ปลงผมลูกแก้ว (นาค) ปอยส่างลอง

สืบสานประเพณีปอยส่างลอง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นอันดีงาม


วันนี้ 30 มี.ค. 67 พระอธิการอัษดิน วิสุทฺธิจิตฺโต เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดโครงการบรรพชาสามเณรและอุปสมบทพระภิกษุ ปอยส่างลอง ตามโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมประเพณีปอยส่างลอง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยนายวรศักดิ์ พานทอง นายอำเภอแม่สะเรียง มอบหมายให้ นายจรูญ จิณะกัณฑ์ ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครองอำเภอแม่สะเรียง เป็นประธานในพิธีปลงผม โดยมีผู้เข้าบรรพชา-อุปสมบท เป็นเยาวชนและประชาชน รวมทั้งสิ้น 61 รูป ณ วัดศรีบุญเรือง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

โดยทางวัดศรีบุญเรือง ได้เปิดโอกาสให้เด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษาและอยู่ในพื้นที่สูงได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น โดยมีพระอธิการอัษดิน วิสุทธิจิตโต ผู้อำนวยการโรงเรียนและเจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง เป็นผู้สานต่อโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน (ปอยส่างลอง) ซึ่งเน้นกิจกรรมพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นคนดี มีปัญญาและมีความสุข ปลูกฝังเยาวชนเข้ารับการบรรพชาเป็นสามเณรและเข้ารับการอบรมปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พัฒนาคุณธรรม จริยธรรมขัดเกลาจิตใจของเด็ก โดยการศึกษาเรียนรู้และปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้อง และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม วิถีชีวิต ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นอันดีงาม

สำหรับงานประเพณีปอยส่างลองหรืองานบวชลูกแก้ว เป็นประเพณีบรรพชาพระหรือสามเณรตามความเชื่อของชาวไทใหญ่ โดยผู้เข้าร่วมประเพณีจะแต่งกายคล้ายพระราชาเลียนแบบพุทธประวัติ เมื่อครั้งเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช โดยจะมีการปฏิบัติกับผู้เข้าร่วมประเพณีปอยส่างลองคล้ายกับพระราชา ซึ่งจะไม่ให้เท้าแตะพื้น และจะต้องขี่คอพี่เลี้ยงพร้อมกับมีคนกางร่มให้ตลอด งานประเพณีปอยส่างลองนี้ ชาวไทใหญ่มีความเชื่อว่า การบวชส่างลองจะได้อานิสงฆ์มาก ดังนั้น ชาวไทใหญ่จึงนิยมให้บุตรหลาน บรรพชาในประเพณีปอยส่างลอง มีกำหนดดังนี้วันที่ 29 มีนาคมจะเป็น พิธีปลงผมนาค วันที่ 30 มีนาคม 2567 วันแห่ส่างลอง วันที่ 31 มีนาคม 2567 วันแห่ครัวหลู่ และ วันที่ 1 เมษายน 2567 วันข่ามส่าง (บรรพชา-อุปสมบท) ซึ่งชาวอำเภอแม่สะเรียงได้รักษาวัฒนธรรมประเพณีไว้และได้ดำเนินการสืบสานในทุกปี

ร่วมแสดงความคิดเห็น