สืบสานงานศิลป์ มนต์เสน่ห์แห่งดนตรีล้านนา ที่ไม่เคยสิ้นเสียง แม้กาลเวลาผันเปลี่ยน

ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ตอนที่ 20 เครื่องดนตรีล้านนา

“…ทำเองทั้งหมดเลย ชอบด้วยใจ มาทำด้วยใจ
ทำด้วยจิตวิญญาณที่อยากจะเป็น อยากจะสืบทอด เจตนารมณ์ คือ การสืบทอดศิลปะ… ”
— กำจร เทโวขัติ์ –

เสียงสะล้อ ซอ ซึง ดนตรีแห่งเอกลักษณ์ หวนคิดถึงดินแดนล้านนา

ดังคำกล่าวที่ว่า ดนตรีที่ดี เกิดจากเครื่องดนตรีที่ดี เครื่องดนตรีที่ดี เกิดจากนักทำเครื่องดนตรีที่มีความสามารถ เครื่องดนตรีล้านนาเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่สวยงามของทางภาคเหนือ เสียงดนตรีล้านนาที่บรรเลงอย่างมีเอกลักษณ์ ใช้บรรเลงประกอบการแสดงต่าง ๆ หรือ ตามงานเทศกาลของชาวล้านนา อาทิ งานขันโตก และ งานประเพณีสำคัญต่าง ๆ หรือแม้แต่เพื่อความนันทนาการ เบื้องหลังของดนตรีที่ไพเราะนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ผู้เล่น ที่มีการสร้างสรรค์เพลงออกมา แต่สล่าผู้ประดิษฐ์เครื่องดนตรีล้านนาก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการออกแบบงานเสียง ผลิตเครื่องดนตรีอันเป็นอัตลักษณ์ ซึ่งผลิตด้วยวิธีดั้งเดิม ใช้มือทุกกระบวนการทำ ไร้ซึ่งเทคโนโลยี ทำให้เครื่องดนตรีล้านนา เป็นอีกหนึ่งเครื่องดนตรีที่มีความโดดเด่น และ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีเสียงอันไพเราะ และ มีเสน่ห์ไม่แพ้เครื่องดนตรีสมัยใหม่

ในอดีตที่ผ่านมา ดนตรีล้านนามีบทบาทสำหรับการใช้ในสังคมแบบเกษตรกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อความบันเทิง ประกอบการขับร้อง ประกอบการฟ้อนรำ และ เพื่อประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เพียงเท่านั้น แต่เมื่อกาลเวลาผันเปลี่ยน ยุคสมัยมีการเปลี่ยนแปลง ดนตรีล้านนาที่อยู่มาอย่างยาวนานนับร้อยปี ได้มีการพยายามปรับตัวให้มีความร่วมสมัย พัฒนาวิธีการบรรเลงจากเครื่องดนตรีชิ้นเดียวไปสู่การรวมวงแบบต่าง ๆ และบรรเลงเครื่องดนตรีให้น่าสนใจยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการ และวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ ดนตรีพื้นเมืองล้านนายังมีการขยับขยาย เข้าไปอยู่ในสังคมสมัยใหม่ในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น ดนตรีล้านนาเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว ดนตรีล้านนาร่วมกับธุรกิจ บริการต่าง ๆ ความพยายามปรับเปลี่ยน ไม่ละทิ้งความดั้งเดิม ต้อนรับสิ่งใหม่ ๆ จึงทำให้มนต์เสน่ห์แห่งดนตรีล้านนาไม่เคยจางหายไปจากสังคมไทย

ภูมิปัญญาเครื่องดนตรีล้านนา สืบทอดงานศิลป์ ที่ไม่มีเทคโนโลยีไหนสามารถมาแทนได้

ดนตรีล้านนาเป็นเครื่องดนตรีที่ประกอบขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีพื้นบ้าน มีลักษณะเรียบง่าย ประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุในธรรมชาติ คนท้องถิ่น หรือนักท่องเที่ยวที่มีโอกาสได้มาเยือนยังภาคเหนือ จะต้องเคยได้ยินเสียงอันไพเราะจากเครื่องดนตรีล้านนา ไม่ว่าจะเป็นตามสถานที่สำคัญ หรืออย่างถนนคนเดินท่าแพ ที่จะมีเหล่านักดนตรี นำเครื่องดนตรีล้านนามาเล่นให้แก่ผู้ที่เดินบริเวณนั้นได้ยิน ได้ฟัง และเพลิดเพลินไปกับบทเพลงอันแสนไพเราะ เครื่องดนตรีล้านนานั้นมีหลากหลายประเภทด้วยกัน อาทิเช่น

