กรมอนามัย เผย รายงานผู้เสียชีวิตจากความร้อน กว่า 38 ราย แนะ ปชช.ดูแลสุขภาพ


           นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์อากาศร้อนในเดือนเมษายนเข้าสู่เดือนพฤษภาคมของประเทศไทย พบว่าบางวันมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส และจากการเฝ้าระวังค่าดัชนีความร้อน หรือ Heat Index ของประเทศไทย ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่รู้สึกร้อนมากกว่าอุณหภูมิอากาศจริง โดยคิดจากค่าอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ โดยแบ่งระดับความรุนแรงต่อสุขภาพเป็น 4 ระดับ คือ ระดับเฝ้าระวัง (สีเขียว) ระดับเตือนภัย (สีเหลือง) ระดับอันตราย (สีส้ม) และระดับอันตรายมาก (สีแดง) และตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ – ปัจจุบัน พบส่วนใหญ่อยู่ในระดับอันตรายมาก  (สีแดง) หรือมากกว่า 52 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ส่งจะผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทำให้เกิดเจ็บป่วยจากความร้อน โดยอาการที่พบได้บ่อยในช่วงอากาศร้อน ได้แก่ ผื่น ตะคริว ลมแดด เพลียแดด และฮีตสโตรกได้ โดยเฉพาะฮีตสโตรก ซึ่งเป็นอาการที่รุนแรงที่สุดของโรคที่เกิดจากความร้อนเนื่องจากอาจทำให้เสียชีวิตได้  โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ผู้ที่ติดสุรา ผู้ที่มีภาวะทางจิตเวช ผู้โรคที่มีภาวะอ้วนและผู้ที่มีโรคประจำตัว โดย ปี 2567 มีรายงานผู้เสียชีวิตจากความร้อนแล้วกว่า 38 ราย พบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือ ภาคกลางและภาคตะวันตก ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว และดื่มสุราเป็นประจำ

           นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า ประชาชนควรปฏิบัติตน เพื่อป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากอากาศร้อนในช่วงนี้ ดังนี้ 1) ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศ ค่าดัชนีความร้อน และพิจารณาเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ในช่วงที่อากาศร้อนจัด หรือดัชนีความร้อนอยู่ในระดับอันตราย 2) ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ  โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ และสังเกตสีปัสสาวะ หากมีสีเข้ม แสดงว่าร่างกายขาดน้ำ ให้ดื่มน้ำทันที 3) แม่ที่ให้นมลูกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน ควรดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอวันละ 2 ลิตร หรือ 8 – 10 แก้วขึ้นไป เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไป และช่วยป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ 4) งดดื่มแอลกอฮอล์ ของมึนเมา เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เช่น ชาเขียว น้ำอัดลม 5) สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี 6) ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาแก้คัดจมูก ยาขับปัสสาวะ ยารักษาโรคจิตและจิตเวช เป็นต้น อาจส่งผลต่อการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ผู้ที่รับประทานยาดังกล่าวจึงควรหมั่นสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการผิดปกติ ให้ปรึกษาแพทย์ 7) ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น เกษตรกร แรงงานก่อสร้าง หรือออกกำลังกาย ควรทำงานเป็นกลุ่ม เพื่อสังเกตอาการและช่วยเหลือได้ทันหากมีอาการ 8) ผู้สูงอายุ ควรดื่มน้ำบ่อย ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในช่วงที่อากาศร้อนจัด และสังเกตอาการผิดปกติเป็นพิเศษ หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีผิวหนังร้อนแดง ชีพจรเต้นเร็วและแรง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สับสน พูดจาไม่รู้เรื่อง เป็นลม หมดสติ ให้รีบปฐมพยาบาล โดยผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหลังคอ รักแร้ ขาหนีบ เพื่อให้อุณหภูมิร่างกายลดลงโดยเร็ว และนำรีบส่งโรงพยาบาล หรือโทร 1669

            “ทั้งนี้ หลังจากสถานการณ์ความร้อนในช่วงเดือนพฤษภาคม คาดการณ์ว่าค่าดัชนีความร้อนจะมีแนวโน้มลดลง แต่ในช่วงระหว่างวันที่ 4 – 6 พฤษภาคม 2567 นี้ คาดการณ์ว่าอาจจะมีบางพื้นที่มีค่าดัชนีความร้อนอยู่ในระดับอันตรายมากใน 12 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ภูเก็ต กระบี่ ตราด ชลบุรี ปัตตานี สุราษฎร์ธานี พังงา ระยอง จันทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร จึงขอให้ประชาชน สังเกตอาการและปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมอนามัย หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากความร้อนได้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น