ชาวบ้านนับร้อยรวมตัวขอจัดวันไหลเขื่อนแม่กวงฯ หวังดึงรายได้เข้าชุมชน

ชาวบ้านสองตำบลนับร้อยคนรวมตัวขอจัดวันไหลหน้าอุโมงค์เขื่อนแม่กวงฯ หวังดึงรายได้เข้าชุมชน เผยกระทบหนักลงทุนไปเยอะแต่ถูกยกเลิกงานกระทันหัน

วันที่ 20 เม.ย. 67 ชาวบ้านในตำบลหนองแหย่ง อำเภอสันทราย และตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ รวมตัวกันที่คลองส่งน้ำหน้าอุโมงค์เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อของสองอำเภอ ถือป้ายเรียกร้องขอจัดงานวันไหล ที่ก่อนหน้านี้มีกำหนดจัดขึ้นบริเวณนี้ในระหว่างวันที่ 21-27 เมษายน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน แต่กลับถูกยกเลิกการจัดงานอย่างกระทันหันไปเมื่อวานนี้ (19 เม.ย.67) ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่เตรียมตัวค้าขายได้รับผลกระทบและยังทำให้เสียโอกาสนำรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชน โดยในวันนี้กลุ่มชาวบ้านได้ร่วมลงชื่อกว่า 130 คน เตรียมยื่นให้กับผู้บริหารโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธาราเพื่อพิจารณาทบทวน 
  
นายอรุณรัตน์ ภิระเสาร์ ตัวแทนกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่มารวมตัวกันในครั้งนี้ เปิดเผยว่า บริเวณอุโมงค์ส่งน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราเป็นพื้นที่เล่นน้ำพักผ่อนในช่วงฤดูร้อน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวนับหมื่นคนหลั่งไหลมาเล่นน้ำกันอย่างเนืองแน่น สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ที่มาเปิดร้านค้าร้านอาหาร เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจท่องเที่ยวให้กับคนทั้งสองตำบล 

หลังผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์และพัฒนาสินค้าพื้นเมืองและส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่าย ต.หนองแหย่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้รับอนุญาตให้เป็นผู้จัดและบริหารจัดการพื้นที่ ได้ประกาศจัดงานวันไหลเชียงใหม่ เปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเล่นน้ำในระหว่างวันที่ 21 – 27 เม.ย. 67 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องด้านการท่องเที่ยว เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านร้านค้าต่างดีใจและพากันลงทุนเตรียมความพร้อมในเรื่องของวัตถุดิบต่าง ๆ เตรียมเปิดงานในวันพรุ่งนี้ (21 เม.ย. 67) 


 
แต่ล่าสุดเมื่อวานนี้ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์และพัฒนาสินค้าพื้นเมืองฯ ได้ประกาศยกเลิกกิจกรรมกระทันหัน เนื่องจากมีพ่อค้าแม่ค้ากลุ่มหนึ่งเข้าไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอดอยสะเก็ด ระบุว่า ผู้จัดงานเก็บค่าเช่าพื้นที่ล็อกละ 2,200 แพงกว่าทุกปีที่ผ่านมาที่ชุมชนบริหารจัดการกันเองและยังเรียกเก็บเงินเพิ่มสำหรับการขออนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  เป็นการเอาเปรียบชาวบ้านและยังเชื่อว่ามีความไม่โปร่งใสในการบริหารจัดการซึ่งการร้องเรียนดังกล่าวทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์และพัฒนาสินค้าพื้นเมืองฯ ได้ ประกาศยกเลิกกิจกรรม ระบุว่าเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบและสร้างความขัดแย้งให้กับชาวบ้านในพื้นที่ 
 
นายอรุณรัตน์ บอกว่า กลุ่มที่ไปร้องเรียนคัดค้านมีไม่กี่คน แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการให้มีจัดงานตามกำหนดเดิม เพื่อไม่ให้ขาดโอกาสจากการท่องเที่ยว ไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงที่เตรียมมาร่วมสนุก แต่ก่อนหน้านี้ได้มีทัวร์จีนติดต่อเข้ามาจะนำนักท่องเที่ยวนับร้อยมาเที่ยว การยกเลิกจัดงานทำให้เสียโอกาสในส่วนนี้ไปด้วย 

ส่วนประเด็นการเรียกเก็บเงินของผู้จัด ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่มารวมตัวกันในวันนี้ยอมรับได้ เพราะเงินที่เรียกเก็บถูกนำไปใช้ในการจัดการหลายอย่าง ทั้งจัดเก็บขยะ สนับสนุนรถกู้ชีพรถพยาบาล จ้างไลฟ์การ์ด เวทีเครื่องเสียงพร้อมดีเจสร้างความสนุก รวมทั้งทีมงานรักษาความปลอดภัย ทั้่งหมดนี้มีส่วนช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาวันละนับหมื่นคนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา

ทีมข่าวติดต่อขอทราบรายละเอียดเรื่องนี้กับนายอัธยา อรรณพเพ็ชร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา ทราบว่าติดภารกิจต่างประเทศ โดยมีรายงานก่อนหน้าที่มีหน่วยงานราชการหน่วยงานหนึ่งได้ทำหนังสือขอใช้พื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว

โดยขอใช้สองช่วงตามรอบเวรปล่อยน้ำ คือ 10-16 เมษายน และ 21-27 เมษายน แต่หลังมีการร้องเรียน ทางโครงการฯ ได้ยกเลิกคำร้องของผู้จัดที่ขอใช้พื้นที่ในช่วงรอบเวรปล่อยน้ำ 21-27 เม.ย. เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา โดยไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่เปิดร้านและจัดกิจกรรมทุกประเภทตลอดแนวสองฝั่งคลอง แต่พ่อค้าแม่ค้ายังสามารถค้าขายได้บนถนน ส่วนประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถมาเล่นน้ำได้ตามปกติ

ร่วมแสดงความคิดเห็น