“ปั๊มน้ำมันสามทหาร” หนึ่งเดียวในประเทศกับคุณค่าทางใจของชาวลำพูน

หากจะกล่าวถึงความสำคัญของปั๊มน้ำมันสามทหารลำพูน คงต้องกล่าวถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมน้ำมันในประเทศไทยก่อน ประเทศไทย เริ่มนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณปี พ.ศ.2431 หรือ 10 ปีหลังจากมีการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันในอเมริกา และก่อนมีการใช้ปิโตรเลียมเป็นเชื้อเพลิงอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยเริ่มจากการใช้น้ำมันก๊าดสำหรับตะเกียง และน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องจักรไอน้ำในโรงสีข้าว และโรงเลื่อย ในระยะแรกคนไม่ค่อยกล้าใช้น้ำมันก๊าด เพราะกลัวไฟไหม้เนื่องจากติดไฟง่าย แต่เมื่อพบว่าน้ำมันก๊าดใช้สะดวก มีควันและเขม่าน้อยกว่าน้ำมันมะพร้าว ความนิยมก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ต่อมาความนิยมน้ำมันก๊าดเริ่มลดลง พร้อมกับการเข้ามาแทนที่ของไฟฟ้า รถยนต์เครื่องยนต์เบนซินคันแรก ถูกนำเข้ามาในปี พ.ศ.2439 โดยพระยาสุรศักดิ์มนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร อีก 2 – 3 ปีต่อมา รถสองแถวคันแรกถูกดัดแปลงขึ้นมาจากรถม้า ใส่เครื่องยนต์ฟอร์ดตัวถังรถทำมาจากไม้สัก มีที่นั่งยาวทั้ง 2 ข้าง เมื่อมีถนน และผู้คนนิยมใช้รถยนต์มากขึ้นปริมาณการบริโภคน้ำมันนำเข้ามาจากต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีการก่อตั้งบริษัทน้ำมันขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงเทพฯ คือ บริษัทรอยัล – ดัทช์ ปิโตรเลียม ในปี พ.ศ.2435 และบริษัทสแตนดาร์ดออยส์ ในปี 2437 นับเป็นผู้ค้าน้ำมันรายแรกในประเทศไทย

เมื่อน้ำมันปิโตรเลียมกลายเป็นสิ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจ และความมั่นคงของชาติ รัฐบาลไทยก็ตระหนักถึงผลกระทบจากการที่ประเทศไทยไม่สามารถจัดหา ผลิต หรือกลั่นน้ำมันเองได้ ดังนั้นในปี พ.ศ.2476 กระทรวงกลาโหมจึงได้จัดตั้งแผนกเชื้อเพลิง เพื่อจัดหาน้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด และน้ำมันหล่อลื่น สร้างคลังน้ำมันที่ช่องนนทรี สร้างโรงงานทำปิ๊บเพื่อบรรจุน้ำมันก๊าด และจัดซื้อเรือบรรทุกน้ำมันจากประเทศญี่ปุ่นชื่อ “สมุย”

ต่อมาปี พ.ศ.2483 ก็สร้างโรงงานกลั่นน้ำมันที่ช่องนนทรี ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทน้ำมันข้ามชาติในประเทศไทยต้องปิดตัวลง ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมันที่สามารถกลั่นได้ 1,000 บาเรลต่อวันถูกระเบิดเสียหายเรือบรรทุกน้ำมัน “สมุย” ถูกตอร์ปิโดจมลง เมื่อสงครามสงบธุรกิจปิโตรเลียมของไทยก็ถูกปิดลงเช่นกัน ทรัพย์สินทั้งหมดรวมทั้งคลัง และโรงกลั่นถูกขายให้กับบริษัทน้ำมันข้ามชาติซึ่งไม่นานก็ย้ายกลับไปยังประเทศของตน การขาดแคลนน้ำมันปิโตรเลียมเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น รัฐบาลต้องขอร้องให้บริษัทน้ำมันข้ามชาติเข้ามาจำหน่ายน้ำมันเหมือนเดิม โดยสัญญาว่า รัฐบาลจะไม่ค้าน้ำมันอีก ยกเว้นการใช้ในกิจการทหารเท่านั้น

