นักโบราณคดีจีนใกล้ไขปริศนาผังอำนาจปกครอง ‘แคว้นอี้โจว’ ยุคจีนโบราณ

คุนหมิง, 22 พ.ค. (ซินหัว) — การค้นพบทางโบราณคดีครั้งใหม่ในมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ช่วยให้นักโบราณคดีใกล้สามารถไขความกระจ่างเกี่ยวกับผังเขตอำนาจการปกครองของอี้โจวจวิ้น (Yizhou Jun) หรือแคว้นอี้โจวโบราณ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอวิ๋นหนานในปัจจุบัน

เจี่ยงจื้อหลง นักวิจัยจากสถาบันโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีอวิ๋นหนาน และผู้นำทีมขุดค้นแหล่งโบราณคดีเหอโป๋สั่ว ระบุว่าการขุดค้นพื้นที่ 1,000 ตารางเมตรที่แหล่งโบราณคดีฯ ในเขตจิ้นหนิง นครคุนหมิง เมืองเอกของอวิ๋นหนาน เมื่อปี 2023 นำไปสู่การค้นพบโครงสร้างสถาปัตยกรรม ซากถนนและหลุมบ่อ และโบราณวัตถุเกือบ 700 ชิ้น

ผู้เชี่ยวชาญได้ระบุขอบเขตการปกครองของอี้โจวจวิ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่น (202 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ปี 220) แล้วในเบื้องต้น โดยมีการค้นพบร่องรอยตราประทับมากกว่า 300 อัน ซีกไผ่จารึกถ้อยคำมากกว่า 300 ใบ ซากสถาปัตยกรรม และสิ่งปลูกสร้างที่เชื่อว่าเป็นรากฐานของกำแพงเมืองที่แหล่งโบราณคดีเหอโป๋สั่ว

นอกจากนี้ มีการค้นพบช่วงถนนความกว้างราว 12 เมตร ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของถนนที่ค้นพบในปี 2021 โดยนักโบราณคดีเชื่อว่าเส้นทางนี้คือถนนสายหลักของเมืองหลวงของอี้โจวจวิ้น

ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา มีการค้นพบสถานที่ทางประวัติศาสตร์หลายแห่งที่แหล่งโบราณคดีเหอโป๋สั่ว อาทิ หลุมเถ้า ซากบ้าน หลุมศพ บ่อน้ำ และซากถนน การค้นพบเหล่านี้บ่งชี้ว่ารัฐบาลกลางของราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (202 ปีก่อนคริสตศักราช-ปี 25) มีอำนาจบริหารดูแลในภูมิภาคอวิ๋นหนาน และถือเป็นหลักฐานทางกายภาพที่สำคัญเกี่ยวกับกระบวนการที่จีนกลายเป็นประเทศที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวและมีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์

เจี่ยงกล่าวทิ้งท้ายว่าเราได้รับเบาะแสสำคัญในการค้นหากำแพงเมือง การขุดค้นยังเผยให้เห็นซากถนนสายหลักและโครงสร้างขนาดใหญ่ ทำให้ใกล้ที่จะไขปริศนาเกี่ยวกับรูปแบบผังเขตอำนาจปกครองของอี้โจวจวิ้นแล้ว

(ภาพจากเจี่ยงจื้อหลง นักวิจัยจากสถาบันโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีอวิ๋นหนาน : ตราประทับที่ขุดพบจากแหล่งโบราณคดีเหอโป๋สั่วในเขตจิ้นหนิง นครคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนานทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 20 พ.ค. 2024)

ร่วมแสดงความคิดเห็น