องคมนตรีประชุมติดตามความก้าวหน้าการจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้งานโครงการหลวง

วันที่ 3 พฤษภาคม 2567  เวลา 09.00 น. พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เลขาธิการ และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ประชุมติดตามงานพัฒนาต่อยอดการเป็นสถาบันการเรียนรู้ของมูลนิธิโครงการหลวง ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ จังหวัดเชียงใหม่

จากการดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์ในความสำเร็จภายใต้โครงการหลวงโมเดล และองค์ความรู้ที่สั่งสมมากว่า 55 ปี โครงการหลวงจึงมุ่งพัฒนาต่อยอดให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ สถานีวิจัย สถานีเกษตรหลวงและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทั้ง 39 แห่ง เป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อถ่ายทอดและขยายองค์ความรู้ รูปแบบการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ไปสู่การรับรู้และเกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางทั้งระดับชาติและนานาชาติ โดยประกาศการเป็นสถาบันการเรียนรู้ในปี พศ. 2567 ซึ่งเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติองค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโครงการหลวง สนองในพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา และต่อยอด การดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวงให้เป็นไปตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมราชบพิตร และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานโครงการหลวงเพื่อพัฒนาพื้นที่สูง มาเป็นระยะเวลายาวนานถึง 55 ปี ทำให้ประชาชนชาวไทยและชาวโลกได้รับทราบในพระอัจฉริยภาพ และพระราชกรณียกิจขององค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโครงการหลวงทั้งสองพระองค์ พร้อมขยายผลสำเร็จของพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนตามแนวทางโครงการหลวงไปส่งเสริมและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่สูงของประเทศ และนานาชาติ ในการเป็นสถาบันแห่งการเรียนรู้ของมูลนิธิโครงการหลวงนี้ เป็นการพัฒนาและต่อยอดให้ศูนย์ชนกาธิเบศรดำริ และพื้นที่ดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง 39 แห่ง เป็นแหล่งของการศึกษาเรียนรู้ และฝึกปฏิบัติแนวทางปฏิบัติที่ดีตามแนวทางโครงการหลวง โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นิสิต นักศึกษา เกษตรกร องค์กรทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งประชาชนทั่วไป

โดยปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ และพื้นที่ดำเนินการใน 7 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา ตาก และลำปาง ได้รองรับกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการศึกษาดูงานของกลุ่มบุคคล และหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งยังมีการพัฒนาหลักสูตรที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น หลักสูตรสำหรับนิสิต นักศึกษาฝึกประสบการณ์ เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในหลักการพระราชทาน และหลักการทำงานของโครงการหลวง ก่อเกิดประโยชน์ต่อการศึกษาและเสริมทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอนาคต การพัฒนาหลักสูตรเรียนรู้ระยะสั้น ในรูปแบบอาร์พีเอฟแคมป์ ( RPF CAMP) ที่ดำเนินการนำร่องในหัวข้อเรื่อง “วิถีเกษตรอย่างยั่งยืน ดี อร่อย แบบโครงการหลวง” ซึ่งจัดแก่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยจุงชิง เป็นระยะเวลา 4 วัน ผลการประเมินการรับรู้ของนักศึกษาพบว่า มีความพึงพอใจในโปรแกรมการเรียนรู้ในระดับดีมาก และได้ให้ข้อเสนอแนะ เพื่อไว้ปรับปรุงแก้ไขโปรแกรมการเรียนรู้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ โครงการหลวงยังมีหลักสูตร International Workshop ซึ่งจัดเป็นหลักสูตรนำร่องภายในปี 2566-2567 ได้แก่ หลักสูตรแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรอย่างยั่งยืนบนพื้นที่สูง หลักสูตรการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟอะราบิกาบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน และหลักสูตรแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรอย่างยั่งยืนบนพื้นที่สูงในปัจจุบันเพื่ออนาคตที่ดี นอกจากนี้แล้วยังมีแผนพัฒนาหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัย โดยดำเนินการถอดองค์ความรู้และพัฒนาหลักสูตรร่วมกับคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  เป็นหลักสูตรในรูปแบบ Lifelong Education และจะพัฒนาต่อยอดสู่การจัดหลักสูตรสำหรับผู้บริหารขององค์กรต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจ เข้าถึงหลักการพระราชทานในการพัฒนา สามารถนำรูปแบบการพัฒนาแบบโครงการหลวงไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างกว้างขวาง

ร่วมแสดงความคิดเห็น