ในปี พ.ศ.2500 รัฐบาลไทยได้ยกเลิกสัญญาหลังสงครามที่ทำกับบริษัทน้ำมัน และเริ่มดำเนินการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมปิโตรเลียมอีกครั้ง มีการจัดตั้งองค์การเชื้อเพลิง ในสังกัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อตรา “สามทหาร” อย่างไรก็ตามในระยะเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น ปริมาณความต้องการน้ำมันได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี พ.ศ.2503 รัฐบาลได้เชิญภาคเอกชนมาทำการสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียม และกลั่นน้ำมันอย่างกว้างขวาง นับเป็นการเริ่มต้นของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมสมัยใหม่ในประเทศไทย ส่วนปั๊มน้ำมันสามทหารในจังหวัดลำพูนนั้น เปิดให้บริการในปีพุทธศักราช 2503 โดยตั้งอยู่เลขที่ 499 ถนนอินทยงยศ ก่อนจะถึงสี่แยกประตูลี้ ใช้ชื่อว่า บริษัทลำพูนจังหวัดพาณิชย์ จำกัด และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถานีบริการ “ประสิทธิ์บริการ” ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันองค์การเชื้อเพลิง กระทรวงกลาโหม

ปั๊มน้ำมันสามทหารนั้น บริหารโดยนายสาย ชูสกุล ในตำแหน่งผู้จัดการปั๊มน้ำมัน ซึ่งก่อนนั้น นายสาย ชูสกุลเป็นผู้จัดการบริษัทลำพูนจังหวัดพาณิชย์ จำกัด ซึ่งเป็นของรัฐบาล เช่นเดียวกับปั๊มน้ำมันสามทหาร ในวันเปิดทำการปั๊มน้ำมันสามทหารนั้น มีบุคคลสำคัญมาร่วมเปิดทำการมากมาย เช่น พลโทอัมพร มีสุข นายมานิต บูรณะพรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เจ้าหนานบุญมี ตุงคณาคร สมาชิกสภาผู้แทนคนแรกของลำพูน เจ้าพงษ์ธาดา ณ ลำพูน ทายาทเจ้าครองนครลำพูนองค์สุดท้าย และนางสาวสุชีรา ศรีสมบูรณ์ นางสาวไทย ปีพุทธศักราช 2498 ได้มาร่วมงานนี้

การให้บริการเติมน้ำมันจากปั๊มสามทหารในจังหวัดลำพูนนั้น รถที่มาใช้บริการยังมีไม่มากนัก โดยส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์ของหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในจังหวัดลำพูน และมีรถยนต์มาใช้บริการเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา โดยเฉพาะรถโดยสารที่ให้บริการจากตัวเมืองไปยังอำเภอลี้ บ้านโฮ่ง ป่าซาง บ้านทา รวมไปถึงรถที่จะไปเชียงใหม่ ปั๊มน้ำมันสามทหารจังหวัดลำพูนให้บริการจนถึงปีพุทธศักราช 2420 ได้เลิกกิจการลง และในปัจจุบันสถานีบริการปั๊มน้ำมันสามทหาร ยังคงสภาพอาคารที่โดดเด่นเหมือนในอดีตไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ปั๊มน้ำมันสามทหาร ในจังหวัดลำพูนนั้น เป็นปั๊มน้ำมันที่ยังคงเหลืออยู่ที่เดียวในประเทศไทย เพียงแต่ไม่ได้ให้บริการเติมน้ำมันเท่านั้น และจะเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างมาก หากคนลำพูนไม่อนุรักษ์ปั๊มน้ำมันแห่งนี้ไว้ให้ลูกหลานของเราได้ทราบประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองลำพูน

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น