(มีคลิป) กระทรวงยุติธรรม ผลักดันร่างกฏหมาย JSOC

กระทรวงยุติธรรม ผลักดันร่างกฏหมาย JSOC หวังลดปัญหาการกระทำผิดซ้ำในเรื่องเพศและความรุนแรง

วันที่ 21 มิ.ย. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการลงพื้นที่ในหลายจังหวัดของภาคเหนือของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อร่วมในกิจกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือนและยุติธรรมพบประชาชน โดยได้เดินทางมาเปิดงานที่ จ.เชียงราย เป็นแห่งสุดท้ายก่อนเดินทางกลับ

โดยในระหว่างการกล่าวเปิดงาน รมว.ยุติธรรม ได้กล่าวถึงความคืบหน้าของร่างกฏหมายที่ทางกระทรวงยุติธรรมกำลังเร่งผลักดันเพื่อบังคับใช้ นั่นก็คือ พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศและการใช้ความรุนแรง (JSOC : Justice Safety Observation ad hoc Center) หรือศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน เพื่อเฝ้าระวังผู้พ้นใน 7 ฐานความผิด อันได้แก่ 1.ฆ่าเด็กหรือข่มขืนเด็ก (child murder or child rape and homicide) 2.ฆ่าข่มขืน (Rape – murders crimes) 3.ฆาตกรต่อเนื่อง (Serial Murders) 4.ฆาตกรโรคจิต (Crimes committed by a Sociopath or a Psychopath) 5.สังหารหมู่ (Mass Murders) 6.ชิงทรัพย์/ปล้นทรัพย์โดยการฆ่า (Robbery-Homicide Crimes) และ 7.นักค้ายาเสพติดรายสาคัญ (Major drug dealers) ซึ่งมีลักษณะเป็นคดีสะเทือนขวัญ ถูกคำพิพากษาเด็ดขาดให้จำคุก แต่ต่อมาได้รับการปล่อยตัวเข้ามาในสังคมเมื่อได้รับโทษเสร็จสิ้นตามกฎหมายแล้ว เพื่อให้สังคมมีความมั่นใจและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากบุคคลพ้นโทษเหล่านี้ ที่อาจจะไปกระทำความผิดซ้ำในคดีสะเทือนขวัญที่เคยก่อไว้อีก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มีนโยบายกำหนดให้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน (JSOC) เพื่อเฝ้าระวังบุคคลเหล่านี้ไม่ให้ไปกระทำผิดซ้ำในชุมชน

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เผยว่า ตอนนี้กฏหมาย JSOC หรือกฏหมายเฝ้าระวังการกระทำผิดซ้ำในเรื่องเพศและความรุนแรง ผ่านขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 23 ก.พ. และเข้าสู่ขั้นตอนของวุฒิสภาเมื่อวันที่ 28 ก.พ. คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 30 วัน ก็จะเสร็จสิ้น เพราะวุฒิสภาพิจารณาเป็นรายมาตราเสร็จแล้ว ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรใช้เวลาพิจารณากฏหมายนี้ไปทั้งหมด 21 วัน เพราะสภาผู้แทนราษฎรมองเห็นถึงความสำคัญของกฏหมายที่กระทรวงยุติธรรมได้นำเสนอไป เหตุผลที่เราพยายามผลักดันกฏหมายฉบับนี้ เพราะอย่างน้อยเราก็จะสามารถตอบกับสังคมโลกได้ว่าประเทศเราไม่มีการประหารชีวิต เพราะเราจะใช้การเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น มีการใช้กำไล EM อาสาสมัครคุมประพฤติ และอาสาสมัครของแต่ละกระทรวงมาบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของเด็ก สตรี และลดปัญหาความรุนแรง เช่น การทำร้ายร่างกาย การฆ่า ข่มขืน ฯลฯ เชื่อมั่นว่าเป็นมาตรการที่ใช้ได้ผล

“กฏหมายนี้จะเป็นการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น เป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อไม่ให้ผู้ที่เข้าสู่กระบวนการกลับไปก่อเหตุซ้ำอีก ในบางประเทศก็จะเฝ้าระวังตลอดชีวิตก็มี แต่ของเราเป็นแค่ระยะเริ่มต้น ถ้าผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการกรรมาธิการวุฒิสภา ซึ่งกำลังพิจารณาข้อกฏหมายแต่ละมาตราอย่างละเอียด คาดว่าอีกไม่นานก็จะพิจารณาเสร็จสิ้น ก็จะสามารถบังคับใช้ได้” รมว.ยุติธรรม กล่าว

ในกฏหมายดังกล่าว มุ่งเน้นการเฝ้าระวังผู้พ้นโทษหรือใกล้พ้นโทษในคดีรุนแรง โดยมีมาตรการควบคุมผ่าน 2 กระบวนการหลัก ได้แก่ การนำกำไล EM มาใช้เป็นมาตรการทางเลือกแทนการจำคุก
การนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว
(Electronic Monitoring) หรือ “EM” มาใช้เป็นการส่งเสริมมาตรการทางเลือกแทนการจำคุกและยกระดับการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดตามมาตรฐานสากล ลดความแออัดในเรือนจำ ลดโอกาสในการกระทำผิดซ้ำ และเสริมสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้กับประชาชนและสังคม โดยผ่านศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว
(EMCC) และดำเนินการต่อกลุ่มเป้าหมายได้ในหลายลักษณะ เช่น จำกัดบริเวณให้อยู่ภายในเขตที่อยู่อาศัย
หรือสถานที่ กำหนดพื้นที่ห้ามเข้าห้ามออกเป็นการเฉพาะ จำกัดอัตราความเร็วในการขับขี่ยานพาหนะ
จำกัดเส้นทางในการเดินทาง

และอีกหนึ่งมาตรการควบคุมผู้พ้นโทษก็คือ อาสาสมัครคุมประพฤติ
เนื่องจากในการปฏิบัติงานคุมประพฤติได้ยึดถือ
หลักการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกรมคุมประพฤติ ดังนั้นกรมคุมประพฤติจึงเปิดโอกาสให้ประชาชนใน
ท้องถิ่น ได้เข้ามามีบทบาทช่วยเหลือพนักงานคุมประพฤติในงานคดี สอดส่อง ช่วยเหลือสงเคราะห์ แก้ไขฟื้นฟู รวมทั้งคอยติดตามและเฝ้าระวัง เพื่อคอยสอดส่องดูแลผู้ถูกคุมความประพฤติไม่ให้กระทำผิดซ้ำ
โดยผู้ที่จะเป็นอาสาสมัครคุมประพฤตินั้นจะต้องผ่านการคัดเลือกสรรหาและอบรมแต่งตั้งจากกรมคุมประพฤติเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ดังนั้นอาสาสมัครคุมประพฤติจึงถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญมาก
ในการช่วยเหลืองานคุมประพฤติ

ร่วมแสดงความคิดเห็น