ป.ป.ช.เชียงราย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ชมรมเยาวชน STRONG

ป.ป.ช.เชียงราย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ชมรมเยาวชน STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต จังหวัดเชียงราย

วันที่ 21 เมษายน 2567 ณ ห้องประชุม อาคารพลเอก สำเภา ชูศรี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงราย (นายกิตติศักดิ์ พิมสาร) มอบหมายให้ กลุ่มงานป้องกันการทุจริต นำโดยนายนั้ง แสงเพชรไพบูรณ์ เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ พร้อมเจ้าหน้าที่งานป้องกันฯ และ ชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดเชียงราย นำโดยนางวันดี ราชชมภู ประธานชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดเชียงราย และคณะกรรมการฯ ดำเนินกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการสมาชิกชมรมเยาวชน STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริต จังหวัดเชียงราย โดยมีนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงร่วม 100 กว่าคนเข้าร่วมกิจกรรม

ทั้งนี้ นายนั้ง แสงเพชรไพบูรณ์ เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ ได้กล่าวเปิดกิจกรรมและพูดถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรม คือ เพื่อรณรงค์ป้องกันการทุจริต และสร้างจิตสำนึก รวมถึงการมีส่วนร่วมในการปลูกฝังค่านิยมให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป เพื่อส่งเสริมสังคมไทยไร้การทุจริตอย่างยั่งยืน ซึ่ง ระบบการศึกษาจึงเป็นกลไกสำคัญ ในการบ่มเพาะจิตสำนึกของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ แนวทางการพัฒนาและแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นที่สำคัญและยั่งยืนที่สุด คือปลูกและปลุกจิตสำนึกการเป็นพลเมืองที่ดี มีวัฒนธรรมสุจริตในกลุ่มเด็กและเยาวชนทุกช่วงวัย มุ่งเน้นการปรับพฤติกรรมตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา เพื่อปฏิรูปพลเมืองไทยในอนาคตให้มีความเป็นพลเมืองเต็มขั้น ประชาชนต้องมีความตื่นรู้ ไม่ยอม ไม่ทน ไม่เฉย ต่อการทุจริตทุกรูปแบบ อีกทั้งหน่วยงานทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมกันสร้างสังคมที่ไร้การทุจริต ตระหนักรู้ร่วมกันถึงปัญหาการทุจริต เพื่อสร้างค่านิยมสุจริต และขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือ “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต”

ด้านนางวันดี ราชชมภู ประธานชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดเชียงราย ได้บรรยายพิเศษ “บทบาทของภาคประซาซนกับการป้องกันการทุจริต” และได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการปลูกฝังค่านิยมในกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อร่วมกันต่อต้านการทุจริต จึงมอบหมายให้นางสาวพรทิวา วงค์วิชัย นำทีมคณะกรรมการ ชมรม STRONG – จิตพอเพียงฯ จัดกิจกรรมกลุ่ม “การมีส่วนร่วม และบทบาทของเยาวชนต่อการป้องกันการทุจริต” โดยเน้นการสื่อสารที่สนุกสนาน พร้อมสอดแทรกเนื้อหาการสร้างความตระหนักรู้ ผลเสียความรุนแรงของการทุจริต รวมถึงสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์ การมีจิตสาธารณะ และให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการต่อต้านทุจริต การคอร์รัปชัน ให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมอีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น