กรมชลประทานเตรียมก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำ บรรเทาปัญหาภัยแล้งฯ

เชียงราย – กรมชลประทานเตรียมก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำ บรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซากในจังหวัดเชียงราย

วันที่ 30 เมษายน 2567 นายพิเชษฐ รัตนปราสาทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบและสถาปัตยกรรม กรมชลประทาน พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตาม “โครงการอ่างเก็บน้ำแม่คำ” จังหวัดเชียงราย โดยในพื้นที่ลุ่มน้ำคำ มีพื้นที่การเกษตรกว่า 75,000 ไร่ ที่มีทั้งปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมหลากซ้ำซากในพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่การเกษตรในอำเภอแม่จัน

โครงการอ่างเก็บน้ำแม่คำ ตั้งอยู่บ้านสามัคคีใหม่ ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ขณะนี้โครงการอยู่ในขั้นตอนของการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการ จะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2567 อ่างเก็บน้ำแม่คำมีระดับเก็บกักปกติ +490.00 ม.รทก. มีความจุประมาณ 51.73 ล้าน ลบ.ม. เป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว มีความสูงประมาณ 64 ม. และความยาวสันเขื่อน 352 ม.

เมื่อดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำแล้วเสร็จ จะช่วยให้การทำการเกษตรมีแหล่งน้ำถาวรเพิ่มขึ้น ทำการเพาะปลูกในฤดูฝนได้เต็มประสิทธิภาพประมาณ 67,000 ไร่ ลดปัญหาฝนทิ้งช่วง ส่วนฤดูแล้งจะสามารถทำการเกษตรเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 48,900 ไร่ สามารถส่งน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคได้ประมาณ 1.8 ล้าน ลบ.ม./ปี ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มริมน้ำแม่คำ ประมาณ 1,200 ไร่ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำของท้องถิ่น เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และ รักษาสมดุลนิเวศท้ายน้ำ โดยระบายน้ำในฤดูแล้งลงลำน้ำเดิม

ส่วน นายธนพล สงวนตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้าง ชลประทานขนาดกลางที่ 2 กล่าวว่า การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำ มีแผนจะก่อสร้างในปี 2570 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี ครึ่ง การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำ จะกระทบพื้นที่ทำกินของราษฎร จำนวน 175 ราย รวม 267 แปลง ประมาณ 1,207 ไร่ และกระทบที่อยู่อาศัยจำนวน 16 หลัง โดยพื้นที่ทำกินที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ จะได้การชดเชยที่ดินและทรัพย์สินทั้งกรณีที่ดินมีเอกสารสิทธิ์และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2532 ทั้งนี้ การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำ จะทำให้ระดับน้ำสูงสุดท่วมถนนในบางช่วงที่ใช้สัญจรจากบ้านสามัคคีใหม่ไปบ้านห้วยหม้อ และจากบ้านห้วยหม้อไปบ้านห้วยมุ จึงต้องมีการสร้างถนนทดแทนใหม่ในช่วงที่น้ำท่วม เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ถนนเพื่อการสัญจรดังเดิม โดยการก่อสร้างโครงการ จะใช้วัสดุก่อสร้างเขื่อนจากภายในอ่างให้มากที่สุด ขนส่งวัสดุจากภายนอกเข้ามาในพื้นที่ให้น้อยที่สุด เพื่อลดผลกระทบด้านเสียง ฝุ่น และการสัญจร ให้น้อยที่สุด รวมทั้งมีการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนใกล้เคียง ต้องปฎิบัติตามรายงานแผนปฎิบัติการป้องกันแก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP) ที่กรมชลประทานได้จัดทำรายงานดังกล่าวและผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว

ส่วน นายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย มักมีปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกหนัก เนื่องจากร่องความกดอากาศต่ำหรือพายุหมุนเขตร้อนพัดผ่าน มีฝนตกหนักในพื้นที่เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เกษตรและบ้านเรือนของราษฎรอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเขตอำเภอพาน, อำเภอแม่จัน, อำเภอแม่ลาว ส่วนในช่วงเดือนตุลาคม-พฤษภาคม จะเป็นช่วงที่ขาดฝนทำให้แม่น้ำและลำห้วยต่างๆ มีปริมาณน้ำลดลง บางแห่งไม่มีน้ำไหล ทำให้ราษฎรขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร พื้นที่ที่มักจะประสบปัญหาภัยแล้งบ่อยครั้ง คือ อำเภอแม่จัน, อำเภอเชียงแสน, อำเภอเชียงของ, อำเภอพญาเม็งราย, อำเภอเวียงป่าเป้า และอำเภอแม่สรวย

ปัจจุบันในพื้นที่ลุ่มน้ำจัน น้ำคำ ยังไม่มีโครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีเพียงฝายทดน้ำจำนวน 12 โครงการ อยู่ในลำน้ำแม่จันจำนวน 5 โครงการ ในลำน้ำแม่คำจำนวน 7 โครงการ และมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก รวมทั้งหมด 126 แห่ง มีความจุเก็บกักรวม 8.911 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น กรมชลประทานจึงมีแผนพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่ลุ่มน้ำจัน น้ำคำ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการอ่างเก็บน้ำแม่คำ มีความจุประมาณ 51.73 ล้าน ลบ.ม. 2) โครงการอ่างเก็บน้ำแม่แสลบ มีความจุประมาณ 20.41 ล้าน ลบ.ม. และ 3) โครงการอ่างเก็บน้ำโป่งขม มีความจุประมาณ 20.64 ล้าน ลบ.ม. รวมความจุทั้ง 3 โครงการ ประมาณ 92.78 ล้าน ลบ.ม.

หากมีการพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำแม่คำ แล้วเสร็จ จะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกได้สม่ำเสมอตลอดปี ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้เพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำคำ สามารถดูแลผลผลิตจากการปลูกพืชให้มีผลผลิตมากขึ้น ซึ่งแต่เดิมจะได้ผลผลิตไม่แน่นอนขึ้นกับน้ำฝนเป็นหลัก ดังนั้นเมื่อมีแหล่งน้ำต้นทุนจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้นและส่งผลให้เกิดความมั่นคงทางรายได้ภายในครัวเรือนเพิ่มขึ้นด้วย รวมทั้งชุมชนสามารถจัดทำเกษตรแปลงใหญ่เพื่อรวมกลุ่มการผลิตและการบริหารจัดการร่วมกัน หาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพดี ราคาถูก และการใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตลอดจนการจัดการด้านการตลาดและราคาที่เหมาะสม รวมทั้งช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่อำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

ด้าน ดร.สมชาย ประยงค์พันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า แม้จะไม่ปรากฏว่าตำเเหน่งที่สร้างเขื่อน จะมีรอยเลื่อนมีพลังพาดผ่าน เเต่ก็อยู่ใกล้กัน กรมชลประทานจึงออกเเบบเขื่อนโดยพิจารณาขนาดเเผ่นดินไหว 0.33g จากรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้เขื่อน โดยได้ออกเเบบตามมาตรฐานการออกเเบบเเผ่นดินไหว ทั้งของกรมชลประทานเอง เเละตามมาตรฐานระดับโลก

ร่วมแสดงความคิดเห็น