ซึง 

เป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านล้านนา หากเทียบกับเครื่องดนตรีสมัยใหม่ก็จะมีลักษณะรูปร่างที่คล้ายกับกีตาร์ และ เบส มีวิธีเล่นโดยการดีด ซึงจะมีด้วยกัน 3 ขนาด คือ ซึงเล็ก ซึงกลาง และซึ่งใหญ่ มีการสร้างเสียงเพลงจากตัวโน้ตตามแบบโน้ตดนตรีสากล คือ โด ถึง ซอล ซึงนั้นถือเป็นเครื่องดนตรีหลักของวงดนตรีล้านนา และเปรียบเสมือนหัวใจของวงดนตรีที่ทำให้วงดนตรีมีชีวิต แต่ในยุคสมัยปัจจุบัน ซึงก็ถือเป็นเครื่องดนตรีที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเช่นเดียวกัน เดิมมีการใช้ไม้สักในการทำ แต่ต่อมาไม้สักมีราคาแพง และมีการห้ามตัด จึงหันมานิยมที่จะใช้ไม้แดง ในส่วนของรูปร่าง เมื่อก่อนซึงจะมีขนาดที่ไม่ใหญ่เท่าไหร่นัก แต่ตอนนี้มีการดัดแปลง ให้มีขนาดเท่ากับกีตาร์ มีการเสริมแต่งโดยการวาดลวดลาย ลงสี หรือแกะสลักบนซึงเพื่อให้สวยงาม ด้วยเหตุที่ว่า ปัจจุบันนี้ซึงมักถูกนำขายไปเป็นเครื่องประดับแทนที่จะนำไปเล่นดนตรี สายซึง ก็หันมานิยมใช้สายกีตาร์ ลูกบิดที่ใช้ตั้งสายซึงที่เคยทำจากไม้ ก็เปลี่ยนมาใช้ลูกบิดของกีตาร์ เพราะมีความสะดวกยิ่งกว่าในการตั้งสายซึง ที่สำหรับดีดซึง อดีตจะใช้เขาสัตว์ดีด แต่ปัจจุบันไม่ค่อยมีแล้ว หันมาใช้พลาสติกดีดแทน

สะล้อ

เครื่องสายที่บรรเลงด้วยการใช้คันชักสีลงบนสายที่ขึงผ่านหน้ากล่องเสียง กล่องเสียงของสะล้อจะทำด้วยกะลามะพร้าว นิยมใช้บรรเลงร่วมกับวงดนตรีพื้นเมืองสะล้อ-ซึง สายสะล้อในปัจจุบัน จากเดิมใช้สายห้ามล้อจักรยานในการทำเท่านั้น เริ่มหันมาใช้สายกีตาร์แทน สายคันชักจากที่นิยมใช้หางม้า แต่ปัจจุบันจะนิยมใช้สายไนลอนเกือบจะทั้งหมด

ซอ

หลายคนอาจเข้าใจว่า ซอ คือเครื่องดนตรี แต่สำหรับคนภาคเหนือ ซอ เป็นภาษาพื้นบ้านล้านนา หมายถึง การขับร้องเพลง การขับร้องทำนองของคำซอ ซอเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของวงสะล้อ

โดยวงดนตรีล้านนา จะมีลักษณะการประสมวงที่หลากหลาย ใช้เครื่องดนตรีบรรเลงได้ทั้งเดี่ยว และประสมวง ตัวอย่างการประสมวงของล้านนา อาทิเช่น วงสะล้อ ซอ ซึง วงปี่ชุม วงแห่กลองแอว วงกลองสะบัดชัย วงกลองปูเจ่ เป็นต้น ซึ่งในอดีตดนตรีล้านนาจะเล่นเพียงเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และใช้ประกอบงานต่าง ๆ งานฉลอง งานศพเท่านั้น จะรวมตัวกันจากคนที่อยู่บ้านใกล้เคียงกัน หรือมีจิตศรัทธาในสิ่งเดียวกัน จะรวมตัวกันเพื่อจะได้มีวงดนตรีไว้เล่นเมื่อมีงานภายในหมู่บ้านของตนเอง มาในยุคปัจจุบันจุดประสงค์ของการเล่นดนตรีได้แปรเปลี่ยน เริ่มหันไปเล่นเพื่อเป็นอาชีพตามการว่าจ้าง และเล่นเพื่อเป็นอนุรักษ์วัฒนธรรมประจำล้านนา

