CEA ลงพื้นที่เชียงใหม่ หารือเศรษฐกิจสร้างสรรค์

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA หารือเครือข่ายผู้ประกอบการสร้างสรรค์ สถาบันการศึกษา และเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในเชียงใหม่ มุ่งเน้นการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรม ส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์ สู่การนำร่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 6 – 8 มิถุนายน 2565 ณ จังหวัดเชียงใหม่


6 มิถุนายน 2565 – นายชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมด้วย ผู้บริหาร สศส. ลงพื้นที่พบปะกับเครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์เชียงใหม่ เยี่ยมชม คาล์ม วิลเลจ (Kalm Village) พื้นที่สร้างสรรค์ของกลุ่มคนรักศิลปะ วัฒนธรรม และหัตถกรรม เข้าพบ สมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือ (NOHMEX) เพื่อหารือเรื่องการผลักดันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในจังหวัดเชียงใหม่ สู่การยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ เชื่อมต่อสินค้าหัตถกรรมกับตลาดโลก รวมถึงการร่วมมือในการพัฒนานักสร้างสรรค์ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และรักษามรดกทางวัฒนธรรมของเชียงใหม่ให้ยั่งยืนต่อไป

7 มิถุนายน 2565 – CEA เข้าพบเครือข่ายนักสร้างสรรค์ องค์กรขับเคลื่อนเมือง และสถาบันการศึกษา โดย นายชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้ประชุมร่วมกับ คุณสุวารี วงค์กองแก้ว หัวหน้างานส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเทศบาลนครเชียงใหม่ โดยนำเสนอแนวทางการพัฒนาย่านช้างม่อย ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้นแบบ ผ่านโครงการเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (Thailand Creative District Network: TCDN) และ เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) 

นอกจากนี้ ยังได้เข้าหารือถึงแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมดนตรีสู่ตลาดสากล กับกลุ่มนักสร้างสรรค์ด้านดนตรีที่เคยได้ร่วมงานในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) เป็นโอกาสในการส่งเสริมนักดนตรีรุ่นใหม่ ให้มีพื้นที่แสดงศักยภาพ

ก่อนจะพบกลุ่มนักสร้างสรรค์ด้านงานศิลปะภาพพิมพ์ เรื่องการพัฒนาเครื่องมือ หรือปรับปรุงนโยบายของภาครัฐ เพื่อส่งเสริมการค้าและการทำงานศิลปะ โดยส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์จากศิลปินท้องถิ่น และ เทคนิคการทำงานศิลปะบนกระดาษท้องถิ่นสู่ระดับสากล ในเทศกาลงานออกแบบ เชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) ร่วมหารือกับ คุณพงษ์ศิลา คำมาก จากเครือข่าย Slow food ประเทศไทย ในประเด็นความยั่งยืนทางอาหารและการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย ผ่านกิจกรรมยกระดับศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการชุมชน ด้านอาหาร และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ 


นอกจากนี้ CEA ยังได้เข้าประชุมกับศูนย์การศึกษาด้านการท่องเที่ยวเชิงศิลปะวิทยาการอาหารนานาชาติมหาวิทยาลัยแม่โจ้ (International Gastronomic Tourism Consortium) หรือ iGTC และ อ.อนุวัต เชื้อเย็น ผู้อำนวยการ ศูนย์การศึกษาด้านการท่องเที่ยวเชิงศิลปะวิทยาการอาหารนานาชาติมหาวิทยาลัยแม่โจ้, ดร.กีรติ ตระการศิริวานิ คณบดีคณะพัฒนาการท่องเที่ยวมหาวิทยาลัยแม่โจ้, คุณอริศรา สิงห์ปัน ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Science and Technology Park) หรือ STeP ที่เคยร่วมมือกันในโครงการกิจกรรมสนับสนุน และส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในพื้นที่ภูมิภาคเหนือ ให้มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาแนวคิดธุรกิจล้านนาสร้างสรรค์ ด้วยนวัตกรรมและอัตลักษณ์ล้านนา  การส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมอาหารภาคเหนือตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่ง “อาหาร” จะเป็นธีมงานหลักในงานเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) ในปี 2565 

8 มิถุนายน 2565 – CEA ได้เข้าหารือร่วมกับ คุณเพ็ญพรรณ วังวิวัฒน์ ผู้ประกอบการธุรกิจงานหัตถอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบศิลาดล เรื่องแนวทางการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจหัตถอุตสาหกรรม 


จากนั้นเข้าพบ คุณชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานชุมชนโหล่งฮิมคาว หนึ่งในผู้นำชุมชนย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์สันกำแพง และเครือข่ายผู้ประกอบการงานหัตถกรรม เพื่อพูดคุยเรื่องแนวทางการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ สันกำแพง พื้นที่มรดกทางวัฒนธรรมของเชียงใหม่ ซึ่งจะร่วมกันพัฒนาอย่างไรให้คุณค่าของเมืองสันกำแพงยังคงอยู่ต่อไป และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ยั่งยืน

ร่วมแสดงความคิดเห็น