เครือข่ายสิ่งแวดล้อมม้ง 12 หมู่บ้าน ถอดบทเรียน “ครึ่งทางไฟป่า ปี 67”

เครือข่ายสิ่งแวดล้อมม้ง 12 หมู่บ้าน ดอยสุเทพ-ปุย ถอดบทเรียน “ครึ่งทางไฟป่า ปี 67” สู่การขับเคลื่อน ดอยสุเทพ-ดอยปุย ไปสู่ความยั่งยืนร่วมกัน

ดอยสุเทพ-ดอยปุย แม้จะอยู่ในสถานภาพของป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย (อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย) ในอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติที่มีผู้คนเกี่ยวข้องในหลายมิติ เช่น การเป็นที่ตั้งของชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่า เป็นพื้นที่ที่ชุมชนพึ่งพิงใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ที่เกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาล ในการเป็นแหล่งอาหารเพื่อบริโภคในครัวเรือน และเป็นแหล่งรายได้เสริม จากเห็ด หน่อไม้ พืชผักจากธรรมชาติ ฯลฯ การเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยทางวิชาการ รวมถึงการเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่กิจกรรมนันทนาการต่างๆ ของผู้คน เนื่องจาก ดอยสุเทพ-ดอยปุย เป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติที่ใกล้ชิดและเชื่อมต่อกับพื้นที่เมือง นอกจากมิติการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ในรูปแบบที่หลากหลายแล้ว กลุ่มคนต่างๆ ยังสัมพันธ์ในเรื่องของการดูแลรักษา ฟื้นฟู และปกป้องผืนป่า ซึ่งเป็นตันทุนสำคัญในการขับเคลื่อนดอยสุเทพ-ดอยปุยให้ไปสู่ความยั่งยืนร่วมกัน

วันที่ 28 มีนาคม 2567 ณ ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครือข่ายสิ่งแวดล้อมม้งดอยสุเทพ-ปุย โดย นายเมธาพันธ์ ภุชกฤษดาภา ประธานเครือข่าย พร้อมด้วยผู้นำชุมชนบ้านม้งรอบดอยสุเทพ 12 หมู่บ้าน ร่วมกับ นายภูพิชิต ช่วยบำรุง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และนายภัทรกุล ธรรมสานุกุล หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าภูพิงค์ และสภาลมหายใจเชียงใหม่ ร่วมกันสรุปบทเรียนครึ่งทางไฟป่า ปี 67 โดยสรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

  • ทุกหมู่บ้านได้มีการทำแนวกันไฟ มีการเฝ้าระวังไฟ การลาดตระเวน และร่วมดับไฟป่า โดยกิจกรรมต่างๆ เริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่ปลายเดือน กุมภาพันธ์ 2567 และจะต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน นี้
  • หลายหมู่บ้าน ปีนี้ยังไม่เกิดไฟป่าขึ้นเลย ชาวบ้านใช้คำว่าเป็น “พื้นที่สีขาว” เช่น บ.ผานกกก บ.หนองหอยใหม่ และ บ.แม่สาใหม่ อ.แม่ริม
  • พื้นที่เกิดไฟป่าซ้ำซากในระยะที่ผ่านมา ได้แก่ ต.สะเมิงใต้ ต.สะเมิงเหนือ อ.สะเมิง และ ต.บ้านปง อ.หางดง ไฟป่าเสี่ยงลุกลาม เข้าในพื้นที่ บ.ดอยปุย บ.แม่สาใหม่ บ.แม่สาน้อย ต้องจัดทำแนวกันไฟซ้ำอีกรอบในพื้นที่เสี่ยง บริเวณดอยผาฆ้อง-ผากลอง ร่วมกันระหว่าง บ้านดอยปุย แม่สาใหม่ แม่สาน้อย สถานีควบคุมไฟป่าภูพิงค์ สภาลมหายใจเชียงใหม่ ฯลฯ
  • หมู่บ้านม้งนำร่อง 3 บ้าน ได้แก่ บ.ดอยปุย, บ.ขุนช่างเคี่ยน, บ.แม่สาน้อย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และ กพร. เพื่อออกแบบกติกาชุมชนที่สอดคล้องกับกฎหมายลำดับรอง ภายใต้มาตรา 64 และมาตรา 65 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ฉบับปัจจุบัน
  • การทำงานเป็น “ทีม” ร่วมกันระหว่างชุมชนกับหน่วยงานป่าไม้ (อุทยานแห่งชาติและสถานีควบคุมไฟป่า) โดยใช้หลักรัฐศาสตร์ควบคู่กับนิติศาสตร์
  • ประเด็นเรื่องการประกันภัย ประกันอุบัติเหตุ ประกันชีวิต ให้แก่ชุดดูแลไฟป่าของหมู่บ้าน ยังมองไม่เห็นความเป็นจริงอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในปี 2568 ต้องถือเป็นโจทย์สำคัญร่วมของทุกฝ่าย
  • แนวทางเพื่อให้ชุมชนช่วยกันดูแลรักษาป่าในระยะยาว โดยการพัฒนาโครงการอนุรักษ์นกยูง ไก่ป่า การเพาะขยายพันธุ์สัตว์ เพื่อเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน ในรูปแบบโครงการร่วมระหว่าง อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเชิงดอยสุเทพ และหมู่บ้าน นำร่อง บ.ผานกกก ต.โป่งแยง อ.แม่ริม
  • การพัฒนาข้อเสนอให้เป็นโครงการเพื่อเสนอ อปท. ในพื้นที่ของตนเอง เพื่อดำเนินการตามภารกิจป้องกันและควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตามประกาศคณะกรรมการกระจายอำนาจ นำร่องของ จ.เชียงใหม่ ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย

ทั้งนี้ จะมีการสรุปบทเรียนครึ่งทางของกลุ่มป่าที่ 4 ของ จ.เชียงใหม่ (สุเทพปุย-ออบขาน) ในวันที่ 3 เมษายน 2567 เพื่อหามาตรการในการรับมือสถานการณ์ไฟป่าและฝุ่นควัน ในห้วงเดือนเมษายน 2567 ไปจนตลอดสิ้นสุดสถานการณ์ต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น