เสียงดนตรีอันมีเอกลักษณ์ที่ควบคู่ไปกับการขับร้อง และท่วงทำนองอ่อนโยน ที่ไม่ว่าจะฟังที่ไหน ก็จะให้ความรู้สึกหวนคิดถึงดินแดนล้านนา ดนตรีพื้นเมืองนั้น ถือเป็นเสียงบรรเลงที่มีบทบาทในวิถีชีวิตของชาวล้านนา ทั้งในด้านความบันเทิง และการประกอบพิธีกรรม

สล่า ผู้ที่ทำให้เสียงเครื่องดนตรีล้านนา ยังคงดังก้องกังวานไปทั่วดินแดนล้านนา

สล่ากำจร เทโวขัติ์ สล่าทำเครื่องดนตรีล้านนา ผู้อยู่เบื้องหลังเสียงดนตรีล้านนาอันไพเราะ เสียงที่ดังก้องไกลไปทั่วเมืองล้านนาแห่งนี้ สล่าเริ่มเรียนการทำเครื่องดนตรีล้านนาตั้งแต่อายุ 18 ปี ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน สามารถทำเครื่องดนตรีล้านนาได้ทุกชนิด เสียงเครื่องดนตรีของสล่ากำจรจะมีเอกลักษณ์ต่างจากที่อื่น แม้จะเล่นรวมกับเครื่องดนตรีชนิดเดียวกัน ก็สามารถแยกออกด้วยเสียงอันเป็นเอกลักษณ์

“…ถ้าแบบดั้งเดิมของจริงเลยมันก็ต้องใช้มือล้วน ๆ เรื่องการทำซึง หรือว่าเทคนิคต่าง ๆ ที่สะสมความรู้มา ทำให้เสียงมันออกมาแตกต่างจากของคนอื่น อาจจะต่างด้วยการใส่ การประกอบ เสียงที่ออกมาไม่มีทางเหมือนของใคร แค่ฟังก็รู้ เพราะว่าเสียงซึงมันต้องเป็นของเรา ซึงที่เราทำไปนั้น เล่นแล้วสบายมือ นุ่มนวล เวลากดแต่ละตัว มือเราจะไม่เจ็บ ส่วนเสียงก็จะเป็นเอกลักษณ์ของเรา เขาพอใจ นักดนตรีพอใจ ว่าเสียงซึงของเรามันดัง และมันมีเอกลักษณ์ของมัน มันเชื่อมกันนะ ระหว่างใจเราที่ใส่ลงไปกับมือเราที่ต้องทำ กำจร เทโวขัติ์ –

สล่ากำจร เป็นที่ไว้วางใจของนักดนตรีล้านนา ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาสั่งเครื่องดนตรี คือ นักดนตรีระดับมืออาชีพ และมีชื่อเสียงในล้านนา เพราะทุกเครื่องดนตรีของสล่ากำจร เป็นการทำด้วยมือทั้งหมด สล่ากำจรบอกกับเราว่า ถ้าเราทำด้วยตัวเองทุกขั้นตอน เราจะรู้ว่าปัญหามันอยู่ที่ตรงไหน และสามารถแก้ไขได้ตรงจุด

“…ถ้าเป็นยุคนี้ก็วงของครูแอ๊ด วงนาคทันต์ เป็นวงดนตรีพื้นเมืองวงแรกที่ดังในยุคนั้น ก็ทำให้โด่งดังขึ้นมา ทำให้คนเล่นซึง สะล้อ เยอะมากขึ้น ทำให้มีคนมาสั่งทำเครื่องดนตรีพื้นเมืองมากขึ้นด้วย ดีใจ และภูมิใจที่เราก็ทำให้เขาได้ไปใช้กันในงาน…”กำจร เทโวขัติ์ –

