมได้ดี เป็นภูมิปัญญาที่ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ จนได้ขึ้นเป็นมรดกทรัพย์สินทางปัญญาว่าด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ วันนี้ร่มบ่อสร้างพร้อมแล้วที่จะส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ มาช่วยกันพัฒนาร่มบ่อสร้างให้ทันสมัยยิ่งขึ้น

“…ไม่สามารถมีเครื่องจักรไหนมาแทนฝีมือคนได้ เชื่อว่าน้อง ๆ เจนใหม่อาจคิดได้ไกลกว่าที่เราคิด ขอฝากความหวังไว้กับน้อง ๆ ด้วย…”
— กัณณิกา บัวจีน ผู้ดูแลศูนย์อุตสา​หกรรมทำร่ม​  –

สารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา : การฟ้อนเล็บ

ความอ่อนช้อย ความงดงาม ความสามัคคี ที่แสดงออกมาผ่านการฟ้อนเล็บ เสน่ห์ของสตรีล้านนา ฟ้อนเล็บที่เป็นอันดับหนึ่งของเชียงใหม่ ศิลปะแขนงหนึ่งที่อยู่คู่เชียงใหม่มาอย่างยาวนาน และเหนียวแน่น ชมรมฟ้อนเล็บแหล่งรวมอาสาสมัครที่มีใจรักในการฟ้อน เชิญชวนทุกคนมาเป็นพลังสำคัญในการอนุรักษ์ และสืบสานความภาคภูมิใจนี้ไว้

“…เราคนเชียงใหม่ เราอนุรักษ์ มันเป็นประเพณีของเรา อันดับ 1 ของเชียงใหม่ ความภาคภูมิใจมันลดไม่ได้ อยากให้สืบทอดต่อไปรุ่นลูกรุ่นหลาน…”
— ศรีพรรณ์ เขียวทอง นายกชมรมฟ้อนเล็บ​  –

สารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา : การฟ้อนเจิง

ศิลปะโบราณที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับวิถีชีวิตของชาวล้านนา ในอดีตเจิงเป็นศิลปะการป้องกันตัว แต่แก่นแท้ของเจิง คือการฝึกเพื่อจัดระเบียบร่างกาย ฝึกสมาธิ และจิตใจ ฝึกชั้นเชิงในการใช้ชีวิต ให้อยู่รอดปลอดภัย แต่ในปัจจุบัน ยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลง ทักษะการฟ้อนเจิงถูกลดบทบาทลงไปมาก ทั้งที่ความเป็นจริง ทักษะนี้ยังคงมีความจำเป็นกับคนทุกยุคทุกสมัย สล่าเจิงยังมีความหวัง ที่จะพึ่งพาความคิด ความสร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่ ในการพัฒนาให้เจิงยังคงอยู่ร่วมสมัยต่อไป

“…คนรุ่นใหม่จะสามารถสื่อสารกับคนรุ่นเดียวกัน และคนรุ่นถัดไปได้ดีกว่าคนรุ่นเก่าเสมอ วิชาความรู้ ถ้าเราอมมันจะหาย ถ้าคายมันจะอยู่ต่อไป เพราะฉะนั้นฝากทุกคนด้วย…”
— ​ศรัณ สุวรรณโชติ สล่าเจิงล้านนา  –

สารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา : เครื่องดนตรีล้านนา

ดนตรีที่ดี เกิดจากเครื่องดนตรีที่ดี เครื่องดนตรีที่ดี เกิดจากนักทำเครื่องดนตรีที่มีความสามารถ เสียงดนตรีล้านนาที่บรรเลงอย่างมีเอกลักษณ์ เบื้องหลังของดนตรีที่ไพเราะนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ผู้เล่น แต่สล่าผู้ประดิษฐ์เครื่องดนตรีล้านนาก็มีความสำคัญ ผู้ออกแบบงานเสียง ผลิตเครื่องดนตรีล้านนาด้วยวิธีดั้งเดิม ใช้มือทุกกระบวนการทำ ไม่มีเทคโนโลยีไหนที่สามารถมาแทนที่วิธีการทำได้ ความยากนี้อาจเป็นเหตุผลทำให้คนรุ่นใหม่ถอยห่าง แต่ยิ่งยาก ยิ่งมีคุณค่า ยิ่งดั้งเดิม ยิ่งต้องรักษา

“…เราชอบด้วยใจ มาทำด้วยใจ ทำด้วยจิตวิญญาณที่อยากจะเป็น อยากจะสืบทอด ก็ยังหวังในใจลึก ๆ ว่าจะมีคนสืบให้…”
 — ​กำจร เทโวขัติ์ ​ สล่าเครื่องดนตรีล้านนา  –

สารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา : กลองล้านนา (สล่ากลอง)

ต้นทุนวัฒนธรรม “กลองล้านนา” ที่เคยถูกตีอย่างอึกทึกครึกโครม ใช้ในการปลุกขวัญกำลังใจให้กับนักรบ และเคยถูกวางเงียบในยามบ้านเมืองมีความผาสุก กลองล้านนาเกิดจากความศรัทธา มักจะถูกเชื่อมโยงเข้ากับความศรัทธาของผู้คน จึงเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ทุกวันนี้แม้กลองล้านนาจะมีบทบาทที่เปลี่ยนไปจากอดีต แต่คุณค่าของกลองล้านนานั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง

“…ตอนนี้ไม่ช่วยกันรักษามรดกทางวัฒนธรรม มันจะหมดไปกับคนเป็นรุ่นรุ่นไป เมื่อโลกรู้คุณค่าของเรา เสาะหาตัวตนของเรา แต่เรากลับวิ่งหนีตัวตน แล้วจะรู้ได้ไงว่าเรามีคุณค่า…”
— อานนท์ ไชยรัตน์ สล่ากลอง  –

สารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา : ดนตรีล้านนาดั้งเดิม                     

สะล้อ ซอ ซึง มนต์เสน่ห์ดนตรีแห่งล้านนา ดนตรีเก่าแก่ของภาคเหนือที่สืบทอดมาแต่โบราณ ดนตรีล้านนาดั้งเดิมถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของล้านนา เป็นสิ่งชูประเพณี งานพิธีต่าง ๆ และศาสนา สิ่งที่ช่วยจรรโลงใจชาวล้านนาในอดีตจนถึงปัจจุบัน ร่วมสนับสนุนให้มรดกล้ำค่า “สุนทรียแห่งดนตรี” นี้ ได้มีเวทีในการแสดงมากขึ้น ให้เสียงดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์นี้ ดังก้องไกลไปมากกว่าที่เป็นอยู่ ร่วมสืบสานให้อยู่ในวิถีชีวิตของคนล้านนาตลอดไป

“…ต้องมีฝัน อย่างครูแอ๊ดฝัน ฝันว่าอยากจะเอาดนตรี ไปเล่นดาวอังคาร มันคือฝัน.. ฝันให้มันไกลๆ นะ…”
— ภานุทัต อภิชนาธง ครูดนตรีพื้นเมือง –

สารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา : ดนตรีล้านนาร่วมสมัย

ดนตรีล้านนาร่วมสมัย คือ ดนตรีล้านนาที่ยังมีชีวิตอยู่ ดนตรีที่นำมาจัดวางใหม่ วางบนแพลตฟอร์มของดนตรีสากล การผสมผสานอดีตเข้ากับปัจจุบัน ร่วมสมัยในด้านวิทยาการ ทฤษฎี รวมถึงการพัฒนา มันคือการพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่ให้เป็นสากลมากขึ้น ปรับตัวไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้คนยังสนุกไปกับดนตรีล้านนา ซึ่งดนตรีล้านนาร่วมสมัย ยังต้องพึ่งการพัฒนาจากบุคลากร และการสนับสนุน สร้างพื้นที่ให้นักดนตรี และผู้ฟังหากันเจอ เพื่อเกิดการรับรู้ และส่งต่อ

“…ถ้าเรายังมองว่า เล่นแค่พื้นเมือง หรือ พื้นบ้าน เราก็จะเล่นกันแค่นี้ แต่เราจะไม่ได้ทิ้งอะไรไว้ให้คนรุ่นหลังเลย…ใหม่ก็เอา เก่าก็บ่ละ…”
— ภูริทัต อรุณกร ครูดนตรีร่วมสมัย –

ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนไป วิถีชีวิตแห่งล้านนาที่สืบทอดมาอย่างยาวนานหลายชั่วอายุคน จะทำอย่างไรให้ยังคงอยู่ สืบทอดต่อไป คนรุ่นเก่าไม่หลงลืม คนรุ่นใหม่ไม่ทอดทิ้ง ความสวยงามของวัฒนธรรมล้านนาที่ฝังลึกด้วยจิตวิญญาณ มาร่วมรับชมสารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา (Lanna Local Story) สัมผัสกับความมหัศจรรย์ของวัฒนธรรมล้านนา ต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ส่งต่อมาจากบรรพบุรุษ

ร่วมแสดงความคิดเห็น