การทำเครื่องดนตรีล้านนาตามวิถีดั้งเดิมของสล่ากำจร จะเริ่มจากหาไม้แห้งที่เหมาะสมต่อการจะนำมาใช้งาน ขั้นต่อมา คือ ทำไม้ให้เป็นรูปร่าง แกะสลักตามรูปแบบที่ออกแบบไว้ ต่อด้วยการขัดเงา และตกแต่ง ขั้นตอนสุดท้าย จะประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ให้ออกมาเป็นเครื่องดนตรีที่มีคุณภาพ ความยากของการทำเครื่องดนตรีล้านนา คือ การปรับตั้งเครื่องดนตรีให้ได้เสียงที่ต้องการ ซึ่งขั้นตอนการทำต้องใช้มือทั้งหมด และต้องใช้ความละเอียดในการปรับเครื่องดนตรีในแต่ละจุด ให้ได้เสียงตามมาตรฐาน นอกจากนั้นการเลือกใช้ไม้ก็มีผลอย่างมากต่อเสียงที่ออกมา ขั้นตอนการทำเหล่านี้ ถึงจะดูไม่ค่อยมีความซับซ้อน แต่ถือเป็นกระบวนการที่มีความยาก ต้องใช้สมาธิ และจิตตั้งมั่น สล่ากำจรได้บอกว่า ความยากนี้เองที่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คนรุ่นใหม่ถอยห่างออกจากการทำเครื่องดนตรีล้านนา แต่ยิ่งยาก ยิ่งมีคุณค่า ยิ่งดั้งเดิม เรายิ่งต้องรักษา

“…ไม้บ้านเก่า ที่เอามาทำซึง ไม่ได้ใช้ไม้ใหม่ ไม้สักก็ไม้สักแก่ ๆ แห้ง ๆ ไม้เก่า ๆ ทำแต่ละตัวมันต้องใช้เวลา และคนที่จะมาช่วยมันไม่มี หายากคนที่มาดู มาฟังก็กลัวเครื่องมือยุคนี้ยังไม่เห็นเทคโนโลยีอะไรที่จะทำให้มันง่ายขึ้นมากกว่านี้บางขั้นตอนต้องใช้วิธีเดิม ใช้วิธีสมัยใหม่ หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยไม่ได้พยายามทำออกมาให้มันดีที่สุดแต่ละตัว คือใส่ใจลงไป ใส่ใจในเรื่องการทำ…” — กำจร เทโวขัติ์ –

การอนุรักษ์สืบสานการทำเครื่องดนตรีล้านนาอย่างยั่งยืน คือการส่งเสริมให้ดนตรีล้านนาเป็นที่นิยมมากขึ้น และส่งเสริมให้นักดนตรีล้านนาได้มีพื้นที่ และเวทีในการแสดงความสามารถมากขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงที่ถนนคนเดินจังหวัดเชียงใหม่ แต่ต้องกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ในจังหวัด และทั่วประเทศ หากดนตรีล้านนายังมีผู้ฟังมากขึ้น การทำเครื่องดนตรีล้านนาก็จะยิ่งเติบโต จนมีคนรุ่นใหม่มาเรียนรู้สืบทอดต่อไป

ความยากของกระบวนการทำเครื่องดนตรี ทำให้คนที่ผลิตเครื่องดนตรีล้านนามีอยู่เพียงไม่กี่คน แต่หากวงการดนตรีขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป ก็จะทำให้ดนตรีล้านนานั้นเดินต่อไปไม่ได้ ทุกวันนี้ดนตรีล้านนายังคงพัฒนาต่อยอด และเติบโตไปพร้อมกับสังคมปัจจุบัน เหมือนเครื่องดนตรีล้านนาที่มีการพัฒนาขึ้นตามความต้องการของนักดนตรี จิตวิญญาณของนักดนตรีล้านนา มากจากการรวมใจของคนทุกคน คือเสียงซึง เสียงสะล้อยังคงดังอยู่คู่เมืองล้านนาต่อไป

“…ยุคนี้ยังไม่เห็นเทคโนโลยีอะไรที่จะทำให้มันง่ายขึ้นมากกว่านี้ ก็ยังหวังในใจลึก ๆ
ว่าจะมีคนสืบให้ ก็อยากให้เด็กรุ่นหลัง มาสนใจ สืบสานในการทำเครื่องดนตรีที่มีคุณภาพ…”
— กำจร เทโวขัติ์ –

ร่วมแสดงความคิดเห็น